เชลยสงครามคือใคร? ควรได้รับการปฏิบัติอย่างไรเมื่อสูญเสียอิสรภาพ เหมือนหรือต่างกับผู้ถูกจองจำในสถานะอื่น ตอบทุกคำถามในบทความเดียว

 

คำว่าเชลยสงครามหมายความว่าอะไร ใครบ้างสามารถตกเป็นเชลยสงครามได้

สถานะการเป็นเชลยสงคราม (Prisoners of War – PoW) มีปรากฏแค่ในการรบระหว่างประเทศเท่านั้น เชลยสงครามมักจะเป็นสมาชิกของกองทัพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เข้าสู้รบและได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวโดยฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ได้ระบุไปถึงบุคคลประเภทอื่นที่อาจได้รับการปฏิบัติในฐานะเชลยสงคราม ยกตัวอย่างเช่น ผู้สื่อข่าวสงคราม (war correspondent) ซึ่งได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากสถานะที่ได้รับการรับรองโดยกองทัพ ทำให้ถ้าถูกจับ จะได้รับสถานะเป็นเชลยสงคราม

พลเรือน และทหารรับจ้าง สามารถถูกจับเป็นเชลยสงครามได้ด้วยหรือไม่

พลเรือนไม่สามารถตกเป็นเชลยสงครามได้เพราะมีสถานะเป็นบุคคลที่ได้รับความปกป้องคุ้มครองจากการเป็นพลเรือนแล้ว และต้องไม่ตกเป็นเป้าของการโจมตี แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเข้ามีส่วนในการปะทะ ถ้าเข้าจับอาวุธต่อสู้ก็ถือเป็นพลรบ สามารถเป็นเป้าของการโจมตีได้

ทหารรับจ้างเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน เพราะคือบุคคลที่ร่วมรบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์ทางการเงิน สถานะและการใช้ทหารรับจ้างเป็นเรื่องที่ถกกันเยอะในระดับการเมืองระหว่างประเทศ แต่สถานะของทหารรับจ้างภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ต้องวิเคราะห์จากนัยยะทางการเมืองและนโยบายของรัฐที่ใช้ทหารและการปฏิบัติหน้าที่ของทหารเหล่านั้น

โดยปกติทหารรับจ้างไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะเชลยสงคราม แต่ก็ยังได้รับความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เช่น การได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและการไม่ถูกทรมานหรือย่ำยีความเป็นมนุษย์

เชลยสงครามแตกต่างจากนักโทษประเภทอื่นอย่างไร มีข้อกฎหมายไหนในอนุสัญญาเจนีวาที่ให้การคุ้มครองโดยเฉพาะหรือเปล่า

เชลยสงครามไม่สามารถถูกดำเนิดคดีเพราะแค่มีส่วนร่วมในการสู้รบ การถูกจับเป็นเชลยสงคราม ก็ไม่ใช่เพื่อการลงโทษหรือทำร้าย แต่เพื่อไม่ให้สามารถกลับไปมีส่วนร่วมในการสู้รบได้ และต้องถูกปล่อยตัวและส่งตัวคืนทันทีหลังจากการขัดกันทางอาวุธสิ้นสุด โดยที่ฝ่ายที่จับได้ อาจดำเนินคดีในกรณีที่เชลยสงครามดังกล่าวก่ออาชญากรรมสงคราม แต่ต้องไม่ดำเนินคดีในกรณีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ แต่ไม่ขัดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL)

เชลยสงคราม ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในทุกกรณี และต้องไม่ถูกกระทำรุนแรง ข่มขู่ ด่าทอ ทรมานหรือย่ำยีความเป็นมนุษย์ หรือถูกนำมาประจานต่อหน้ามวลชน IHL ยังได้ระบุถึงมาตรฐานขั้นพื้นฐานในสภาพความเป็นอยู่ของเชลยสงคราม เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องแต่งกาย สุขอนามัย และการให้ความช่วยเหลือทางแพทย์

ทำไมสถานะเชลยสงครามถึงไม่ปรากฏในการขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ

สถานะเชลยสงครามเป็นสถานะสำหรับบุคลากรของกองทัพของรัฐที่ทำการสู้รบกับกองทัพของอีกรัฐในการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ

ในการขัดกันทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ อาจไม่ได้เป็นการต่อสู้ที่ภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ของผู้ถูกจองจำในการขัดกันทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงมีพิธีสารเพิ่มเติมฉลับที่ 1 และ 2 เพื่อสร้างความกระจ่างและให้ความคุ้มครองที่เหมาะสม

ICRC มีพันธกิจอย่างไรในด้านที่เกี่ยวข้องกับเชลยสงคราม

ICRC เข้าเยี่ยมค่ายและศูนย์ควบคุมตัวเชลยสงครามและผู้ถูกจองจำเพื่อประเมินความจำเป็นทางมนุษยธรรมและให้ความช่วยเหลือ และเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธะภายใต้ IHL

นอกจากนี้ ICRC ก็ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเชลยสงครามและผู้ถูกจองจำและครอบครัว โดยส่งผ่านข้อความและข้อมูลระหว่างเชลยสงครามและผู้ถูกจองจำและครอบครัว

แล้วในกรณีของพลเรือนที่ถูกจำกัดเสรีภาพ IHL ให้การคุ้มครองพวกเขาด้วยหรือไม่

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 และพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 วางหลักไว้เกี่ยวกับพลเรือนผู้ถูกจองจำในการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ โดนหากมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ฝ่ายที่เข้ารบสามารถบังคับพลเรือนไม่ให้ออกจากเคหะสถานหรือให้เข้าควบคุมตัว การบังคับควบคุมให้อยู่ในสถานควบคุมหรือเคหะสถานถือเป็นการกระทำเพื่อมาตรการความปลอดภัย ไม่ใช่การลงโทษ และเมื่อไม่มีเหตุภยันตรายดังกล่าวแล้วต้องปล่อยหรือยุติการควบคุมตัวทันที

ทั้งนี้กฎที่เกี่ยวกับพลเรือนผู้ถูกจองจำมีความคล้ายคลึงกับกฎของเชลยสงครามในการขัดกันทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ มาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ก็วางหลักประกันของผู้ถูกจองจำด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับขัดกันทางอาวุธจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในทุกกรณี และต้องไม่ถูกกระทำรุนแรง ข่มขู่ ด่าทอ ทรมานหรือย่ำยีความเป็นมนุษย์ แต่ทั้งนี้ ผู้ถูกจองจำในกรณีนี้ ไม่ได้รับความคุ้มครองจากการดำเนินคดีอาญาภายใต้กฎหมายของประเทศ หากการกระทำถือเป็นความผิดภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น