นับตั้งแต่รายงานฉบับแรกว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับความท้าทายในการขัดกันทางอาวุธร่วมสมัย คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าความท้าทายสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศคือการที่ตัวกฎหมายเองไม่ได้รับการเคารพ ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้เป็นประจักษ์พยานถึงความทุกข์ทรมาน ความเสียหาย และความโหดร้ายอันเกินจะพรรณนา อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับพลเรือนอีกจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือ แม้ว่าสงครามทุกครั้งจะนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต การพลัดพรากของครอบครัว และการทำลายวิถีชีวิต แต่ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดบางอย่างสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากมีการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งคู่พิพาทในการขัดกันทางอาวุธมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องจัดการกับความท้าทายนี้
รัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐมีอำนาจในการเจรจาจัดทำข้อตกลงที่กำหนดข้อจำกัดในการทำสงครามและตกลงที่จะผูกพันทางกฎหมายโดยการให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติข้อตกลงนั้น[1] รัฐเป็นฝ่ายที่ดำเนินการผนวกกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและบรรทัดฐานอื่น ๆ ไว้ในกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศ รัฐยังต้องดำเนินการให้กองทัพมีความรู้และได้รับการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายและอยู่ภายใต้ระบบทางวินัยที่เข้มงวด รัฐมีอำนาจตรากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ รัฐยังสามารถใช้ความร่วมมือในระดับทวิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี เพื่อส่งเสริมให้รัฐอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนของตน เคารพพันธกรณีตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงพันธกรณีทางกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนอาวุธด้วย
รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยใช้กระบวนการภายในประเทศที่หลากหลาย หนึ่งในกระบวนการเหล่านั้นซึ่งมีกำหนดไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือ การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของอาวุธ เครื่องมือและวิธีการใหม่ในการทำสงคราม การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของอาวุธและเครื่องมือหรือวิธีการใหม่ในการทำสงครามที่รัฐพัฒนาขึ้นเองหรือจัดหามานั้นเป็นขั้นตอนที่รัฐจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่ากองทัพของตนสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้จัดทำ แนวปฏิบัติในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของอาวุธ เครื่องมือและวิธีการใหม่ในการทำสงคราม: มาตรการเพื่อการอนุวัติการข้อ 36 ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง ค.ศ. 1977 (แนวปฏิบัติ) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2006 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือรัฐในการจัดตั้งหรือปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบของตน ปัจจุบัน แนวปฏิบัตินี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความท้าทายในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของอาวุธ และเครื่องมือหรือวิธีการใหม่ในการทำสงครามที่มีการใช้เทคโนโลยีอุบัติใหม่ด้วย
ในทำนองเดียวกัน กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐก็ต้องมีความเข้าใจและเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และต้องนำกฎหมายนี้ไปปรับใช้กับกฎระเบียบและมาตรการทางวินัยของตนเองด้วย กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นกรอบกฎหมายที่ผูกพันทุกฝ่ายในการขัดกันทางอาวุธ ดังนั้น องค์กรด้านมนุษยธรรมที่มีการสื่อสารกับกองกำลังติดอาวุธและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ อาจใช้บรรทัดฐาน จริยธรรม และมาตรฐานจากประเพณีและแนวปฏิบัติเชิงวัฒนธรรม รวมถึงกรอบกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายอิสลาม ในประเด็นที่มีความสอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพื่ออธิบายและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธได้
อย่างไรก็ตาม การมีความรู้และการนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไปอนุวัติการในระบบกฎหมายภายในประเทศเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถรับประกันได้ว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะได้รับการเคารพอย่างเต็มที่ หากขาดเจตจำนงทางการเมืองและจิตสำนึกในการปฎิบัติตามกฎหมาย การสร้างเจตจำนงทางการเมืองนี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้คนนับล้านที่ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธ ท้ายที่สุด การเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ โดยอย่างน้อยก็ช่วยขจัดอุปสรรคบางประการที่ขัดขวางการสร้างสันติภาพ
การนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาใช้ในประเทศ[2] การดำเนินการของรัฐในการอนุวัติการและปราบปรามการละเมิดกฎหมาย
รัฐมีความรับผิดชอบหลักในการทำให้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้รับการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ผ่านการใช้มาตรการภายในประเทศที่เข้มงวด มีตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องนี้อยู่มากมายทั่วโลก และหลายแนวทางได้ถูกรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะไว้ใน แนวทางอนุวัติการกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในระดับชาติ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเมื่อ ค.ศ. 2021 อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว การปรับใช้และการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้นยังอาจไม่เพียงพอ โดยแม้ว่าจะมีการปรับใช้กฎหมายแล้วก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่เจตนารมณ์ในการให้ความคุ้มครองของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมักถูกละเลย
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศชื่นชมความพยายามที่รัฐต่าง ๆ ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ก็ยังคงเรียกร้องให้รัฐทั่วโลกเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นและให้คำมั่นสัญญาในระยะยาวว่าจะนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไปปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศของตน
การให้สัตยาบันในสนธิสัญญาหลักด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
การแสดงเจตจำนงที่แน่วแน่ต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาหลักด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ สนธิสัญญาเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความทุกข์ทรมานของมนุษย์ในการขัดกันทางอาวุธ โดยกำหนดกฎเกณฑ์ที่ใช้ได้จริงเพื่อให้ความคุ้มครองแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด การให้สัตยาบันหรือการภาคยานุวัติสนธิสัญญาด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อปฏิบัติตามในยามสงบ แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นว่ากฎเกณฑ์การคุ้มครองจะได้รับการเคารพในกรณีที่เกิดการขัดกันทางอาวุธ แม้ว่าอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ทั้งสี่ฉบับได้รับการให้สัตยาบันโดยทุกรัฐแล้ว แต่พิธีสารเพิ่มเติมของอนุสัญญาเจนีวาหรือสนธิสัญญาด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอื่น ๆ ยังไม่ได้รับการดำเนินการเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศจึงยังคงเรียกร้องให้ “รัฐทุกรัฐพิจารณาให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติสนธิสัญญาด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่งและฉบับที่สองซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้ความคุ้มครองในการขัดกันทางอาวุธแก่กลุ่มบุคคลเฉพาะ (เช่น เด็ก ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือ ผู้พิการ) และสนธิสัญญาที่กำหนดข้อจำกัดหรือข้อห้ามเฉพาะเกี่ยวกับอาวุธ การที่รัฐเข้าร่วมในสนธิสัญญาที่มีอยู่แล้วเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะแม้ว่ากฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะช่วยเติมเต็มช่องว่างที่สำคัญในการวางกฎเกณฑ์ในความขัดแย้ง ในกรณีที่รัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศซึ่งได้รับการให้สัตยาบันอย่างกว้างขวาง แต่การให้สัตยาบันโดยรัฐใหม่ในแต่ละครั้งจะช่วยเสริมสร้างความคุ้มครองในยามที่มีความขัดแย้งและมีส่วนช่วยให้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศบรรลุความเป็นสากลได้
การมีมาตรการอนุวัติการในระดับประเทศ
ในระหว่างการขัดกันทางอาวุธ การปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสามารถช่วยชีวิตและป้องกันการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจได้ วงจรแห่งความหายนะจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการล่วงหน้าเพื่อโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายเห็นว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้นสามารถปฏิบัติตามได้และเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามด้วยจิตสำนึกแห่งมนุษยธรรม หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตรากฎหมายเพื่ออนุวัติการสนธิสัญญาใหม่ทุกฉบับที่ให้สัตยาบัน รวมถึงสนธิสัญญาอื่นที่รัฐเข้าร่วมเป็นภาคีในอดีตแต่ยังไม่ได้อนุวัติการให้เสร็จสมบูรณ์ กระบวนการเหล่านี้มีความจำเป็นไม่เพียงแต่ในระบบรัฐธรรมนูญแบบทวินิยม (dualism) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในระบบแบบเอกนิยม (monist) ด้วย ซึ่งในกรณีหลัง หน่วยงานรัฐต้องบัญญัติกฎหมายเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยตรงในระดับประเทศ เช่น การระบุถึงบทบาท สิทธิ และพันธกรณีของหน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับบางบทบัญญัติเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ รัฐทั้งหลายอาจพิจารณาบัญญัติกฎหมายภายในประเทศโดยกำหนดหน้าที่เกินกว่าพันธกรณีตามสนธิสัญญาและกำหนดความคุ้มครองเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาเหล่านั้น ซึ่งในกรณีนี้ รัฐจะต้องตีความกฎเกณฑ์ทุกข้อภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยสุจริตและรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์ดั้งเดิมในการให้ความคุ้มครอง ทั้งนี้ กฎหมาย นโยบาย หรือแนวปฏิบัติภายในประเทศที่กำหนดขึ้นตามแนวทางการตีความกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ผ่อนปรนเกินไปนั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสถานการณ์ที่นำไปใช้เทียบเท่ากับการที่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการอนุวัติการเลย
การใช้มาตรการทางกฎหมายจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางปกครองและมาตรการทางปฏิบัติเพื่อให้มาตรการเหล่านั้นมีผล ซึ่งรวมถึงการทำให้เอกสารทางกฎหมายเข้าถึงได้โดยสาธารณะ การทำเครื่องหมายที่เหมาะสมบนวัตถุที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ เช่น คณะกรรมการกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศระดับชาติหรือหน่วยงานในลักษณะคล้ายคลึงกัน และการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรที่จำเป็นให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบการอนุวัติการ การตีความ การนำไปใช้ หรือการติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้ ทุกรัฐต้องกำหนดให้การนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไปปรับใช้เป็นวาระสำคัญอันดับแรกในทางการเมืองระดับประเทศ
การสอบสวนและปราบปรามการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
การลงโทษทางอาญาต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานว่ามีความจำเป็นในการทำให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการสอบสวนการกระทำผิดและการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันการกระทำความผิดได้ตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ยังช่วยให้เหยื่อได้รับความยุติธรรมหากเกิดการละเมิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงมีพันธะทางกฎหมายที่มีระบุไว้อย่างชัดเจนในการยุติการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ จึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายอาญาที่ครอบคลุมเพียงพอ กล่าวคือ อาชญากรรมสงครามทั้งหมดที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาและกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศจะต้องได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายภายในประเทศและผู้กระทำความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษ นอกจากนี้ บุคลากรในระบบกฎหมายและศาลต้องมีความสามารถในการตอบสนองต่อการละเมิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้หรือพัฒนาได้ เช่น ผ่านการฝึกอบรมด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เพียงพอ
ในหลายกรณี กระบวนการยุติธรรมมักจะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อดำเนินการในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น แต่ก็มีบางกรณีที่การดำเนินการดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมหรือไม่อาจกระทำได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดลอยนวลไปได้ รัฐควรแสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนหลักการของความยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น รัฐสามารถใช้สิทธิ์ในการอ้างเขตอำนาจศาลสากลเหนืออาชญากรรมสงคราม และเข้าร่วมเป็นภาคีในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ความจริงจังในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของรัฐในการยุติการลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
การลงทุนให้การศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ความมุ่งมั่นต่อการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีความก้าวหน้าในการเผยแพร่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผ่านโครงการฝึกอบรมทั้งทางทหารและพลเรือน แต่การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ความท้าทายที่สำคัญของการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน คือ ความไม่เชื่อมั่นและข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยตรง ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลายส่วนของโลกและยิ่งรุนแรงขึ้นจากภาพการเสียชีวิตและความเสียหายที่เผยแพร่ไปอย่างแพร่หลายในช่วงที่มีการขัดกันทางอาวุธ ความรู้สึกไม่พอใจนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่สอนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เช่น นักวิชาการ ความไม่สอดคล้องกันโดยสิ้นเชิง ของภาพอันน่าสยดสยองของความทุกข์ทรมานที่ได้เห็นกับความคิดที่ว่าพวกเขามีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตได้ ย่อมทำให้เกิดความไม่สบายใจและความหงุดหงิดในหมู่นักวิชาการจำนวนมาก แต่คุณูปการที่นักวิชาการเหล่านี้มีต่อกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่กฎหมายระหว่างประเทศได้รับการปฏิบัติตามนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้
การสร้างวัฒนธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเริ่มต้นจากการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคม โดยใช้วิธีการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ กล่าวคือ ควรมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยมีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะกับแต่ละระดับชั้นและมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ส่วนการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างไม่เป็นทางการนั้น อาจกระทำผ่านการสนับสนุนนักข่าวและสื่อมวลชนให้รายงานประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้อย่างถูกต้อง การติดต่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอระหว่างสื่อมวลชนกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่สาธารณชนได้ดียิ่งขึ้น โดยกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศสามารถเป็นตัวกลางประสานงานให้เกิดการติดต่อสื่อสารดังกล่าวได้
การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี
นับตั้งแต่การประชุมระหว่างประเทศของกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ครั้งที่ 33 เป็นต้นมา หลายครั้งที่รัฐต่าง ๆ ได้ใช้โอกาสนี้เพื่อรายงานความคืบหน้าในการนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไปปรับใข้ในประเทศของตนด้วยความสมัครใจ หลายรัฐได้เผยแพร่รายงานของตนเองในเรื่องดังกล่าว และมีรัฐจำนวนมากขึ้นที่ส่งข้อมูลเพื่อสมทบรายงานของเลขาธิการแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของพิธีสารเพิ่มเติม นอกจากนี้ หลายรัฐยังได้นำเสนอความสำเร็จของตนระหว่างการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่จัดขึ้นร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหวังว่าการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเคารพพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนี้จะช่วยสร้างวงจรแห่งคุณธรรมที่รัฐต่าง ๆ เกิดการเรียนรู้จากกันและกันและกระตุ้นให้รัฐต่าง ๆ พยายามปรับปรุงการดำเนินงานของตนให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างวัฒนธรรมในการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น ลำพังการมีมาตรการอนุวัติการและรายงานการใช้มาตรการไม่สามารถก่อให้เกิดการคุ้มครองขึ้นได้จริงในพื้นที่ได้ ความคุ้มครองจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อมาตรการเหล่านั้นได้รับการเคารพในทางปฏิบัติ มีการปราบปรามการละเมิดกฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรงในทุกกรณี และทุกฝ่ายในทุกระดับของสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธเลือกที่จะเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยเจตนาและยึดมั่นในเจตนารมณ์ของกฎหมายในการให้ความคุ้มครองในทุกสถานการณ์
เนื่องจากไม่มีกลไกบังคับใช้กฎหมายในระดับระหว่างประเทศ การเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจึงขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองของคู่พิพาทในการขัดกันทางอาวุธที่จะปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสำคัญ
[1] การเข้าร่วมเป็นภาคี (เป็นสมาชิก) ของสนธิสัญญาหรือข้อตกลงหนึ่ง ๆ
[2] การนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาใช้ในประเทศ ได้รับการเน้นย้ำผ่านข้อมติที่ได้รับการรับรองในการประชุมกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศครั้งที่ 33 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. 2019 ข้อมตินี้มีชื่อว่า Bringing IHL Home: A road map for better national implementation of international humanitarian law
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Building a culture of compliance with IHL ตีพิมพ์ในหนังสือ 2024 ICRC report on IHL and the challenges of contemporary armed conflicts ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็มได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย