ทุกวันนี้ พลเรือนทั่วโลกต่างพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และโครงสร้างพื้นฐานบนอวกาศ ในขณะเดียวกัน ภาคีคู่พิพาทในการขัดกันทางอาวุธก็ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในทางทหารด้วย หลายปีก่อนหน้านี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสงคราม รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตัดสินใจทางทหาร ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการพึ่งพาระบบอาวุธที่มีความอิสระในระดับต่าง ๆ และระบบที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์ในการตัดสินใจกำหนดเป้าหมายและวิธีการโจมตี อีกทั้งยังปรากฏแนวโน้มอันน่าเป็นห่วงในการขัดกันทางอาวุธปัจจุบัน ที่รัฐและฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐใช้ปฏิบัติการไซเบอร์เพื่อขัดขวางโครงสร้างพื้นฐานที่กำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัล บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการนำเครื่องมือสื่อสารแบบดิจิทัลมาใช้เพิ่มการเข้าถึง ความรวดเร็ว และขอบเขตของการปฏิบัติการข่าวสารที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงอันขัดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การที่บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับพลเรือนในปัจจุบันต้องอาศัยระบบบนอวกาศมากขึ้น ก็ทำให้มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์จากปฏิบัติการทางทหารในห้วงอวกาศ และขอบเขตตามกฎหมายที่บังคับใช้ด้วย
ในบทนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศจะนำเสนอความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อท้าทายบางประการในการปรับใช้กฎเกณฑ์และหลักการแห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสงคราม
ปฏิบัติการไซเบอร์ ปฏิบัติการข่าวสาร และภัยคุกคามทางดิจิทัลอื่น
สังคมมนุษย์ปัจจุบันได้ก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็ได้เข้าไปกำหนดและมีอิทธิพลเหนือการดำรงชีวิตของผู้คนในหลายด้าน พัฒนาการนี้ส่งผลต่อความต้องการของผู้คนในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ ตลอดจนความเสี่ยงและภัยที่พวกเขาอาจเผชิญในสถานการณ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับประชากรพลเรือนนั้นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลเรือนต้องใช้บริการการสื่อสารทางดิจิทัลเพื่อติดต่อสมาชิกครอบครัวและรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานที่สำหรับพักพิง หลบภัย หรือเข้ารับสิ่งของหรือบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพหรือความเป็นอยู่ที่ดี ในขณะเดียวกัน รัฐและฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐก็มีการใช้ปฏิบัติการไซเบอร์เพื่อขัดขวางบริการสาธารณะของภาครัฐหรือบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา หรือบริการทางการแพทย์ ส่วนคู่พิพาทในความขัดแย้งก็มีการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและบริการข้อความเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงต่อประชากรพลเรือนและบุคลากรทางทหารที่ออกจากการสู้รบแล้ว รวมถึงลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของฝ่ายศัตรู การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขัดกันทางอาวุธยังทำให้พลเรือน ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกชน กลุ่มแฮกเกอร์ และบริษัทเทคโนโลยี เข้ามาอยู่ใกล้ชิดการสู้รบมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้กลุ่มคนและบริษัทเหล่านี้ รวมถึงพลเรือนอื่น เสี่ยงตกเป็นเป้าของการโจมตี
ก. ขอบเขตตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสำหรับการปฏิบัติการไซเบอร์
รัฐทุกรัฐเห็นพ้องกันว่ากฎหมายระหว่างประเทศบังคับใช้ในกรณีของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐทั้งหลายยังได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าบริบททางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่กฎหมายระหว่างประเทศจะบังคับใช้คือ “ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธเท่านั้น” โดยเน้นย้ำว่าหลักการของกฎหมายมนุษยธรรม “มิได้เป็นการสร้างความชอบธรรมหรือส่งเสริมความขัดแย้งแต่อย่างใด” ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยืนยันฉันทามติในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ในประเด็นดังกล่าวด้วย
แม้ว่าหลักการและกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถเป็นข้อจำกัดสำหรับปฏิบัติการไซเบอร์ในการขัดกันทางอาวุธอยู่แล้ว แต่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศก็เกรงว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีและการปฏิบัติการไซเบอร์จะรุดหน้าไปเกินกว่าการอภิปรายและพัฒนาการของกรอบกฎหมายจะตามทัน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีการตีความกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศว่าให้ความคุ้มครองเฉพาะวัตถุพลเรือนจากความเสียหายทางกายภาพเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเห็นว่ายังไม่เพียงพอ
ปฏิบัติการไซเบอร์สามารถรบกวน ทำให้ใช้การไม่ได้ หรือสร้างความเสียหายทางกายภาพต่อบริการสาธารณูปโภคและโครงสร้างขั้นพื้นฐานของพลเรือน รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างสำหรับอุตสาหกรรม โครงข่ายการสื่อสาร ฐานข้อมูลพลเรือน และภาคส่วนพลเรือนอื่นในสังคม ปฏิบัติการดังกล่าวยังเสี่ยงทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิต และขัดขวางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการได้ ทั้งนี้ เนื่องจากปฏิบัติการไซเบอร์ส่วนมากในการขัดกันทางอาวุธปัจจุบันมุ่งขัดขวางการให้บริการต่าง ๆ ทำให้คอมพิวเตอร์และเครือข่ายหยุดทำงาน ทำลายหรือลบข้อมูลโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพ การตีความกฎหมายมนุษยธรรมในสภาวการณ์เช่นนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ รัฐหลายรัฐได้แสดงจุดยืนทางกฎหมายต่อสาธารณะว่าปฏิบัติการไซเบอร์ที่ทำให้วัตถุ รวมถึงระบบหรือโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่สามารถใช้การได้นั้น เข้าข่ายเป็นการ “โจมตี” ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในขณะที่รัฐอื่นเข้าใจความหมายของคำว่า “โจมตี” ในลักษณะที่แคบกว่าหรือไม่กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเลย ทั้งนี้ หากคำว่า “โจมตี” ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้รับการตีความให้ครอบคลุมเฉพาะปฏิบัติการไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายทางกายภาพหรือก่อให้เกิดผลแบบเดียวกันกับสงครามในรูปแบบปกติแล้ว ปฏิบัติการไซเบอร์เกือบทั้งหมดที่กระทำต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนย่อมไม่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมโดยกฎเกณฑ์ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายข้ออันเป็นที่มาของหลักการแยกแยะ ความได้สัดส่วน และความความระมัดระวังในการโจมตี และการคุ้มครองประชากรพลเรือนและวัตถุพลเรือน ในทำนองเดียวกันหากข้อมูลไม่ถูกจัดว่าเป็น “วัตถุ” ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแล้ว ปฏิบัติการไซเบอร์ส่วนใหญ่ซึ่งก่อความเสียหายหรือลบข้อมูลของพลเรือนก็จะไม่เป็นสิ่งที่ต้องห้าม ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง
ความจริงแล้ว ปฏิบัติการดังกล่าวยังต้องเป็นไปตามข้อจำกัดบางประการภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติการไซเบอร์ทางทหารต้องไม่กระทำต่อวัตถุที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น สถานที่ทางการแพทย์ และการปฏิบัติการไซเบอร์ทุกครั้งจะต้องใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชากรพลเรือนและวัตถุพลเรือน ซึ่งการกำหนดเป้าหมายของปฏิบัติการไซเบอร์ไปยังวัตถุพลเรือน รวมถึงข้อมูลพลเรือน หรือไม่คำนึงถึงผลกระทบข้างเคียงกับประชากรพลเรือนนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ข้อนี้
อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้บังคับในปัจจุบันถูกตีความโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายรูปแบบใหม่อันอาจเกิดจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการขัดกันทางอาวุธ ซึ่งถือเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพความคุ้มครองของกฎหมายในบริบทดังกล่าว ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนากฎเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมเพื่อเสริมกรอบกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันให้มีกฎเกณฑ์ที่รัดกุมเพียงพอสำหรับปฏิบัติการไซเบอร์และปฏิบัติการทางดิจิทัลอื่นในการขัดกันทางอาวุธด้วย
ข. ข้อจำกัดตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้กับปฏิบัติการข่าวสาร
การปฏิบัติการข่าวสารถูกนำมาใช้ในการขัดกันทางอาวุธมาอย่างยาวนาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้การรับส่งข่าวสารผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันส่งข้อความต่างๆ สามารถทำได้ทันทีโดยไม่คำนึงถึงระยะทาง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความร้ายแรง ความรวดเร็ว และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง สร้างความเกลียดชัง หรือก่อให้เกิดความเสียหาย แม้ว่าการพิสูจน์ให้เห็นถึงเหตุและผลในเชิงประจักษ์จะเป็นการยากในบริบทนี้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ปฏิบัติการข่าวสารนั้นมีส่วนหรือมีบทบาทโดยตรงในการยุยงให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชน สร้างความเสียหายทางจิตใจในระยะยาว เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และขัดขวางการปฏิบัติงานของหน่วยงานมนุษยธรรมได้
แม้เราจะพบว่าข้อมูลที่เป็นอันตรายมักถูกเผยแพร่ผ่านปฏิบัติการข่าวสารในการขัดกันทางอาวุธ แต่ความจริงแล้ว กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้นมีกฎเกณฑ์เฉพาะหลายประการที่จำกัดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโดยทั่วไปอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้นำฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารของคู่พิพาทในการขัดกันทางอาวุธจะต้องไม่ส่งเสริมการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการกระทำผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย
การใช้กล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์และการเผยแพร่ภาพผ่านสื่อออนไลน์ที่กระทำกันโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง ได้เพิ่มความกดดันแก่หน่วยงานที่คุมขังในการปฏิบัติตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ถูกคุมขังจากการปฏิบัติที่ทำให้อับอายหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการขัดกันทางอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุ้มครองเชลยศึกและพลเรือนที่ถูกกักกันให้พ้นจากความอยากรู้อยากเห็นของประชาชน ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูล รูปภาพ และวิดีโอ ของบุคคลที่ถูกลิดรอนเสรีภาพต่อสาธารณะโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์เหล่านี้
ในยามที่มีการขัดกันทางอาวุธ พื้นที่ข้อมูลข่าวสารอาจเต็มไปด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเท็จซึ่งสร้างขึ้นโดยอาศัยเครื่องมือที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีปลอมแปลงข้อมูลเชิงลึก (Deepfake) ซึ่งสามารถสร้างหรือดัดแปลงข้อมูล รูปภาพ เสียง และวิดีโอ ในลักษณะที่ยากจะแยกแยะได้ว่าเป็นเนื้อหาจริงจากต้นฉบับหรือไม่ โดยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีข้อจำกัดสำหรับการใช้ข้อมูลปลอมแปลงเชิงลึกนี้ในบางลักษณะ เช่น การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือ “การสังหาร ทำให้บาดเจ็บ หรือควบคุมตัวฝ่ายศัตรู ด้วยการใช้กลลวง (Perfidy)” และการใช้กลลวงนั้นหมายถึง “การกระทำที่ชักชวนให้ฝ่ายปฏิปักษ์เกิดความเชื่อมั่นว่าตนมีสิทธิ์ได้รับหรือมีพันธกรณีต้องให้ความคุ้มครองภายใต้กฎแห่งกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้ในการขัดกันทางอาวุธ โดยมีเจตนาจะหักหลังความเชื่อมั่นนั้น” ในแง่นี้ การใช้กลลวงโดยอาศัยเทคโนโลยีปลอมแปลงข้อมูลเชิงลึกจึงถือเป็นการละเมิดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การกระทำหรือการคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แพร่หลายไปในหมู่ประชาชนพลเรือนนั้นเป็นการกระทำที่ต้องห้ามภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งการกระทำนี้รวมไปถึงการใช้ข้อมูลปลอมแปลงเชิงลึกด้วย
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศยังย้ำเตือนว่า ในการปฏิบัติการทางทหาร รวมถึงปฏิบัติการข่าวสารซึ่งใช้เทคโนโลยีปลอมแปลงข้อมูลเชิงลึกนั้น คู่พิพาทในสงครามต้องใช้ความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชากรพลเรือน พลเรือนและวัตถุพลเรือน
ค. ความเสี่ยงและขอบเขตทางกฎหมายในกรณีที่พลเรือนถูกดึงเข้ามาอยู่ใกล้ชิดการสู้รบมากขึ้นผ่านการใช้เทคโลยีดิจิทัล
พลเรือนถูกใช้ให้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนฝ่ายทหารในการขัดกันทางอาวุธมาเป็นเวลายาวนานแล้ว แต่เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ได้เกิดขึ้นกับประเภทของปฏิบัติการและจำนวนของพลเรือนที่เข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการนั้น โดยมีแนวโน้มสามประการที่อาจทำให้พลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยง ประการแรก มีแฮกเกอร์ที่เป็นพลเรือนจำนวนมากที่ดำเนินปฏิบัติการไซเบอร์ในบริบทการขัดกันทางอาวุธและมักกำหนดเป้าหมายไปยังวัตถุพลเรือน ประการที่สอง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเปิดช่องให้คู่พิพาทจูงใจให้พลเรือนมาสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารได้ เช่น โดยการเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญทางการทหารผ่านสมาร์ทโฟนของพลเรือน อันส่งผลให้พลเรือนเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าโจมตี ประการที่สาม หากบริษัทเทคโนโลยีของพลเรือนได้รับการว่าจ้างให้ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์และบริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่นแก่กองทัพของคู่พิพาทในการขัดกันทางอาวุธ เช่น การเชื่อมต่อ การสื่อสาร การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) หรือ การสำรวจข้อมูลจากระยะไกล (Remote Sensing) ก็มีความเสี่ยงที่ทรัพย์สิน โครงสร้างพื้นฐานและลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโดยหลักการมีสถานะเป็นพลเรือน อาจสูญเสียความคุ้มครองตามกฎหมายจากการตกเป็นเป้าโจมตีได้
หากปัจเจกชนและกลุ่มบุคคล รวมถึงลูกจ้างของบริษัทเทคโนโลยี ดำเนินการปฏิบัติการไซเบอร์ในระหว่างการขัดกันทางอาวุธ ปัจเจกชนและกลุ่มบุคคลนั้นจะต้องดำเนินการตามข้อจำกัดของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับปฏิบัติการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของแฮกเกอร์ที่เป็นพลเรือนและปฏิบัติการในการขัดกันทางอาวุธ ข้อจำกัดดังกล่าวได้รับการสรุปไว้ในเอกสาร “กฎ 8 ข้อสำหรับแฮกเกอร์ที่เป็นพลเรือนในยามสงคราม” ซึ่งรวมไปถึงหน้าที่ 4 ประการที่รัฐต้องปฏิบัติเพื่อให้กฎเหล่านี้ได้รับการเคารพด้วย
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศตั้งอยู่บนหลักการสำคัญในการแยกแยะพลเรือนหรือวัตถุพลเรือน ออกจากบุคลากรทางทหารหรือวัตถุทางทหาร การที่พลเรือนเข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการไซเบอร์และปฏิบัติการข่าวสารมากขึ้นเรื่อย ๆ และการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของพลเรือนเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร มีความเสี่ยงที่จะบ่อนทำลายหลักการอันเป็นพื้นฐานและความคุ้มครองที่มีไว้สำหรับพลเรือนนี้
การเก็บบันทึกข้อมูลทางการทหารโดยใช้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์เชื่อมต่ออื่น ๆ แล้วส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นให้กับกองทัพ ในบางกรณีอาจเข้าข่ายเป็นการ “เข้าร่วมโดยตรงในการสู้รบ” และหมายความว่าพลเรือนจะสูญเสียความคุ้มครองจากการตกเป็นเป้าโจมตีในขณะดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่า พลเรือนใดก็ตามที่ใช้โทรศัพท์ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งทางทหารหรือการสู้รบจะสามารถตกเป็นเป้าโจมตีได้ตามกฎหมาย ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นฝ่ายโจมตีจะไม่มีทางทราบได้เลยว่า พลเรือนกำลังใช้โทรศัพท์ดังกล่าวในการกระทำการที่อาจถือได้ว่าเป็นการเข้าร่วมโดยตรงในการสู้รบ หรือว่าพลเรือนกำลังกระทำการอื่นเช่น ส่งข้อความเตือนมิตรสหายหรือติดต่อสมาชิกครอบครัว ทั้งนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ระบุไว้ว่า ในกรณีที่มีข้อสงสัย บุคคลนั้นจะต้องได้รับการพิจารณาว่าเป็นพลเรือนและได้รับการคุ้มครองเสมอ ทั้งนี้ การสนับสนุนให้พลเรือนเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทหาร ก็อาจทำให้ประชากรพลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยงได้
หากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของพลเรือน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการโดยบริษัทที่เป็นพลเรือน ถูกนำไปใช้ตอบสนองวัตถุประสงค์ทางทหาร โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวก็อาจตกเป็นเป้าหมายทางทหารภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและสูญเสียความคุ้มครองจากการตกเป็นเป้าโจมตีได้ ในกรณีดังกล่าว พลเรือนและวัตถุพลเรือนที่มีตำแหน่งทางกายภาพใกล้ชิดหรือมีการเชื่อมต่อทางดิจิทัลกับเป้าหมายดังกล่าว หรือพึ่งพาอาศัยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ก็อาจได้รับความเสียหายข้างเคียงจากการโจมตีได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองพลเรือนหรือวัตถุพลเรือนจากการโจมตีหรือความเสียหายข้างเคียง รัฐควรพยายามแบ่งแยกโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (หรือบางส่วนของโครงสร้างดังกล่าว) ที่ใช้สำหรับทางทหาร ออกจากส่วนที่ใช้สำหรับพลเรือนเท่าที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกในทางกายภาพหรือทางเทคนิคก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องเลือกระหว่างการจัดเก็บข้อมูลทางการทหารบนระบบคลาวด์สำหรับการพาณิชย์ที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกข้อมูล หรือระบบคลาวด์สำหรับการพาณิชย์ที่มีการแบ่งแยกข้อมูล หรือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับการทหารโดยเฉพาะ ผู้วางแผนและผู้ปฏิบัติการทางทหารก็ไม่ควรเลือกเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์สำหรับการพาณิชย์ที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกข้อมูล เป็นต้น
แม้ว่าคู่พิพาทจะเห็นว่าพลเรือนหรือวัตถุพลเรือนได้สูญเสียความคุ้มครองตามกฎหมายจากการตกเป็นเป้าโจมตี เนื่องจากมีส่วนร่วมในปฏิบัติการไซเบอร์หรือปฏิบัติการข่าวสาร แต่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศก็ยังขอเรียกร้องให้คู่พิพาทพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจำเป็นต้องตอบโต้ภัยคุกคามดังกล่าวโดยใช้กำลังทางทหารในรูปแบบปกติเพื่อบรรลุเป้าหมายทางทหารที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือสามารถใช้วิธีการอื่นซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า (เช่น วิธีการทางไซเบอร์หรือการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันได้
กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศซึ่งมีมาอย่างยาวนานจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ได้ก็ต่อเมี่อได้รับการปรับใช้เพื่อให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมแก่พลเรือน โครงสร้างพื้นฐานพลเรือน และข้อมูลพลเรือน ในสังคมที่ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ พัฒนาการของความเห็นทางกฎหมายและแนวปฏิบัติของรัฐจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นมีความเหมาะสมและเพียงพอที่จะรับมือกับข้อท้าทายที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขัดกันทางอาวุธหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สามารถตอบสนองกับภัยรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับวิวัฒนาการนี้ หากจำเป็นต้องมีการบัญญัติกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ ก็จะต้องเป็นไปเพื่อเสริมประสิทธิภาพและตั้งอยู่บนฐานของกรอบกฎหมายในปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วย
แปลและเรียบเรียงจากบทความ APPLYING IHL TO NEW TECHNOLOGIES OF WARFARE ตีพิมพ์ในหนังสือ 2024 ICRC report on IHL and the challenges of contemporary armed conflicts ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็มได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย