ตั้งแต่ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Red Cross and Red Crescent Movement) ได้ออกมาแสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากพลังทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ห้ามการใช้อาวุธเหล่านี้ โดยไอซีอาร์ซีได้เริ่มเรียกร้องให้มีการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงภายหลังเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมะ ในเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ไอซีอาร์ซีได้เห็นความพินาศจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ขณะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับสภากาชาดญี่ปุ่นในการให้ความช่วยเหลือพลเรือนจำนวนหลายหมื่นคนที่บาดเจ็บและล้มตาย ประสบการณ์ในครั้งนั้นเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อการทำงานของไอซีอาร์ซีและสมาชิกในกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ทั้งหมด
ตลอดหลายทศวรรษถัดมา กลุ่มองค์กรกาชาดฯ ยังคงผลักดันให้มีการห้ามใช้และกำจัดอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ มีข้อมูลเพิ่มขึ้นที่ยืนยันว่าการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในสถานการณ์ที่อาวุธนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากอาวุธนิวเคลียร์ถูกจุดชนวนในบริเวณที่ประชากรอยู่อาศัยหรือพื้นที่ใกล้เคียง การระเบิดจะทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมหาศาลและทำลายสถานพยาบาลในพื้นที่จนเกือบหมด เป็นผลให้ผู้บาดเจ็บจำนวนมากจะไม่ได้รับการรักษา นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ให้ความช่วยเหลือยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงร้ายแรงจากการได้รับสารกัมมันตภาพรังสีอีกด้วย
ความน่าสะพรึงกลัวจากอานุภาพทำลายล้างอันมหาศาล ทำให้อาวุธนิวเคลียร์ถูกพูดถึงทั้งในทางการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด นับตั้งแต่การถือกำเนิดของอาวุธนิวเคลียร์ไปจนถึงการใช้อาวุธดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1945 จนถึงปัจจุบันสถานการณ์โลกก็ทำให้ประเด็นนี้กลับมามีความสำคัญเร่งด่วนอีกครั้งและการนำกฎหมายมนุษยธรรมมาใช้แก้ไขปัญหาก็ยิ่งมีความสำคัญ
ในปัจจุบัน ความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ความตึงเครียดในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่ทวีความรุนแรง จนทำให้มีการใช้วาทกรรมเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นจนน่าตระหนก และมีการข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งโดยชัดแจ้งและโดยนัย ทฤษฎีการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์[1]กลับมาได้รับความสนใจ อาวุธนิวเคลียร์กลับมามีบทบาทมากขึ้นในหลักนิยมทางทหารและนโยบายความมั่นคง มีการปรับปรุงพัฒนาคลังอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคิดค้นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างว่าสามารถใช้งานได้มากขึ้นและใช้ในยุทธวิธีทางทหาร อีกทั้งยังมีข้อกังวลว่าอาจมีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับระบบสั่งการและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์
ในขณะเดียวกัน กรอบกฎหมายสำหรับการลดอาวุธนิวเคลียร์และการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์กลับถูกลดทอนความสำคัญ สนธิสัญญาและข้อตกลงหลายฉบับถูกยกเลิกหรือเพิกเฉย และอีกหลายฉบับอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นเสาหลักของความพยายามในการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก แต่การปฏิบัติตามข้อกำหนดการลดอาวุธกลับไม่มีความคืบหน้า โดยยังไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการลดอาวุธและมาตรการลดปัจจัยความเสี่ยงที่ได้ตกลงกันไว้ในการประชุมทบทวน อีกทั้งบรรดารัฐภาคีก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้
ในสถานการณ์ที่ท้าทายเช่นนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการธำรงและส่งเสริมวัฒนธรรมในการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์และเป็นรากฐานสำหรับการกำหนดมาตรการทางกฎหมายใหม่ ๆ เช่น สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (The Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons: TPNW) เป็นต้น เพื่อปูทางไปสู่การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์
- อาวุธนิวเคลียร์กับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
อาวุธนิวเคลียร์ปล่อยพลังงานความร้อนและพลังงานจลน์ในปริมาณมหาศาล และปลดปล่อยรังสีได้เป็นระยะเวลายาวนาน เป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาลซึ่งไม่อาจถูกจำกัดให้อยู่ภายในขอบเขตพื้นที่หรือห้วงเวลาหนึ่งได้ การใช้อาวุธดังกล่าวสร้างความทุกข์ทรมานเหลือคณานับต่อมนุษย์ โดยเฉพาะในบริเวณที่ประชากรอยู่อาศัยหรือพื้นที่ใกล้เคียง และยังไม่มีวิธีการใดที่เหมาะสมในการรับมือกับผลกระทบทางมนุษยธรรมที่จะเกิดขึ้น ความขัดแย้งทางอาวุธนิวเคลียร์จะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนและชุมชนทั่วโลก ทั้งด้านสุขภาพของมนุษย์ ไปจนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ การผลิตอาหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ความเสียหายจะเกิดขึ้นต่อคนรุ่นหลังอย่างไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้และความอยู่รอดของมนุษยชาติจะตกอยู่ในอันตราย
หลักการและกฎเกณฑ์ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศซึ่งบังคับใช้กับวิธีการทำสงครามทุกรูปแบบนั้น ต้องใช้บังคับกับอาวุธนิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งในสถานการณ์การป้องกันตนเองของรัฐก็ตาม ไอซีอาร์ซีและกลุ่มองค์กรกาชาดฯ มีความเคลือบแคลงใจอย่างยิ่งว่าอาวุธนิวเคลียร์จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างสอดคล้องกับหลักการและกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้อย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่กำหนดเป้าหมายอันเป็นภัยต่อประชากรพลเรือนหรือทรัพย์สินพลเรือน เช่น กำหนดเป้าหมายทั่วอาณาเขตเมือง หรือบริเวณอื่นใดที่มีการกระจุกตัวอยู่ของพลเรือนหรือทรัพย์สินพลเรือน หรือการไม่ได้กำหนดเป้าหมายของอาวุธนิวเคลียร์เฉพาะเป้าหมายทางการทหาร การกระทำเหล่านี้ละเมิดต่อหลักการแยกแยะ (Principle of Distinction) การใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อเป้าหมายทางการทหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ประชากรอยู่อาศัยหรือพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการละเมิดข้อห้ามการโจมตีในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติและไม่ได้สัดส่วน แม้ว่าจะกำหนดเป้าหมายโจมตีห่างไกลบริเวณที่มีผู้คนอยู่อาศัย แต่พลรบก็จะต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีของอาวุธนิวเคลียร์ มีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายรังสีไปยังพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัย ความเป็นไปได้เหล่านี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะสอดคล้องกับหลักการห้ามใช้อาวุธที่มีลักษณะทำให้บาดเจ็บร้ายแรงโดยไม่จำเป็นและกฎเกณฑ์ที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและประชากรพลเรือนได้อย่างไร
ในมุมมองของไอซีอาร์ซี การใช้และการข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นขัดต่อหลักการทางมนุษยธรรมและจิตสำนึกสาธารณะอย่างร้ายแรง
เมื่อพิจารณาถึงหายนะทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์และโอกาสที่การใช้อาวุธนิวเคลียร์จะนำไปสู่การยกระดับความขัดแย้งแล้ว รัฐทั้งหลายจึงมีความจำเป็นในทางมนุษยธรรมที่ต้องรับประกันว่าจะไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกในอนาคต อีกทั้งต้องดำเนินการห้ามปรามและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าแต่ละรัฐจะมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศก็ตาม
- สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์
เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 มีรัฐจำนวน 122 รัฐให้การรับรองสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2021 สนธิสัญญาดังกล่าวอ้างอิงหลักการและกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างชัดเจน โดยในอารัมภบทได้บัญญัติไว้ว่า “การใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าในทางใด ขัดต่อกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ โดยเฉพาะหลักการและกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ”
สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ไว้อย่างรัดกุม อันเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ยังมีส่วนส่งเสริมวัฒนธรรมการต่อต้านการแพร่ขยายและการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และเน้นย้ำความเชื่อมโยงพื้นฐานระหว่างความจำเป็นทางด้านมนุษยธรรมและความมั่นคง โดยกล่าวว่าความเสี่ยงด้านต่าง ๆ จากอาวุธนิวเคลียร์ “กระทบต่อความปลอดภัยของมวลมนุษยชาติ” อีกทั้งรัฐทุกรัฐมีพันธกรณีในการป้องกันมิให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และการลดอาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นไปเพื่อบรรลุ “ความมั่นคงแห่งรัฐและความมั่นคงร่วมกัน” สนธิสัญญานี้ส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีและคำมั่นสัญญาในการลดอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อ 6 ในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านกระบวนการที่กำหนดไว้เพื่อนำไปสู่การกำจัดคลังอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention) และอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention) มาช่วยเติมเต็มกรอบกฎหมายที่กำหนดห้ามการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง จึงสามารถกล่าวได้ว่าสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของความพยายามในการทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
ภายใต้บริบทข้อท้าทายดังที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้นของบทความ ไอซีอาร์ซีจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินการเพื่อขยายจำนวนรัฐภาคีของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ และสนับสนุนการปฏิบัติตามสนธิสัญญาดังกล่าว อีกทั้งส่งเสริมการปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และคำมั่นจากการประชุมทบทวนอย่างเต็มที่ และเรียกร้องให้รัฐทั้งหลายดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในทันทีเพื่อลดความเสี่ยงที่สามารถนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ ตัวอย่างของมาตรการดังกล่าว ได้แก่ การลดระดับสถานะความพร้อมรบ (high alert) ของอาวุธนิวเคลียร์ การมีนโยบายไม่เป็นฝ่ายเริ่มใช้ (no-first-use) การลดระดับความสำคัญของอาวุธนิวเคลียร์ในหลักนิยมทางทหารและนโยบายความมั่นคง งดเว้นการใช้วาทกรรมที่แสดงเจตนาแนวโน้มหรือคาดหมายการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต หรือวาทกรรมที่เมินเฉยหรือลดทอนผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนประณามการข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าปรากฏโดยชัดแจ้งหรือโดยนัย และไม่ว่าในสถานการณ์ใด
[1] การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Deterrence) มาจากทฤษฏีที่ว่า หากมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก จะช่วยป้องกันชาติจากการรุกรานของศัตรู เพราะทำให้ต่างฝ่ายต่างกลัวว่าจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าทำลายล้างซึ่งกันและกัน
References: แปลและเรียบเรียงจากบทความ THE PROHIBITION OF NUCLEAR WEAPONS PROTECTING HUMANITY FROM UNSPEAKABLE SUFFERING ตีพิมพ์ในหนังสือ 2024 ICRC report on IHL and the challenges of contemporary armed conflicts ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็มได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย