สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแบ่งขั้วความคิดทางการเมืองและมีการยกระดับความรุนแรงของการขัดกันทางอาวุธมากขึ้นทั่วโลก คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) เตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวผ่านการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ประจำปี 2024-2027 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานขององค์กรในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า
จุดมุ่งหมายของแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ คือ แก้ไขปัญหาอันเกิดจากภูมิทัศน์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเน้นย้ำเป้าหมายหลักขององค์กรในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธและความรุนแรง
ในห้วง 4 ปีข้างหน้า ไอซีอาร์ซีจะให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างงานด้านการคุ้มครองและการพูดคุยหารือกับทั้งฝ่ายรัฐและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law – IHL) ทุกประการ
นาง มีรยานา สปอลจาริก ประธานไอซีอาร์ซี กล่าวว่า “ไอซีอาร์ซีถือกำเนิดขึ้นในสนามรบเมื่อ 160 ปีก่อน ด้วยเพราะเราไม่อาจเพิกเฉยต่อความทุกข์ทรมานได้ ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะยึดมั่นหลักการด้านมนุษยธรรมยังคงเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรจนถึงปัจจุบัน ในฐานะองค์กรผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมที่อยู่ในพื้นที่แนวหน้าของการสู้รบ เราเห็นถึงบทบาทของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศว่ามีความสำคัญต่อการพิทักษ์รักษาชีวิตและจำกัดขอบเขตความโหดร้ายของการขัดกันทางอาวุธอย่างไร ด้วยแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ ไอซีอาร์ซีย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม เพื่อให้สิทธิและความคุ้มครองที่มีแก่พลเรือนและพลรบตามที่กำหนดไว้ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ยังคงได้รับการยึดมั่นปฏิบัติตามอยู่เสมอ รวมทั้งต้องจำกัดผลกระทบอันรุนแรงที่เกิดจากสงครามด้วย”
เป้าหมายหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ คือ การทำให้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีความสำคัญในทางการเมืองระดับโลก ด้วยการทำให้ทุกประเทศทั่วโลกยอมรับ นำไปปรับใช้ และตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายนี้อยู่เสมอ
นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ยังเน้นย้ำถึงความเป็นกลางของไอซีอาร์ซีอันเป็น “หลักการสำคัญที่นำไปสู่การปฏิบัติ” กล่าวคือ การไม่ฝักฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการขัดกันทางอาวุธนั้น ทำให้องค์กรสามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ที่เข้าถึงได้ยาก อีกทั้งยังย้ำถึงบทบาทของไอซีอาร์ซีในฐานะองค์กรผู้ประสานงานที่มีความเป็นกลาง ซึ่งในปีนี้ บทบาทดังกล่าวช่วยให้องค์กรสามารถประสานให้มีการปล่อยตัวประกันและผู้ถูกคุมขังในพื้นที่ต่างๆ ได้สำเร็จ ทั้งในเยเมน ซูดาน รวมถึง อิสราเอลและดินแดนยึดครอง
“กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หลักการด้านมนุษยธรรม และสันติภาพ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และบทบาทของเราในฐานะองค์กรผู้ประสานงานที่มีความเป็นกลางนั้น ได้แก่ การมุ่งส่งเสริมการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมที่อาจช่วยป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินงานของเราที่มีทั้งการให้ความคุ้มครองและบริการด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎแห่งสงครามอยู่เสมอ” มีรยานา สปอลจาริก ประธานไอซีอาร์ซี กล่าว
ไอซีอาร์ซีดำเนินงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งกว่า 100 แห่งทั่วโลก แผนยุทธศาสตร์นี้จึงมีเป้าหมายเสริมสร้างศักยภาพของไอซีอาร์ซีในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับสามารถปรับเปลี่ยนระดับของสมรรถภาพการให้ความช่วยเหลือ ความร่วมมือกับพันธมิตร และกลยุทธ์การถอนตัวออกจากพื้นที่ในกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์ใหม่ยังย้ำถึงความจำเป็นของการทำความเข้าใจและตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการทำสงคราม รวมทั้งการปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับการทำสงครามในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธอัตโนมัติ สงครามไซเบอร์ และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
ในยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ไอซีอาร์ซีย้ำถึงบทบาทขององค์กรในฐานะสมาชิกกลุ่มองค์กรการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ที่มีความมุ่งมั่นจะร่วมมือกับสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงในแต่ละประเทศ รวมถึงสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ในการเสริมสร้างให้กลุ่มองค์กรกาชาดฯ เป็นเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั่วโลก โดยต่างยอมรับซึ่งอาณัติที่แต่ละองค์กรได้รับมอบหมาย รวมถึงบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละองค์กร
นอกจากนี้ ไอซีอาร์ซียังตระหนักถึงทัศนคติของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปต่อการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมในระดับระหว่างประเทศ โดยองค์กรมุ่งมั่นมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบที่เหมาะสมต่อบริบทและความต้องการของท้องถิ่น ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกำหนดแนวทางดำเนินงาน ทั้งนี้ การเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการประเมินแนวทางที่เคยปฏิบัติมา จะช่วยให้ไอซีอาร์ซีสามารถส่งเสริมแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างเสมอภาคและครอบคลุมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ไอซีอาร์ซียังให้ความสำคัญต่อการจัดการความเสี่ยงและการสร้างเสถียรภาพระบบการเงินขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น โดยเน้นสรรหาเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงเร่งรัดนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานขององค์กรด้วย
สุดท้าย แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีทักษะความสามารถ ความแตกต่างหลากหลาย และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างเท่าเทียมกันของบุคลากร พร้อมมุ่งสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการทำงานที่บุคลากรทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ ได้รับการสนับสนุน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริง ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มาจากไหนก็ตาม
ดาวน์โหลดแผนยุทธศาสตร์ประจำปี 2024-2027 ได้ ที่นี่
แปลและเรียบเรียงจาก ICRC launches 2024-2027 institutional strategy