พลเรือนไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้นานหากขาดซึ่งน้ำและอาหาร อย่างไรก็ดี สถานการณ์ขัดแย้งมักมีผลต่อปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่การสู้รบจะดำเนินไปในรูปแบบไหนและมีผลต่อการผลิตอาหารในพื้นที่ใดบ้าง รายงานระดับโลกเกี่ยวกับวิกฤตด้านอาหารประจำปี 2023 (The 2023 Global Report on Food Crises) ระบุว่า ความขัดแย้งเป็นสาเหตุให้ประชากรกว่า 117 ล้าน ต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างร้ายแรง ตามมาด้วยสาเหตุอื่นคือภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (84 ล้าน) และปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (56 ล้าน)

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราทราบว่าการทำสงครามอาจตามมาด้วยการทำลายแหล่งอาหารของฝ่ายตรงข้าม ยกตัวอย่างเช่นการวางยาพิษในบ่อน้ำ การเผาทำลายไร่นา หรือกีดกันพลเรือนออกจากปัจจัยพื้นฐาน นอกจากนี้ เรายังพบว่าการทำสงครามมีผลกระทบทางอ้อม เช่น การปิดกั้นเส้นทางเดินทางทำให้ชาวเมืองไม่สามารถเดินทางค้าขายได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงการผลักให้ประชาชนต้องย้ายออกจากพื้นที่ทำกิน และยังสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงผลกระทบอื่นๆ

นอกไปจากนี้เรายังพบอีกว่าการปล้นสะดมหรือการปิดล้อมที่ยาวนาน สร้างผลกระทบมหาศาลต่อความทุกข์ยากของประชาชน และยังส่งผลให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ทันเวลา ในความยากลำบากทั้งหมด ผลกระทบของสงครามยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะแม้การสู้รบจะสิ้นสุดไป แต่ชิ้นส่วนระเบิดที่ถูกทิ้งไว้ ก็ทำให้การเพาะปลูกต้องชะงักงันจนกว่าจะมีการเก็บกู้วัตถุระเบิดให้หมดสิ้นไปจากพื้นที่

แล้วกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกล่าวไว้อย่างไรในประเด็นนี้

กฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) กล่าวอย่างชัดเจนว่าการทำให้พลเรือนต้องเผชิญภาวะอดอยากเป็นวิธีการทำสงครามที่ถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติโดยเด็ดขาด นอกเหนือไปจากนี้ กฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ยังได้กำหนดรายการโดยสังเขปถึง “สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของประชากรพลเรือน” ซึ่งต้องได้รับการปกป้องอย่างยิ่งยวด วัตถุเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น อาหาร พื้นที่เกษตรกรรม พืชผล ปศุสัตว์ ระบบน้ำ และงานชลประทานต่างๆ กฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกล่าวว่าการโจมตี ทำลาย เคลื่อนย้าย หรือ ทำให้วัตถุเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด เว้นแต่ว่าจะมีสถานการณ์เฉพาะอย่างยิ่ง

กฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้มีการแบ่งแยกวัตถุทางทหารออกจากวัตถุพลเรือนและได้มีการกำหนดหลักความได้สัดส่วนในการโจมตี โดยวัตถุพลเรือนจะต้องได้รับการปกป้อง ไม่ตกเป็นเป้าของการโจมตี และการโจมตีประเภทที่ไม่สามารถแยกแยะเป้าหมายได้ก็เป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน นอกจากนี้กฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังกำหนดให้มีการพิจารณาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของการโจมตีด้วยเช่นกัน ดังนั้น ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และวัตถุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตอาหารและน้ำ รวมไปถึงโรงไฟฟ้า ต่างก็ได้รับการคุ้มครองด้วยเช่นกัน แม้กฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะไม่ได้ระบุโดยตรงว่าวัตถุเหล่านี้เป็น “สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของประชากรพลเรือน” ก็ตาม

นอกจากนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังห้ามหรือจำกัดการใช้อาวุธประเภทต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบทางลบอย่างกว้างขวางและยาวนานต่อความมั่นคงทางอาหาร สิ่งเหล่านี้รวมถึงข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธที่มีสารพิษ อาวุธชีวภาพ และเคมี รวมถึงข้อจำกัดในการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเป็นอาวุธ และข้อห้ามในการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ระเบิดลูกปราย ไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์

การปฏิบัติการทางทหารที่อาจคาดได้ว่าจะทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ( ก็เป็นสิ่งต้องห้ามด้วยเช่นกัน และสุดท้ายยังมีกฎเกณฑ์การห้ามการโจมตีเขื่อน เขื่อนกันน้ำ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากการโจมตีสถานที่ดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรงต่อพลเรือน และอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของที่ดิน แหล่งน้ำ ทำลายปศุสัตว์ ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศ

แม้ว่าการเคารพกฎเหล่านี้จะช่วยลดผลกระทบของสงครามต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึกอยู่เสมอคือแม้ว่าการสู้รบจะดำเนินไปตามข้อบังคับของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ผลของความขัดแย้งก็อาจส่งผลทางอ้อมต่อความมั่นคงทางอาหารและระบบการผลิตอาหารได้อยู่ดี ผลกระทบเหล่านี้ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณภาพ

ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาอาหารและน้ำให้กับประชากรพลเรือน?

คู่ขัดแย้งในการขัดกันทางอาวุธล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและทำให้แน่ใจว่าพลเรือนในพื้นที่สามารถเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน  รวมถึงการจัดหาอาหารและน้ำที่เพียงพอ ดังนั้นความรู้และความเข้าใจด้านระบบอาหารและการพึงพากันทั้งในระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะทุพโภชนาการล้วนส่งผลกระทบแตกต่างกันในแต่ละชุมชน

อย่างไรก็ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในบางสถานการณ์ และได้กำหนดว่าองค์กรด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลางอาจเข้ามาเสนอให้บริการเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรม รวมถึงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถ หรือเต็มใจที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ในทางปฏิบัติ

คู่ขัดแย้งจะต้องไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือนี้โดยพลการหรือโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย และเมื่อได้รับความยินยอม คู่พิพาทในความขัดแย้งตลอดจนรัฐอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องจะต้องอนุญาตและอำนวยความสะดวก เปิดทางให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่าวรวดเร็วและปราศจากการกีดขวาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละฝ่ายมีความรับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ มากน้อยเพียงใด