“ต้องพร้อมตลอดเวลา และที่สำคัญคือภาษาเพราะเป็นกุญแจที่ทำให้เราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา”

“ศัพท์เฉพาะด้านกฎหมายกับศัพท์ทหารก็จำเป็นครับ เพราะไม่เหมือนภาษาอังกฤษที่เราใช้กันทั่วไป”

ประโยคแรกเป็นของ ไอซ์ – นักเรียนนายร้อย ทฤษฎี  ศรีสุข ส่วนประโยคที่สองเป็นของ เปรม –นักเรียนนายร้อย ธีระเศรษฐ์ มณิวราปริพัต ที่ตอบอย่างมั่นใจเมื่อเราถามถึงข้อท้าทายและคำแนะนำสำหรับนักเรียนนายร้อยในรุ่นต่อไปที่สนใจอยากสมัครเข้าแข่งขันความรู้กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ Law of Armed Conflict (LOAC) Competition for Military Academies ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองซานเรโม ประเทศอิตาลี

นอกจากใจที่พร้อมและภาษาที่เชี่ยวชาญ ไกด์ – นักเรียนนายร้อย วิชญ์พล จิตชินะกุล  ยังบอกอีกว่าความรู้ด้านกฎหมายก็เป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ เนื่องจากตัวอนุสัญญา กฎหมาย หรือข้อตกลงที่ใช้ในการแข่งขันมีประมาณ 13 ฉบับ ซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก กฎหมายบางฉบับเราเองก็ไม่คุ้นชินทำให้เสียเปรียบเวลาต้องเปิดหาและนำมาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์จำลองระหว่างการแข่งขัน

บนเวทีสำคัญที่นักเรียนนายร้อยจากหลากประเทศหลายภาษาต้องร่วมมือกันค้นคว้าเพื่อนำกฎหมายมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ สามนักเรียนนายร้อยตัวแทนประเทศไทยพบเจอประสบการณ์แบบไหน เราอยากชวนทั้งสามมาพูดคุยถึงการแข่งขันครั้งนี้ รวมถึงสรุปสิ่งที่ตกตะกอนจากการเป็นนักเรียนนายร้อยชาวเอเชียเพียงหนึ่งในสองชาติ ท่ามกลางอากาศที่หนาวมากและบรรยากาศที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้สัมผัส

นนร.วิชญ์พล จิตชินะกุล นนร.ร้อย ธีระเศรษฐ์ มริวราปริพัต และ นนร.ทฤษฎี ศรีสุข ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ – ข้อตกลงร่วมกันในยามขัดแย้ง

“Law of Armed Conflict (LOAC) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า International Humanitarian Law (IHL) ภาษาไทยคือ ‘กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ’ หรือ ‘กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ’ เป็นเสมือนข้อตกลงในการทำสงครามที่คู่สงครามต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา หรือกฎหมายที่ตนได้ลงนามและให้สัตยาบันไว้ หรืออย่างน้อยคือการปฏิบัติตามกฎหมายจารีตประเพณีในการทำสงคราม เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากภัยสงครามสู่เหยื่อสงคราม” ไกด์ อธิบาย เมื่อเราถามถึงความสำคัญของกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง สำหรับเขา ข้อกฎหมายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอาชีพทหารโดยตรง ดังนั้นการเข้าร่วมการแข่งขันจึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก “ประเทศไทยของเราได้ลงนามและให้สัตยาบันในกฎหมาย LOAC หลายฉบับครับ ดังนั้นในฐานะของนักเรียนนายร้อยที่จะต้องจบการศึกษาไปเป็นผู้นำหน่วยในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่ต้องรู้จักกฎหมายชนิดนี้เป็นอย่างดี อีกทั้งต้องสามารถประยุกต์ใช้ในการควบคุมหน่วยของตนเองให้ปฏิบัติภารกิจทางทหารให้สำเร็จ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอีกด้วย”

เมื่อถามถึงความคุ้นเคยในข้อกฎหมาย LOAC ไกด์กล่าวว่าก่อนหน้านี้ตัวเขาเองไม่ได้เชี่ยวชาญเท่าไหร่ เพราะเป็นวิชาที่กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์จะเรียนกันในหลักสูตรชั้นปีที่ 4 แต่ตัวเขาและเพื่อนๆ เพิ่งศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 “อันที่จริงนักเรียนนายร้อยพอจะคุ้นเคยกับกฎหมาย LOAC อยู่บ้างครับ เนื่องจากมีการสอนในส่วนของวิชาทหารที่นักเรียนนายร้อยได้เรียนกัน แต่ในการเรียนนั้นไม่ได้ลงลึกมาก เพียงแต่สอนเพื่อให้รู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติและกฎหมายต่างๆ ที่ใช้” เปรมกล่าวเสริม อย่างไรก็ดีเมื่อทราบว่ามีการคัดเลือกนักเรียนนายร้อยให้เข้าร่วมการแข่งขัน พวกเขาก็ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมและเข้าสอบคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย โดยไอซ์กล่าวถึงการสอบคัดตัวว่าต้องสอบผ่านทั้งภาษาอังกฤษ การสอบสัมภาษณ์  การทดสอบความเข้าใจในกฎหมาย LOAC

“หลังจากทราบว่าผ่านการคัดเลือกก็จะมีการเตรียมตัวร่วมกับคณาจารย์ กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ และมีคุณ ลอยด์ จิลเลตต์ (Llyod Gillett) ผู้แทนฝ่ายทหาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย และติมอร์ตะวันออกของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมาเป็นวิทยากรในการให้ความรู้ครับ” ไอซ์กล่าว

ทีมนักเรียนนายร้อยไทย คณาจารย์ และคุณลอย์ จิลเลตต์ (Llyod Gillett) จาก ICRC

ทีมนักเรียนนายร้อยไทย คณาจารย์ และคุณลอย์ จิลเลตต์ (Llyod Gillett) จาก ICRC

“ส่วนที่เหลือก็เป็นอ่านหนังสือพวกอนุสัญญาต่างๆ ที่จะใช้ในการแข่งขันทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดก็ค้นหาและศึกษาด้วยตนเองจาก E-book หรือ บทความต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ทางการของ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ที่น่าสนใจคือในช่วงที่คุณลอยด์มาช่วยติวเข้มเป็นเวลาสองวัน นอกจากจะมีการสรุปเนื้อหา แนะนำเทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยให้การตอบได้คะแนนและถูกหลัก ยังมีการจำลองการแข่งขันและการเล่นโปรแกรมจำลองภารกิจทหารเพื่อดูผลลัพธ์ที่เราตกลงใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกตามหลักกฎหมาย LOAC หรือไม่” ไกด์เสริม

มุ่งหน้าสู่อิตาลี เวทีแห่งจิตวิญญาณที่เมืองซานเรโม

หลังผ่านการติวเข้มจนมั่นใจ นักเรียนนายร้อยทั้งสามนายก็ได้บินลัดฟ้าไปจนถึงประเทศอิตาลี โดยพวกเขาพบว่าในบรรดานักเรียนนายร้อยหลากหลายเชื้อชาติ มีตัวแทนจากทวีปเอเชียเพียงสองทีมเท่านั้นคือตัวแทนจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น “สำหรับผม สิ่งที่ท้าทายมีสองข้อครับคือทักษะทางด้านภาษาอังกฤษเนื่องจากเป็นการแข่งขันกฎหมายที่มีนักเรียนนายร้อยจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมทำให้สำเนียงภาษาแตกต่างกันอาจทำให้ต้องใช้ความตั้งใจฟังอย่างมากและมีการพูดภาษาอังกฤษที่เร็วมากสำหรับบางประเทศครับ และอีกข้อท้าทายสำหรับผมคือสภาพอากาศที่หนาวครับ” เปรมเล่าให้เราฟังว่าในช่วงที่เดินทางไปแข่งขันตรงกับเดือนมีนาคมพอดี ที่อิตาลีกำลังจะเข้าฤดูใบไม้ผลิแต่ปีนี้กลับหนาวกว่าที่คาด แถมชุดเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยของไทยเป็นแบบแขนสั้นทำให้ต้องทนหนาวอยู่บ้าง แต่บรรยากาศการแข่งขันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายก็เป็นไปอย่างอบอุ่น

“บรรยากาศแข่งขันดีมากครับ วันแรกที่มาถึงอิตาลีมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนนายร้อยได้รู้จักกัน ผ่านกิจกรรม Cultural Dining เป็นการได้เรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่แต่ละประเทศได้จัดเตรียมมานำเสนอแก่ประเทศต่างๆ และผู้เข้าแข่งขันก็จะได้ทราบรายชื่อของผู้ที่อยู่ทีมเดียวกันภายในวันนั้นด้วยครับ ซึ่งแต่ละทีมจะมีผู้เข้าแข่งขันที่ใช้ภาษาราชการเป็นภาษาอังกฤษอยู่อย่างน้อย 1 คนครับ

ทีมนักเรียนนายร้อยไทยในงาน Cultural Dining

ทีมนักเรียนนายร้อยไทยในงาน Cultural Dining

“ในส่วนของการแข่งขันจะแบ่งเป็นทั้งหมด 5 ห้องใหญ่ครับ เรียกว่า JOC หรือ Joint Operation Center แต่ละห้องมีทีมผู้เข้าแข่งขัน 7 ทีม (ทีมละ 2-3 คน) แต่ละทีมได้รับบทบาทเป็นประเทศสมมติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ในการแข่งขันโดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละทีมก็จะมีแนวทางในการใช้กฎหมายต่างกันไปครับ โดยจะได้รับแนวทางในการใช้กฎหมายผ่านจดหมายที่ผู้ดำเนินการแข่งขันแจกให้ ทำให้แต่ละทีมนั้นต้องใช้การวิเคราะห์ประยุกต์ในการใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิบัติการทางทหารให้เป็นไปตามที่ประเทศของตนต้องการ หน้าที่ของผู้เข้าแข่งขันก็คือระดมความคิดภายในทีมและเสนอข้อปฏิบัติออกมาในที่ประชุมการแข่งขันครับ” เปรมกล่าว

ในการแข่งขันที่ซานเรโมจะมีรูปแบบเป็นการแข่งประเภททีมผสม (Mixed Team) ซึ่งนักเรียนนายร้อยจาก 11 ประเทศ 27 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะถูกคละด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างกันทั้ง เพศ เชื้อชาติ สถาบัน และเหล่าทัพ “แต่ละทีมก็จะได้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน มีกิจเฉพาะของแต่ละประเทศ และต้องพยายามเสนอคำตอบประกอบกับหลักกฎหมาย LOAC ที่ประเทศของตนได้ลงนามและให้สัตยาบันไว้ ตัวผมได้อยู่ทีมเดียวกับเพื่อนนายร้อย ทบ. สหรัฐฯ ที่มาจากวิทยาลัยการทหารเวอร์จิเนีย (Virginia Military Institute, VMI)” ไกด์อธิบายให้เราฟังเพิ่มเติม

นักเรียนนายร้อยแต่ละทีมจะต้องทำการค้นคว้าและศึกษาโจทย์ที่ได้รับร่วมกัน

นักเรียนนายร้อยแต่ละทีมจะต้องทำการค้นคว้าและศึกษาโจทย์ที่ได้รับร่วมกัน

ในมุมมองของไอซ์ การทำงานร่วมกับเพื่อนนักเรียนนายร้อยจากหลายประเทศทำให้ผู้เข้าร่วมได้บูรณาการความคิดและมโนทัศน์ด้านเหตุและผลของกฎหมายกับเพื่อนร่วมทีมที่มาจากประเทศที่แตกต่างและกรอบความคิดที่หลากหลาย อันจะส่งผลให้นักเรียนนายร้อยทุกประเทศที่เข้าร่วมได้รับประสบการณ์ที่ดีในการทำงานที่เป็นลักษณะจำลองการปฏิบัติการร่วมด้านการทหารและการพิทักษ์รักษาสันติภาพโลก “สิ่งที่สำคัญในการตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางการทหาร คือการคำนึงถึงความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และต้องไม่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ไอซ์กล่าวย้ำ สถานการณ์จำลองต่างๆ ดำเนินไปเป็นเวลา 3 วัน และสิ้นสุดในวันสุดท้ายของการแข่งขัน

เมื่อการแข่งขันจบลง ก็จะถึงช่วงระทึกใจเพราะเป็นการประกาศรางวัลประเภทต่างๆ ปรากฏว่าทีมของเปรมได้รับรางวัลในลำดับที่ 5 “ตอนที่ประกาศรางวัลแล้วมีชื่อทีมของผมอยู่ในนั้นรู้สึกดีใจอย่างมากครับเนื่องจากในการแข่งขันผมทำได้ไม่เต็มที่มากนัก แต่ผมเชื่อว่าที่ทีมของผมได้รางวัลเพราะการสื่อสารที่ดีและการร่วมมือกันภายในทีมของผมครับ ต้องขอขอบคุณ Racheal และ Roberto เพื่อนร่วมทีม ที่ทำให้พวกเราได้รางวัลนี้มาครับ”

Racheal และ Roberto เพื่อนร่วมทีมของเปรม

Racheal และ Roberto เพื่อนร่วมทีมของเปรม

นอกจากรางวัลเหล่านี้ ตามประเพณีของการแข่งขันยังมีการประกาศรางวัลสำคัญคือ จิตวิญญาณของซานเรโม หรือ Spirit of San Remo ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษ ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน หัวหน้าทีม และคณะกรรมการทุกๆ คน จะร่วมโหวตให้กับผู้เข้าแข่งขันเป็นบุคคล หรือสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ประทับใจของการแข่งขันมากที่สุด ซึ่งในปีนี้รางวัลตกเป็นของ US Nevy Academy (Anapolis) ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด พิจารณาจากการแสดงออก  ความนิยมชมชอบ  ความสามารถ  และการแสดงสัมพันธไมตรีอันดีเป็นที่ประทับใจมิตรประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับรางวัลนี้ ประเทศไทยเองก็เคยได้รับไปเมื่อปี 2019

“นอกเหนือจากรางวัล Spirit of San Remo แล้ว การที่นักเรียนนายร้อยจากทุกประเทศได้เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แสดงความสามารถด้วยมุมมองมิติที่หลากหลาย และสามารถแสดงให้เห็นการประสานงานทำงานร่วมกันตลอดห้วงการแข่งขัน  สิ่งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าทุกคนได้เข้าถึงจิตวิญญาณและคุณค่าที่แท้จริงที่สถาบันกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ  (International Institute of Humanitarian Law – IIHL) ได้มอบให้  และจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตทั้งในด้านการศึกษาและการทำงานเพื่อร่วมมือกันบรรลุเป้าหมายแห่งสันติภาพของโลก” ไอซ์อธิบายให้เราฟัง สำหรับเขาแล้วทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันล้วนแบ่งปันและได้รับจิตวิญญาณแห่งซานเรโมกลับไป โดยไม่ต้องมีชิ้นรางวัลเป็นตัวการันตี

นักเรียนนายร้อยจากทุกประเทศรวมถึงตัวแทนจากสถาบันกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศถ่ายรูปร่วมกัน

นักเรียนนายร้อยจากทุกประเทศรวมถึงตัวแทนจากสถาบันกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศถ่ายรูปร่วมกัน

จากอิตาลีสู่ประเทศไทย เป้าหมายต่อไปของนักเรียนนายร้อย

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก หรือเป็นสมรภูมิแห่งความขัดแย้งบนเวทีโลก แต่สำหรับนักเรียนนายร้อยทั้งสามนาย การเข้าใจกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นประเทศที่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม (Humanity) และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)

“ในฐานะที่ประเทศไทยของเราได้เป็นภาคีของสัญญาในหลายๆ ฉบับ ดังนั้นในการรักษาความสงบ และการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความไม่สงบที่เป็นลักษณะทั้งภายในและระหว่างประเทศนั้น ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย LOAC ทั้งยังเป็นหน้าที่ของผู้บังคับหน่วยที่ต้องควบคุมบังคับบัญชาและนำหน่วยทหารของตนเองมิให้ละเมิดกฎหมายดังกล่าว ในส่วนของประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขัน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะผู้เข้าแข่งขันทุกคนต่างมาจาก รร.นายร้อยจากทั่วทุกมุมโลก เรามีภาษา วัฒนธรรม และธรรมเนียมที่แตกต่างกัน ดังนั้นในระหว่างช่วงเวลาของการแข่งขัน พวกเราก็ได้แลกเปลี่ยนกันทั้งความรู้ และความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิบัติภารกิจทางทหารในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติการทางทหารที่เป็นลักษณะระหว่างประเทศนั้น มักใช้มีการใช้กองกำลังร่วมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการฝึกร่วม” ไกด์กล่าว เขายังยกตัวอย่างการฝึก JFEO-CG2023 (Joint Forcible Entry Operation – Cobra Gold 2023) ซึ่งตัวเขาเพิ่งได้มีส่วนร่วมไปไม่นานมานี้ “หากเราสามารถเข้าใจความแตกต่างของทหารแต่ละชาติและปฏิบัติต่อกันด้วยความเข้าใจในวัฒนธรรมของเขาอย่างให้เกียรติก็จะเป็นเสน่ห์ของพวกเราเอง ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้นครับ”

ทีมนักเรียนนายร้อยไทยและอาจารย์ส่วนการศึกษา รร.จปร. ณ ซานเรโม

ทีมนักเรียนนายร้อยไทยและอาจารย์ส่วนการศึกษา รร.จปร. ณ ซานเรโม

ด้วยเหตุนี้ นักเรียนนายร้อยทั้งสามนายจึงคิดว่าการเข้าร่วมแข่งขันที่ซานเรโมเป็นประสบการณ์หายากและจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเส้นทางของพวกเขาในอนาคต โดยหากนักเรียนนายร้อยในรุ่นต่อไปมีความสนใจ เปรมก็ขอฝากให้เตรียมสะสมความรู้ด้านภาษาจนมั่นใจว่าสื่อสารได้คล่อง โดยเฉพาะศัพท์เฉพาะทั้งทางด้านกฎหมายและการทหาร ส่วนไอซ์แนะนำว่านอกจากกำแพงภาษา ความรู้ด้านกฎหมาย พื้นฐานสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงวัฒนธรรมสากลในการอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ  ก็มีความจำเป็นในระดับรองลงมา

ในขณะที่ไกด์ขอปิดท้ายว่าความเข้าใจในกฎหมาย LOAC ที่ใช้ในการแข่งขันมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เกือบทุกๆ ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันเตรียมตัวมาเป็นปีหรือครึ่งปี ดังนั้นหากเราเริ่มศึกษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น โดยควรศึกษาควบคู่ไปกับความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทางมนุษยธรรม เช่น  ความรู้เรื่องหลักการกาชาด หรือ กรณีศึกษาในการช่วยเหลือขององค์กรทางมนุษยธรรม ข้อมูลประเภทนี้จะช่วยเราได้ดีในสถานการณ์ที่ผู้เข้าแข่งขันต่างตอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไปจนเกือบหมด

“เราต้องไม่ลืมว่าในการปฏิบัติงานจริง นอกจากข้อกฎหมายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม หรือเหยื่อที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการผลแห่งสงครามด้วยเช่นกัน” ไกด์กล่าวปิดท้าย

การแข่งขันกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสำหรับนักเรียนนายร้อย ที่เมืองซานเรโม ประเทศอิตาลี จัดโดยสถาบันกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายร้อยชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 20 แห่ง ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ร่วมถกประเด็นท้าทายภายใต้กรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ICRC ได้ให้การสนับสนุนนักเรียนนายร้อยจากประเทศไทย ให้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการนี้มาแล้วเป็นครั้งที่ 5 โดยมีเป้าหมายในการช่วยเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรกองทัพไทยที่จะมีบทบาทต่อไปในอนาคตทั้งในเวทีระดับประเทศและเวทีโลก