วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2566) ถือเป็นวันครบรอบ 160 ปี ของการดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบทั่วโลกที่ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross- ICRC) ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

ในหนังสือเรื่อง “A Memory of Solferino” ที่ อังรี ดูนังต์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งไอซีอาร์ซีเขียนขึ้น เขาได้เสนอให้มีการจัดตั้งสมาคมบรรเทาทุกข์แห่งชาติที่ใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน พร้อมกับมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองผู้บาดเจ็บในสนามรบ วิสัยทัศน์นี้ได้รับการตอบรับและผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1863 โดยกลุ่มพลเมืองนครเจนีวาที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง “คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการบรรเทาทุกข์แก่ผู้บาดเจ็บ” (International Committee for Relief to the Wounded) ขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ” (International Committee of the Red Cross) และอีกราวหนึ่งปีต่อมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1864 มีรัฐทั้งหมด 12 แห่ง ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาที่กำหนดพันธกรณีในการไว้ชีวิตและคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บ และบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษาทหารเหล่านี้ รวมทั้งอุปกรณ์และสถานบริการทางการแพทย์ จนทำให้มีการจัดตั้ง “อนุสัญญาเจนีวา” ขึ้นมาในที่สุด

นับตั้งแต่ปี 1863 เป็นต้นมา แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำสงครามไปอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน คือ ความเดือดร้อนที่ประชาชนพลเรือนต้องเผชิญจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดย อังรี ดูนังต์ ได้เขียนถึงความน่าสะพรึงกลัวของสงครามเมื่อ 160 ปีที่แล้วไว้ว่า

“บ้านเรือนหลายหลังเสียหาย มีรูโหว่แหว่งพร้อมกับซากปรักหักพังเต็มไปหมด บรรดาผู้คนที่อยู่ในตัวบ้านต้องซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดินมืดๆ ไม่มีทั้งแสงสว่างหรืออาหารตกถึงท้องนานเกือบ 20 ชั่วโมง ตอนนี้พวกเขาเริ่มพากันออกจากที่หลบซ่อน โดยที่ยังรู้สึกหวาดกลัวตกใจกับเหตุการณ์ที่เพิ่งประสบมา”

ข้อความข้างต้นอ่านแล้วราวกับว่าเพิ่งเขียนขึ้นวันนี้เอง เพราะสภาพความทุกข์ทรมานที่กล่าวถึงคือสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันต้องเผชิญ อันเป็นผลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ยูเครน เยเมน และซีเรีย ไปจนถึงสถานการณ์การสู้รบในอัฟกานิสถานและโซมาเลียช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“จากการทำงานของไอซีอาร์ซีตลอด 160 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าความพยายามในการลดอันตรายที่จะเกิดกับประชาชนพลเรือนจากความขัดแย้งทั่วโลกมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้คนมากมายเดือดร้อนจากความขัดแย้งอยู่ ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องทำงานกันอีกมากเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและความบอบช้ำที่เกิดขึ้น” มีรยานา สโปลจาริก ประธานไอซีอาร์ซีกล่าวและเสริมว่า “การปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ยังคงเป็นหนทางเดียวที่จะรักษาคุณค่าพื้นฐานของหลักการแห่งมนุษยธรรมในห้วงยามสงคราม และต้องได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นในทางการเมืองด้วย”

ไอซีอาร์ซีปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมในประเทศต่างๆ กว่า 100 แห่งทั่วโลก และมีเจ้าหน้าที่ประจำมากกว่า 21,000 คน ต่อจากนี้ เราจะยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับภาคีกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ของเรา เพื่อให้ทุกฝ่ายของความเข้าใจในการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมของเรา ที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นกลาง การไม่เลือกปฏิบัติ และความเป็นอิสระ แม้ว่าจะมีการนำอาวุธและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ก็ตาม

ไอซีอาร์ซีจะยังคงมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พร้อมกับส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามไม่ให้มีการกระทำรุนแรงต่อผู้คนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบต่อไป