ในวันที่ 24 มิถุนายน 1859 นายอังรี ดูนังต์ นักธุรกิจชาวสวิสพบเห็นเหตุการณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เขาเดินทางผ่านเมืองโซลเฟริโน (ปัจจุบันตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศอิตาลี) หลังการสู้รบระหว่างกองทัพฝรั่งเศสและออสเตรียเพิ่งจบลงไปได้ไม่นาน โซลเฟริโนเป็นสมรภูมิสำคัญในสงครามประกาศอิสรภาพของอิตาลีครั้งที่ 2 สงครามครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่กองทัพทุกฝั่งได้รับการบังคับบัญชาโดยตรงจากกษัตริย์ ทหารกว่าสามแสนคนจากออสเตรีย ฝรั่งเศส และอิตาลีต่อสู้กันที่บริเวณนี้เป็นเวลายาวนานถึง 14 ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสามหมื่นคน บาดเจ็บอีกหลายหมื่น ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสงครามครั้งอื่นๆ ในศตวรรษที่ 21
ต้นเหตุของการรบที่โซลเฟริโนมาจากความต้องการที่จะประกาศอิสรภาพของรัฐต่างๆ ในอิตาลี ออกจากจักรวรรดิออสเตรีย โดยเป็นผลพวงมาจากความพ่ายแพ้ในสงครามประกาศอิสรภาพครั้งแรก อิตาลีรู้ว่าตัวเองจำเป็นต้องมีพันธมิตร จึงได้ผูกมิตรกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (หลานชายของนโปเลียนที่ 1) ผลคือสงครามในครั้งนี้มีผู้บัญชาการใหญ่ฝั่งฝรั่งเศสเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ร่วมมือกับพระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2 ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลี เพื่อต่อสู้กับศัตรูในฝั่งตรงข้ามนำทัพโดยจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย
ตอนอังรี ดูนังต์ เดินทางผ่าน การสู้รบที่โซลเฟริโนได้จบลงไปแล้ว แต่ผลกระทบของสงครามยังหลงเหลืออยู่ ตัวเขาไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์ แต่ได้หยุดเพื่อช่วยเหลือบรรดาทหารบาดเจ็บที่ถูกทิ้งไว้ ร่วมกับชาวบ้านท้องถิ่น และได้ใช้จ่ายเงินของตัวเองเพื่อซื้อหาอาหารให้ทหารบาดเจ็บ เขายังได้จดบันทึกข้อความสุดท้ายของทหารที่กำลังจะเสียชีวิตเพื่อนำส่งไปยังครอบครัว สิ่งที่อังรี ดูนังต์ทำนั้นแสดงถึงจิตวิญญาณมนุษยธรรมอย่างแรงกล้า เขาเจรจาขอให้กองทัพฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้คว้าชัยในการรบ ให้ปล่อยตัวศัลยแพทย์ชาวออสเตรียซึ่งถูกจับเป็นเชลย เพื่อที่เขาจะสามารถช่วยเหลือทหารบาดเจ็บจากทุกฝั่ง สิ่งที่อังรี ดูนังต์ได้เรียนรู้ในตอนนั้น คือกองทัพทุกมีสัตวแพทย์มากกว่าศัลยแพทย์ เนื่องจากม้ามีค่ามากกว่าทหาร และหน่วยแพทย์ของกองทัพก็ตกเป็นเป้าหมายที่ถูกโจมตีมากพอๆ กับเป้าหมายอื่น
อังรี ดูนังต์อาจทำงานภาคสนามเพียงไม่กี่วัน แต่ภาพจำจากหายนะครั้งนั้นยังคงติดตา เมื่อกลับมาถึงบ้านที่เมืองเจนีวา เขาได้ลงมือเขียนหนังสือ ‘ความทรงจำแห่งโซลเฟริโน’ หนังสือเล่มนี้กลายเป็นแรงบันดาลในการก่อกำเนิดกลุ่มองค์กรกาชาด เนื่องจากอังรี ดูนังต์ได้เรียกร้องข้อเสนอสามประการ 1. การยอมรับสถานะผู้บาดเจ็บของทหารที่ไม่อาจทำการสู้รบต่อ 2.การก่อตั้งหน่วยงานภายในประเทศในการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ โดยมีการสนับสนุนจากนานาชาติ 3.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเคารพความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
แนวคิดของอังรี ดูนังต์นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มองค์กรกาชาดฯ และการก่อเกิดของอนุสัญญาเจนีวาซึ่งเป็นพื้นฐานของกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
เป็นเวลากว่าร้อยปีที่กิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ยังได้รับการปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สงครามที่โซลเฟริโน ยกตัวอย่างเช่น
  • บุคคลที่พลัดพรากจากกันเพราะความขัดแย้งต้องสามารถติดต่อกับบุคคลอันเป็นที่รัก
  • พลเรือนต้องไม่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี
  • เชลยศึกและผู้ถูกคุมขังอื่นๆ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม
  • ผู้ที่สูญเสียแขนขาสามารถรับอุปกรณ์กายหรืออวัยวะเทียม
  • รัฐทั้งหลายต้องหยุดพัฒนาอาวุธที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างพลเรือนและพลรบ
  • ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและความขัดแย้งต้องสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
  • ฯลฯ
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1863 เมื่ออังรี ดูนังต์และเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 4 ท่านมารวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง ICRC พวกเขาไม่อาจทราบได้เลยว่าองค์กรเดียวกันจะยังทำหน้าที่มานานถึงปีที่ 160