วิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมกำลังคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติ มันกำลังสร้างผลกระทบให้ขีวิตของเราในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร ลุกลามไปจนถึงเศรษฐกิจ ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลับเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมน้อยที่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เพื่อร่วมกันช่วยเหลือไม่ให้ปัญหาที่ว่าลุกลามไปกว่านี้ กลุ่มองค์กรมนุษยธรรมจึงได้รวมตัวกันเพื่อปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงในกฎบัตรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขององค์กรมนุษยธรรม (Climate and Environment Charter for Humanitarian Organizations) ซึ่งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ร่วมกันนำเสนอเมื่อช่วงปี 2021 กฎบัตรฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อผนึกกำลังระหว่างหน่วยงาน ร่วมกันทำความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อผู้คนกว่า 97.6 ล้านคนทั่วโลก (โดยเฉพาะผู้คนที่เผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบอยู่แล้ว) ปัจจุบันหน่วยงานด้านมนุษยธรรมที่ได้ร่วมลงนามในกฏบัตรฉบับนี้ มีมากกว่า 325 องค์กร

กฎบัตรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขององค์กรมนุษยธรรม เป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยให้องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ ได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้และร่วมกันแก้ปัญหา โดยมีเป้าหมายสำคัญสองประการ

1.นำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นหนึ่งในแกนกลางของกิจกรรม ปรับความช่วยเหลือต่างๆ ให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่ยั่งยืน

2.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับแผนกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สำหรับมาตรการในการควบคุมก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานด้านมนุษยธรรม ได้มีการกำหนดการวัดปริมาณคาร์บอน หรือที่เรียกกันว่า The Humanitarian Carbon Calculator ขึ้นมา เป้าหมายเพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถวัด/ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม กำหนดเป้าหมายและสร้างแผนลดการปล่อยมลพิษ การคำนวณคาร์บอนเพื่อมนุษยธรรมยังสามารถใช้เพื่อตรวจสอบประวัติการปล่อยมลพิษของแต่ละองค์กรในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะช่วยประเมินประสิทธิผลของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

องค์กรต่างๆ จะต้องเริ่มจากการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในแต่ละกิจกรรม โดยสามารถใช้มาตรฐาน GHG Protocol (The Greenhouse Gas Protocol) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการจัดทำบันทึกและการรายงานก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นทออกเป็นสามส่วน คือ 1.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากองค์กรโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งความช่วยเหลือด้วยวิธีต่างๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 2.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากการใช้พลังงานขององค์กร เช่นการใช้ไฟฟ้าในแต่ละสำนักงาน 3.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากโรงงานหรือบริษัทขนส่งที่องค์กรใช้บริหารอยู่ ยกตัวอย่างเช่นโรงงานที่ผลิตสิ่งของจำเป็นสำหรับมอบให้ผู้ประสบภัย หรือหน่วยงานขนส่งที่ช่วยแจกจ่ายความช่วยเหลือในระดับท้องถิ่น

โดยมากแล้ว การประเมินตามกฏ GHG Protocol พบว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรมนุษยธรรมจะเกิดมากที่สุดในส่วนที่สาม ซึ่งจัดเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความเกี่ยวข้องทางอ้อมขององค์กรมนุษยธรรม นำไปสู่มาตรการขององค์กรต่างๆ ในการปรับลดตัวเลขตามแผนการลดคาร์บอนต่อไป เป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กรเหล่านี้ ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยไม่ทิ้งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไว้เบื้องหลัง

เพิ่มเติมเกี่ยวกับ GSD Protocol และการคำนวณคาร์บอนเพื่อมนุษยธรรม สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ผ่านวีดีโอด้านล่าง

หมายเหตุ กฎบัตรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขององค์กรมนุษยธรรมจัดทำขึ้นเพื่อประชาคมมนุษยธรรม โดยประชาคมมนุษยธรรม ได้แก่ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และมนุษยธรรม ร่วมกันสนับสนุนจัดทำกฎบัตรฉบับนี้ แนวทางการจัดทำมาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ วัตถุประสงค์ของความตกลงตกลงปารีส กรอบการดำเนินงาน Sendai เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ กฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายสิ่งแวดล้อม