[ข้อความบางส่วนจากสุนทรพจน์ของด็อกเตอร์กิลส์ คาร์บอนเนียร์ รองประธาน ICRC ณ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาครั้งที่ 20 ว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและการทำลายทุ่นระเบิด วันที่ 21 พฤศจิกายน 2022 นครเจนีวา]

ในปีนี้ (2022) ถือเป็นปีครบรอบ 25 ปี ของอนุสัญญาออตตาวา หลังได้รับการรับรองในปี 1997 จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาฉบับนี้ คือการรณรงค์เรียกร้องให้ทั่วโลกห้ามใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในงานด้านมนุษยธรรมที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของ ICRC ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา

ICRC ผลักดันและเป็นหัวหอกสำคัญของอนุสัญญามาตั้งแต่ปี 1994 เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของเราและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามทั่วโลก ล้วนตระหนักถึงความโหดร้ายและผลกระทบที่มากมายของทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งได้ทำลายชีวิตของพลเรือนไปอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นถูกเรียกว่าเป็นเหมือน ‘การระบาดครั้งใหญ่’ ของความตายและการบาดเจ็บ ณ วันที่อนุสัญญาฉบับนี้ได้รับการรับรองเมื่อ 25 ปีก่อน นายคอร์นีเลียส ซอมมารูกา ประธาน ICRC ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ได้กล่าวข้อความสำคัญ

“ไม่มีสิ่งใดสามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมโนธรรมสากลเข้าใจว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ”

นับตั้งแต่ที่อนุสัญญาออตตาวามีผลบังคับใช้ในปี 1999 เห็นได้ชัดว่าจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อทุ่นระเบิดสังหาร ลดลงมากถึง 90% ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในด้านการจำกัดอาวุธ โดยได้มีการตั้งความหวังไว้ว่า ทุ่นระเบิดสังหารทั้งหมดจะถูกกำจัดไปจากโลกภายในปี 2025

2025 หรือ 3 ปีนับจากวันนี้ ดูจะเป็นเวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่มาก กระนั้นการจะเข้าสู่โลกใหม่ที่ไม่มีทุ่นระเบิดสังหารเหลืออยู่ ก็ยังดูไกลจากความเป็นจริง เพื่อเอาชนะอุปสรรคที่เหลือถนนที่ทอดยาวไปจากนี้ จะต้องใช้ทั้งความเข้าใจที่ได้รับมาตลอด 25 ปี และความสามัคคีช่วยเหลือกันของประชาคมโลก

-ตามรายงานของ Landmine Monitor ในปีที่ผ่านมา (2022) มีรายงานการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทั้งที่ผลิตขึ้นเองและแบบชั่วคราว ใน 6 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โคลอมเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อินเดีย เมียนมาร์ และยูเครน เราขอเรียกร้องให้ผู้ที่ยังคงใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหยุดการกระทำที่ว่านี้ในทันที

-เราต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญาสากลและบรรทัดฐานของอนุสัญญา เราเรียกร้องให้ 33 รัฐที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาฉบับนี้ และขอเรียกร้องให้ทุกรัฐ และทุกภาคีที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางอาวุธ หยุดการใช้ ผลิต ถ่ายโอน และสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

-ทุ่นระเบิดที่ยังหลงเหลืออยู่จะต้องถูกกวาดล้าง ทุกวันนี้ รัฐภาคี 34 รัฐ รวมถึงบางพื้นที่มี่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก ยังไม่สามารถเสร็จสิ้นพันธกรณีในการกวาดล้างทุ่นระเบิดให้หมดไป และหลายรัฐยังไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาการกวาดล้างได้อย่างเต็มที่

-รัฐภาคีทุกรัฐจะต้องจริงจังกับของข้อปฏิบัติของอนุสัญญา และต้องปฏิบัติอย่างครบถ้วน รัฐภาคีต้องสอบสวนข้อกล่าวหาด้านการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในดินแดนของตน และดำเนินมาตรการเพื่อดำเนินคดีและลงโทษผู้รับผิดชอบ การไม่ปฏิบัติตามเส้นตายของสนธิสัญญาในการกวาดล้างและการทำลายคลังอาวุธเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาความเคารพต่ออนุสัญญา

ในส่วนของICRC เรายังคงมีส่วนร่วมกับรัฐต่างๆ และให้การสนับสนุนเพื่อช่วยให้มั่นใจว่าอนุสัญญาได้รับการปฏิบัติตามและนำไปปฏิบัติในระดับสากล

นอกจากนี้ ICRC ร่วมกับหน่วยงานระดับชาติ ระดับท้องถิ่นและพันธมิตรของเรา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มองค์กรกาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงในแต่ละประเทศ) จะคงทำหน้าที่ต่อไปเพื่อป้องกันและจัดการกับผลกระทบของทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ระเบิดพวง รวมไปถึงวัตถุระเบิดอื่นๆ ซึ่งตกค้างจากสงคราม งานของพวกเรามีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ลดความเสี่ยง ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ร่วมไปถึงการสนับสนุนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหาร ให้สามารถกลับมาอยู่ร่วมในสังคมและดำรงชีพต่อไปได้

เราทุกคนล้วนติดค้างผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของทุ่นระเบิดสังหารทั้งในอดีตและอนาคต และต้องทำให้แน่ใจว่าโลกใบใหม่ที่เราจะส่งต่อให้คนรุ่นหลัง จะต้องปราศจากอาวุธทำลายล้างที่อันตรายเหล่านี้