UNHCR กล่าวว่า ทั้งโลกของเรานี้มีประชากรถึง 1 ใน 95 ที่ต้องพลัดถิ่นจากความขัดแย้งหรือการประหัตประหาร โดยหากคิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ มีถูกบังคับให้หนีจากบ้านไม่น้อยไปกว่า 82.4 ล้านคน บ้างอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย หรือผู้อพยพ ซึ่งสามคำที่เราได้ยินกันอยู่เป็นประจำมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้

อะไรคือความแตกต่างระหว่างสถานะผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และ ผู้อพยพ

โดยหลักแล้ว ผู้ลี้ภัย (Refugees) ตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัย (Convention Relating to the Status of Refugees) ให้นิยามไว้ว่า เป็นผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศ ด้วยเหตุผลจากการถูกการประหัตประหาร การละเมิดที่มีพื้นฐานในด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือการเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ซึ่งโดยมาก มักจะไม่สามารถกลับสู่ประเทศตนเองได้เพราะรัฐของตนไม่สามารถปกป้องหรือปฏิเสธที่จะปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเหตุผลหลักที่ก่อให้เกิดการลี้ภัยคือสงครามและความรุนแรงที่สร้างความจำเป็นในการผลัดถิ่นฐานคือเพื่อหนีความรุนแรง โดยผู้ที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) มีความเกี่ยวข้องกับสถานะความเป็นผู้ลี้ภัย คือ เป็นผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศของตนเพื่อแสวงหาความคุ้มครองจากการถูกประหัตประหารละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากภาครัฐ แต่ยังไม่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยและกำลังรอการยอมรับสถานะจากรัฐที่จะให้ความคุ้มครอง สิทธิในการแสวงหาที่ลี้ภัย ถือเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง และการเข้าสู่ดินแดนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือหรือความคุ้มครองจากการถูกละเมิดเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้

ผู้เดินทางข้ามแดน หรือผู้อพยพ (Migrants) ไม่ได้มีการนิยามในทางกฎหมายที่ชัดเจน บางคนย้ายประเทศเพราะต้องการทำงาน เรียนต่อ หรือไปหาครอบครัว บางคนย้ายเพราะความยากจน ปัญหาทางการเมือง อาชญากรรม ภัยธรรมชาติหรือสถานการณ์อันตรายรูปแบบอื่นๆ

ถึงแม้ผู้เดินทางข้ามชาติหลายคนไม่ได้มีลักษณะเป็นผู้ลี้ภัย แต่หากเดินทาง/ถูกส่งกลับกลับไปยังภูมิลำเนาอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายได้ ดังนี้จึงสำคัญมากที่เราต้องเข้าใจใหม่ว่า ถึงแม้ผู้ย้ายประเทศอาจจะไม่ได้ย้ายมาเพราะการถูกละเมิดประหัตรประหาร แต่พวกเขาก็ยังคงมีสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง โดยประเทศที่ดูแลพวกเขาเหล่านี้ ต้องปกป้องคนเหล่านี้จากการละเมิดโดยเหยียดชาติพันธุ์และเลือกปฏิบัติ การบังคับใช้แรงงานและหาผลประโยชน์อื่นๆ และผู้เดินทางข้ามชาติย้านฐานไม่ควรถูกกักกันตัวและหรือส่งตัวกลับโดยไม่มีเหตุผลอันควร

สถานะที่แตกต่าง หมายความว่าพวกเขาได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่ต่างกันด้วยหรือไม่

ตามที่ได้กล่าวไป ผู้ลี้ภัย (Refugees) และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) เกี่ยวข้องกันในธรรมชาติของการหนีจากการถูกละเมิดประหัตรประหาร ในขณะที่ผู้เดินทางข้ามแดน เป็นคำที่มีความครอบคลุมกว้างกว่า โดยรวมไปถึงคนทุกคนที่เดินทางข้ามพรมแดนไป

ผู้ลี้ภัย (Refugees) และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) ในระดับหนึ่ง ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เช่นหลักการทางสิทธิมนุษยชนและสนธิสัญญาเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัย

ในขณะเดียวกันก็มีกระบวนการระหว่างประเทศที่ดูแลการเดินทางข้ามชาติโดยเฉพาะคือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน International Organization for Migration (IOM) โดยเป็นองค์กรที่ดูแลประเด็นที่เกี่ยวกับบุคคลไร้สัญชาติ (stateless persons) ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons – IDPs) แรงงานข้ามชาติ (migrant workers) และในบางกรณีก็เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยเช่นกัน

โดยสรุปคือ ทั้งสามกลุ่มมีประเด็นเกี่ยวกับการเคลื่อนย้านและผลัดถิ่นของประชากรและปัจจัยทางสิทธิมนุษยชน การเข้าเมืองและกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศ เช่นการไม่ถูกส่งตัวไปยังพื้นที่อันตราย (non-refoulemet) และการห้ามการทรมานและการกระทำที่ไม่เป็นมนุษย์

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ด้วยหรือไม่

IHL เป็นกฎหมายสงครามและได้มีการระบุอย่างชัดเจนในการปกป้องพลเรือนในการขัดกันทางอาวุธ โดยพลเรือนต้องไม่ตกเป็นเป้าของการโจมตีและความเสียหายต่อพลเรือนและวัตถุพลเรือนต้องถูกจำกัด ผู้ลี้ภัยเองก็ได้รับความคุ้มครองหากพวกเขาอยู่ในรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขัดกันทางอาวุธ ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเฉพาะเจาะจงภายใต้หลักของสนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 และ พิธีศาลเพิ่มเติมฉบับที่ 1 นอกเหนือไปจากหลัก IHL ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น ข้อที่ 44 ของ สนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 โดยระบุว่าฝ่ายที่ควบคุมตัวนั้น ไม่ควรปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยเป็นข้าศึกศัตรู และในพิธีศาลเพิ่มเติมก็ระบุชัดเจนว่าผู้ลี้ภัยถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองในทุกกรณีอย่างไม่มีการยกเว้นและไม่เลือกปฏิบัติ

หากมีการพลัดถิ่นแต่ไม่ได้ข้ามชายแดน ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons – IDPs) จะได้รับการคุ้มครองอย่างไร

ในตอนนี้ เรายังไม่มีหลักกฎหมายหรือสนธิสัญญาที่ปรับใช้เป็นสากลเกี่ยวกับ IDPs แต่เรามีมีสนธิสัญญาของภูมิภาคแอฟริกาที่เกี่ยวกับ IDPs ชื่อว่า Kampala Convention มีผลบังคับใช้รัฐสมาชิกตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2012 ถือได้ว่าเป็นสนิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ IDP

โดยปกติ IDP ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากหลายๆ แหล่ง เช่น กฎหมายภายในของรัฐ กฎหมายสิทธิมนุษยชน และถ้าอยู่ในรัฐที่มีการขัดกันทางอาวุธก็จะมี IHL เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สหประชาชาติก็มีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ IDP ชื่อ The United Nations Guiding Principles on Internal Displacement ในปี 1998 เป็นเอกสารที่ไม่ก่อพันธะทางกฎหมายแต่อย่างใด แต่มีความสำคัญในการกำหนดการให้ความช่วยเหลือที่สำคัญแก่ IDP โดยได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการมาตรฐานในการจัดการและให้ความช่วยเหลือ IDP ที่เป็นระบบและครบขั้นตอน

นอกจากนี้หลักการภายใต้กฎหมาย IHL ในการปกป้องพลเรือน หากได้ความเคารพและปฏิบัติตามก็จะช่วยลดหรือป้องกันการบังคับให้ผลัดถิ่นได้ โดยมีหลักการตัวอย่าง เช่น

  • ห้ามการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและวัตถุพลเรือนหรือการโจมตีอย่างไม่แยกแยะ
  • การบังคับให้เกิดความอดอยากขาดแคลนในหมู่พลเรือนและการทำลสยระบบสาธารณุปโภคที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของประชากรพลเรือน
  • การลงโทษเป็นกลุ่ม ซึ่งอาจรวมไปถึงการเผาทำลายบ้านเรือน

นอกจากนี้ IHL ได้ระบุห้ามการบังคับขืนใจให้พลเรือนออกจากเคหะสถาน เว้นเสียแต่ว่าเพื่อความปลอดภัยของพลเรือนเอง หรือมีความจำเป็นทางทหารอย่างยิ่งยวด

นอกจากนี้ ยังมีการวางหลักถึงการกระทำการต่างๆ เพื่อให้ประชากรพลเรือนที่ผลัดถิ่นมีสถานะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม  มีที่พัก สุขอนามัย อาหาร และความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความพลัดพรากจากกันในครอบครัว โดยหลักเหล่านี้เป็นหลักที่เป็นจารีตประเพณีในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และปรับใช้ในการขัดกันทางอาวุธไม่ว่าจะระหว่างประเทศหรือไม่

หากคุณสงสัยเกี่ยวกับความคุ้มครองอื่นๆ ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อ่านบทความเพิ่มเติม กฎหมายสงครามทำงานอย่างไร รวมทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ