วิกฤตต่างๆ อาจมาพร้อมความเสียหายและน้ำตา แต่หลายครั้งที่ความยากลำบากทำให้เราได้เห็นด้านดีๆ ของมนุษยผ่านการแบ่งปันและความมีน้ำใจ คุณปาล์ม – ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้ง Thai news pix และคุณฟี่ – เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพถ่าย นิตยสาร National Geographic Thailand สองช่างภาพมากประสบการณ์ผู้เคยผ่านการลงพื้นที่บันทึกเรื่องราวมากมาย คิดอย่างไรกับมุมมองมนุษยธรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย? อะไรคือคำว่า “น้ำใจ” ที่สองหนุ่มมองเห็นได้ในยามวิกฤต

คุณฟี่ – “ผมคิดว่าน้ำใจเป็นโจทย์ที่กว้าง แต่เป็นความกว้างที่ดี เพราะมันสามารถตีความได้เยอะและค่อนข้างครอบคลุม พอเราพูดว่า ‘วิกฤต’ คนอาจคิดถึงเรื่องใหญ่ เป็นการเสี่ยงภัยในพื้นที่สงคราม หรือภัยธรรมชาติ แต่ผมคิดว่าวิกฤตที่เราพูดถึงอาจเป็นวิกฤตในชีวิตประจำวันอย่างอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วน ‘น้ำใจ’ บางทีมันอาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างความรู้สึกเป็นห่วง”

คุณปาล์ม – “พูดถึง ‘น้ำใจ’ สิ่งสำคัญของภาพถ่ายคือการถ่ายทอดผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลในภาพ ส่วน ‘วิกฤต’ คำนี้มักติดภาพเชิงลบ แต่ด้วยความที่หัวข้อที่เราต้องการโฟกัสไปที่เรื่องของน้ำใจในวิกฤต ซึ่งเป็นมุมมองด้านบวก เหมือนการมองหาสิ่งดีในช่วงเวลาเลวร้าย ถ้าเรามองกันดีๆ ทุกวันนี้สังคมพยายามช่วยเหลือกันตลอด จิตอาสา เอกชน หรือแม้แต่คนในชุมชนก็พยายามยื่นมือ ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้คือพื้นฐานของความเป็นคน และเป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้ในทุกวัน”

“Kindness during crisis” ในวิกฤต มีน้ำใจ โจทย์หลักของการประกวดภาพถ่ายครั้งแรกของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ มีคีย์เวิร์ดสำคัญคือการถ่ายทอดมนุษยธรรมผ่านภาพถ่าย คิดว่าคำใหญ่ๆ อย่าง มนุษยธรรม สามารถถ่ายถอดผ่านภาพเพียงหนึ่งภาพได้หรือไม่

คุณปาล์ม – “มนุษยธรรมเหมือนจับต้องไม่ได้ แต่มันอยู่ในตัวทุกคน มนุษยธรรมอาจไม่ใช่อะไรสักอย่าง แต่เป็นบางอย่างที่เกิดขึ้นจริง เช่น คนมีน้ำใจแล้วแบ่งปันกัน คนลำบากแล้วช่วยเหลือกัน คนมีหน้าที่และพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด หรือบางคนไม่ได้มีหน้าที่ แต่ทนเห็นคนอื่นลำบากไม่ได้ ลุกขึ้นมาริเริ่มอะไรสักอย่าง ผมว่าการกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นมนุษยธรรม เพราะงั้นเวลาที่เราต้องตีคีย์เวิร์ดออกมาเป็นสถานการณ์ เราจะเห็นได้ว่าตัวอย่างเหล่านี้มีให้เห็นอยู่แล้วไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ สิ่งที่ภาพถ่ายทำ คือการนำเสนอจุดเล็กๆ หรือบางส่วนของเหตุการณ์เพื่อถ่ายทอดข้อความให้ไปถึงผู้คนจำนวนมาก”

ถ้าต้องหยิบกล้องออกไปถ่ายภาพในตอนนี้ คิดว่าภาพแบบไหนที่ทั้งสองคนอยากเลือกมานำเสนอ

คุณปาล์ม – “ผมสนใจเรื่องคนที่เข้าไม่ถึงสิทธ์ คนไร้บ้าน คนยากจน คนไม่มีสัญชาติ คนเหล่านี้มีเสียงน้อยมาก พวกเขาไม่สามารถเรียกร้อง ไม่อาจต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีได้เท่ากับคนที่มีชีวิตมั่นคง มีงาน มีรายได้ประจำ ผมมองว่ามนุษยธรรมที่ควรถ่ายทอดควรเป็นมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ หลายครั้งที่เราคิดว่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนไร้สิทธิ์จะมีแต่ความทุกข์ยาก แต่ในความทุกข์ยากเป็นสถานการณ์ที่เราได้เห็นมนุษยธรรมชัดเจนที่สุด”

คุณฟี่ – “ผมคงไม่ไปถ่ายอะไรไกลๆ แต่คงเลือกสิ่งที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน สมมุติวันนี้เราเดินออกไปหน้าปากซอย เจออุบัติเหตุรถชนแล้ววินมอเตอร์ไซด์จากไหนไม่รู้มาช่วยกันโบกรถ ผมว่านี่เป็นน้ำในในช่วงวิกฤตได้แล้วนะ เราอาจเห็นภาพนี้จนชินตา แต่สิ่งเหล่านี้หาได้ยากในต่างประเทศ มันเป็นน้ำใจที่มีมุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมสะท้อนอยู่ด้วย”

สำหรับคนทางบ้านที่ยังลังเลไม่รู้จะถ่ายภาพอะไร คุณพี่สองคนมีข้อแนะนำอย่างไร

คุณฟี่ – “เริ่มถ่ายเลยแล้วกัน เข้าใจว่าถ้าคุณไม่ได้ทำงานในพื้นที่ ไม่คุ้นเคยกับบริบทมันอาจจะยาก แต่ผมคิดว่าพอเริ่มทำ คุณจะเห็นมุมมองบางอย่าง เรื่องของน้ำใจ ความช่วยเหลือ ประเทศนี้มีมากอยู่แล้ว ถ้าเริ่มหยิบกล้องออกไปถ่าย คุณอาจเชื่อมโยงมองเห็นความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้มีอยู่มากเหมือนกันนะ”

คุณปาล์ม – “หัวข้อนี้ไม่ได้ยากเกินไป แค่เราหยิบกล้องแล้วเดินออกจากบ้าน เราจะเห็นได้ว่ามนุษยรรมมันเกิดขึ้นรอบๆ ตัว สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัลคือโอกาสที่ช่างภาพชาวไทยจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องราวมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นจริงในประเทศของเรา ผ่านพื้นที่ของ ICRC เข้าสู่เวทีระดับโลก ผมมองว่ามันเป็นหนึ่งในงานเล็กๆ ที่ช่างภาพสามารถทำได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดี”

________________________________

หากคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ กลุ่มองค์กรกาชาดฯ เปิดรับสมัครภาพถ่ายในหัวข้อ ‘Kindness during crisis – ในวิกฤต มีน้ำใจ’ เพื่อชิงรางวัลมากมายจากเราและองค์กรพันธมิตร สามารถอ่านรายละเอียดและวิธีการสมัครได้ที่  t.ly/Nzjr

เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564