30 สิงหาคม 1945 โทรเลขฉบับแรกของ ICRC ถูกส่งออกจากฮิโรชิมะเพื่อบรรยายความเสียหายที่เกิดจากระเบิดปรมาณู

หลังโทรเลขถูกส่งออก มารเซล จูโน ผู้แทนของ ICRC เดินทางไปฮิโรชิมะแทบจะในทันที เขาเป็นคุณหมอชาวต่างชาติคนที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยในฮิโรชิมะหลังเหตุการทิ้งระเบิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 และนี่คือส่วนหนึ่งจากบันทึกประสบการณ์ตรงเมื่อ 75 ปี ก่อน

คุณหมอจูโนเป็นผู้แทนจาก ICRC ประจำโตเกียวและหัวหน้าสำนักงานคนใหม่ เขาเดินทางมาถึงโตเกียวในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 วันเดียวกับที่ระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ถูกทิ้งลงที่นางาซากิ คุณหมอใช้เวลาเดินทางจากยุโรปถึงสองเดือนและเพิ่งได้ยินชื่อเมื่อฮิโรชิมะเป็นครั้งแรกในวันนั้น

“ผมได้ยินชื่อเมืองฮิโรชิมะเป็นครั้งแรกพร้อมๆ กับคำว่าระเบิดปรมาณู มีคนบอกว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นน่าจะมาถึงหนึ่งแสน ผู้เสียชีวิตถูกเผาทั้งเป็นโดยรังสีความร้อน”

เนื่องจากข้อมูลในตอนนั้นเข้าถึงได้ยาก และคุณหมอใช้เวลาในช่วงแรกไปกับการเข้าเยี่ยมนักโทษสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกขังในญี่ปุ่น (ตามมาด้วยการประกาศยอมแพ้สงครามของจักรพรรดิโชวะในวันที่ 15 สิงหาคม 1945) คุณหมอเพิ่งมาทราบรายละเอียดความเสียหายอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 สิงหาคม ปีเดียวกัน เมื่อผู้แทนของ ICRC ในพื้นที่ ส่งโทรเลขสั้นๆ ที่บรรยายว่าฮิโรชิมะเสียหายมากมายขนาดไหน

“เมืองถูกทำลายเสียหายถึง 80% โรงพยาบาลทั้งหมดถูกทำลายหรือเสียหายอย่างหนัก โรงพยายาลฉุกเฉินสองแห่งมีสภาพเกินการบรรยาย ผลกระทบลึกลับของระเบิดทำให้เหยื่อหลายคนที่กำลังฟื้นตัวป่วยเป็นโรคร้ายแรง”

หลังได้รับโทรเลขแจ้งข่าว คุณหมอเดินทางไปถึงฮิโรชิมะในวันที่ 8 กันยายน 1945 พร้อมกับทีมงานของอเมริกาที่นำอุปกรณ์จำเป็นเข้าไปช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่

“เวลา 12 นาฬิกา เราบินมาถึงฮิโรชิมะ เพื่อเห็นความเสียหายแบบที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน ใจกลางเมืองถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าสีขาว ไม่มีอะไรเหลือเลย”

ฮิโรชิมะเป็นเมืองสำคัญในบริเวณนั้น เมืองที่ว่ามีทั้งท่าเรือการค้า โรงงานอุตสาหกรรมและที่ตั้งกองทหารรักษาการ จำนวนประชากรของฮิโรชิมะก่อนเหตุการณ์ทิ้งระเบิดอยู่ที่ราวสี่แสน คุณหมอและทีมงานช่วยเหลือชาวอเมริกันพยายามหาคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของระเบิด

“สัญญาณแรกของผลกระทบจากแรงระเบิดสามารถมองเห็นได้ห่างจากจุดทิ้งระเบิดประมาณสี่ไมล์ หลังคาของบ้านดูไม่เป็นระเบียบเนื่องจากกระเบื้องของพวกเขาถูกระเบิดออก หญ้าบนพื้นกลายเป็นสีขาวราวกับถูกความร้อนอย่างรุนแรง นักข่าวชาวญี่ปุ่นอธิบายให้ผมฟังว่าพืชผักและข้าวที่ปลูกอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของระเบิดมากถึงห้าหรือหกไมล์ได้สูญเสียสีเขียวทันทีหลังจากการระเบิด สีเขียวของต้นข้าวเพิ่งกลับมาหลังผ่านการระเบิดไปแล้ว 3-4 สัปดาห์ ในขณะที่พืชบางชนิดที่อ่อนแอกว่าล้มตายไป

สามไมล์จากศูนย์กลางของระเบิด บ้านถูกทำลายจนพังลงเหมือนกระดาษ หลังคาพังทลายลงอย่างสมบูรณ์ นี่คือภาพที่คุ้นเคยของเมืองที่ถูกทำลายด้วยระเบิด สองไมล์ครึ่งจากศูนย์กลางการระเบิด มีเพียงเสาและคานไม้เหลืออยู่ให้เห็น เหมือนว่าบ้านที่สร้างจากหินจะไม่ได้รับความเสียหาย สองไมล์จากศูนย์กลางการระเบิด บ้านทุกหลังถูกไฟไหม้ เหลืออยู่แค่โครงร่างของฐานรากและกองโลหะที่เป็นสนิม บริเวณนี้ดูเหมือนเมืองโตเกียวโอซาก้าและโกเบที่ถูกทำลายโดยระเบิด ในระยะหนึ่งไมล์จากศูนย์กลางการระเบิด สภาพดูแย่มาก ทุกสิ่งเหมือนถูกฉีกทึ้งออกไปราวกับใช้อำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่มีบ้านหรือต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว”

คุณหมอจูโนทำการสำรวจเพิ่มเติมในโรงพยาบาล:

“โรงพยาบาลฉุกเฉินถูกตั้งขึ้นในโรงเรียนเก่า หลังคาอาคารเรียนเต็มไปด้วยรูทำให้เม็ดฝนตกลงมาจนเจิ่งนองไปถึงห้องพักของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่พอจะมีกำลังอยู่บ้าง พาตัวเองย้ายไปอยู่ในมุมที่มีที่กำบัง ในขณะที่คนอื่นๆ ได้แต่นอนนิ่งคล้ายกำลังรอความตาย มีผู้ป่วยราว 84 คนในโรงพยาบาล พวกเขามีนางพยาบาลเพียง 10 ท่าน เด็กนักเรียนหญิงราว 20 คน อายุราว 12-15 อาสามาให้ความช่วยเหลือ ไม่มีน้ำไม่มีการติดตั้งสุขภัณฑ์ไม่มีห้องครัว

คุณหมอจากภายนอกท่านหนึ่งเดินทางมาเยี่ยมผู้ป่วยทุกวัน การดูแลทางการแพทย์สามารถทำได้แค่ขั้นพื้นฐาน เช่นการเปลี่ยนผ้าพันแผล มียาเหลืออยู่เพียงไม่กี่ขวด แผลส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษา ไม่มีผ้าพันแผลมากพอ มีแมลงวันนับพันตัวบินอยู่รอบๆ ทุกอย่างสกปรกอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ป่วยหลายรายต้องทนทุกข์ทรมานจากผลของกัมมันตภาพรังสีที่นำไปสู่การตกเลือดหลายครั้ง พวกเขาต้องการการถ่ายเลือด แต่ไม่มีผู้บริจาค ไม่มีแพทย์เพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ของกลุ่มเลือด ดังนั้นจึงไม่มีการรักษา”

สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อยในโรงพยาบาลของกาชาดซึ่งทนต่อแรงระเบิดและไฟไหม้ได้มากกว่า:

“อุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการทั้งหมดถูกระงับการใช้งาน ส่วนหนึ่งของหลังคาโรงพยาบาลโดนทำลายทำให้ลมและฝนสามารถพัดเข้ามาได้ แพทย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกผมว่ามีผู้ป่วยหลายพันคนถูกนำตัวเข้ามาในวันที่เกิดเหตุ หกร้อยคนเสียชีวิตเกือบจะในทันทีและถูกฝังไว้ในบริเวณใกล้กับโรงพยาบาล ปัจจุบันเหลือผู้ป่วยเพียงสองร้อยคน ไม่มีการถ่ายเลือดเนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจและผู้บริจาคก็เสียชีวิตหรือหายสาบสูญ

คุณหมอจูโน จากอนิเมชั่นเรื่อง Junod (2010)

คุณหมอจูโนบันทึกผลกระทบที่น่ากลัวเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในฮิโรชิมะ

-คุณหมอ 270 จาก 300 ท่าน เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

-คุณพยาบาล 1,654 จาก 1,780 ท่าน เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

เขาจบบันทึกด้วยการกล่าวย้ำว่าระเบิดเช่นนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้อีกต่อไป

“มันควรถูกแบนเช่นเดียวกับการใช้แก๊ซพิษในสงครามโลกครั้งที่ 1”

Reference: แปลและเรียบเรียงจากบทความ The Hiroshima disaster – a doctor’s account