75 ปีก่อน ในช่วงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม 2488 เครื่องบิน B-29 ได้ปล่อยอาวุธอันน่ากลัวที่คิดค้นขึ้นใหม่ใส่พื้นที่ของเมืองฮิโรชิมา

ระเบิดนิวเคลียร์ลูกดังกล่าวทำลายเมืองจนราบเป็นหน้ากลอง คร่าชีวิตผู้คน 70,000 คนในพริบตา และอีกกว่าหมื่นชีวิตบาดเจ็บสาหัส และในวันที่ 9 สิงหาคม ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ได้ทำลายตัวเมืองนางาซากิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 39,000 คน

นับแต่นั้นจนถึงปี 1950 มีผู้คนประมาณ 340,000 คน เสียชีวิตจากผลกระทบของการทิ้งระเบิดและความเจ็บป่วยอันมีสาเหตุจากการสัมผัสกับรังสีไอออไนซ์ ทั้งนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และสภากาชาดญี่ปุ่นเป็นประจักษ์พยานถึงความทุกข์ทรมานและความเสียหายที่มิอาจจินตนาการได้จากเหตุระเบิดดังกล่าว และได้จัดบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ใกล้จะสิ้นใจ รวมทั้งผู้เจ็บป่วยจากเหตุการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก

เหตุการณ์ระเบิดเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิเวียนมาครบรอบ 75 ปีแล้ว แต่ความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์กลับมีเพิ่มมากขึ้นในระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น โดยความถี่ของเหตุการณ์ทางทหารที่เกี่ยวข้องกับประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นและบางประเทศก็มีท่าทีคุกคามอย่างชัดเจน

Atomic Bomb Dome หรืออาคารอะตอมมิคบอมบ์ ก่อนการทิ้งระเบิด

Atomic Bomb Dome หรืออาคารอะตอมมิคบอมบ์ ก่อนการทิ้งระเบิด

Atomic Bomb Dome หรืออาคารอะตอมมิคบอมบ์ หลังการทิ้งระเบิด ตัวอาคารก่อปูนแบบตะวันตก ทำให้ไม่ถูกทำลายลงทั้งหลัง เหลือเป็นโรครงสร้างให้ย้อนรำลึกถึงอดีต

Atomic Bomb Dome หรืออาคารอะตอมมิคบอมบ์ หลังการทิ้งระเบิด

นอกจากนี้ ข้อตกลงเพื่อกำจัดคลังสรรพาวุธฉบับปัจจุบันยังถูกเพิกเฉย เห็นได้จากการคิดค้นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชีวิตผู้คนทั่วโลกต้องตกท่ามกลางอันตรายจากการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ ๆ ซึ่งการคิดค้นพัฒนาอาวุธเหล่านี้คือสาเหตุทำให้ประชาคมระหว่างประเทศจำต้องพยายามห้ามและกำจัดอาวุธซึ่งมิอาจยอมรับได้โดยด่วน จากหลักฐานที่มิอาจโต้แย้งได้ของผลกระทบอันรุนแรงจากอาวุธเหล่านี้ทำให้เกิดการเคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศดังกล่าวจะปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้จริงหรือไม่

ความน่ากลัวของระเบิดนิวเคลียร์ อาจรู้สึกเหมือนเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ ณ วันนี้ ความเสี่ยงที่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกนำมาใช้อีกครั้งมีค่อนข้างสูง สนธิสัญญาเพื่อลดคลังสรรพาวุธนิวเคลียร์และความเสี่ยงจากการเพิ่มจำนวนอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วถูกเพิกเฉยทั้งยังมีการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ชนิดใหม่ขึ้นมาและมีการข่มขู่คุกคามอย่างร้ายแรงด้วย นั่นคือการแข่งขันทางอาวุธ และเป็นการแข่งขันที่น่าหวาดกลัว เราจึงต้องผลักดันให้ประเทศต่างๆ ห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์และจะต้องผลักดันให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองเปิดเวทีเจรจาถึงแนวทางในการก้าวไปสู่การกำจัดอาวุธเหล่านี้” ปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กล่าว

 “ประชาคมระหว่างประเทศอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้ครบทุกคนหลังเกิดเหตุระเบิด อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยจากรังสีที่ขยายวงกว้าง ความสามารถในการผลิตอาหารที่ลดลง ตลอดจนการทำลายล้างและการปนเปื้อนจำนวนมหาศาล เหล่านี้จะทำให้การตอบสนองด้านมนุษยธรรมนั้นไม่เพียงพอ ไม่มีประเทศใดมีความพร้อมรับมือกับภัยจากอาวุธนิวเคลียร์” ฟรานเซสโก รอคคา ประธานสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) กล่าว

ศาลาประจำจังหวัดฮิโรชิมา ก่อนการทิ้งระเบิด

ศาลาประจำจังหวัดฮิโรชิมา ก่อนการทิ้งระเบิด

ศาลาประจำจังหวัดฮิโรชิมา หลังการทิ้งระเบิด ตัวอาคารหายไปทั้งหมด เหลือแค่รั้วโดยรอบซึ่งทำมาจากปูน

ศาลาประจำจังหวัดฮิโรชิมา หลังการทิ้งระเบิด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระตุ้นให้โลกของเราปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ 122 ประเทศทั่วโลกจึงได้ร่วมกันรับรองสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 โดยสนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลผูกพันตามกฎหมายสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่ได้ให้สัตยาบันครบ 50 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 40 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว และสนธิสัญญาฉบับนี้ห้ามไม่ให้มีการพัฒนา ทดสอบ ผลิต เก็บรักษา ขนส่ง รวมทั้งนำมาใช้คุกคามข่มขู่ ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่เข้าร่วมสนธิสัญญาฉบับนี้นั้น ทางสนธิสัญญาก็ได้กำหนดกรอบเวลาการกำจัดโครงการอาวุธนิวเคลียร์ไว้ด้วย

นายเมาเรอร์และนายรอคคาได้กล่าวยกย่องประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมรับรองสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือร่วมรับรองด้วย เพื่อให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2488 ไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งสองกล่าวว่า สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ฉบับนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่สำคัญ

นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น ไม่มีครั้งใดที่เร่งด่วนกว่าครั้งนี้ที่จะต้องกระตุ้นให้เห็นถึงผลของภัยพิบัติและพื้นฐานสำคัญของความไร้ซึ่งมนุษยธรรมของอาวุธนิวเคลียร์ เราจะต้องสื่อสารออกไปอย่างชัดแจ้งและปราศจากความคลุมเครือว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้น ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม ถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ทั้งในแง่มนุษยธรรม ศีลธรรม และกฎหมาย” นายรอคคากล่าว

ทั่วโลกมีระเบิดนิวเคลียร์มากกว่า 14,000 ลูก ระเบิดหลายพันลูกพร้อมที่จะถูกยิงออกไปในทันที พลังของหัวรบอาวุธเหล่านี้รุนแรงกว่าอาวุธที่ถูกทิ้งถล่มเมืองนางาซากิและฮิโรชิม่าเป็นสิบ ๆ เท่า

เรามิอาจมองอาวุธที่เป็นหายนะและไร้ซึ่งมนุษยธรรมอย่างสนิทใจว่าเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยได้” เมาเรอร์กล่าวปิดท้าย

 

เนื่องในโอกาสนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ ได้ร่วมกับศูนย์ศึกษากฎหมายญี่ปุ่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาออนไลน์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ “ความทรงจำของการทิ้งระเบิดปรมาณูปี 1945-หลากแง่มุมในวรรณกรรม สื่อสาร มวลชน และ กฎหมาย”  เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 1945.

 

รับชมงานเสวนาออนไลน์ (ภาษาไทย) วันที่ 6 สิงหาคม 2563 เวลา 19.00 นาฬิกา ผ่านทางเฟสบุคของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศที่ https://www.facebook.com/icrcth/