การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ภัยคุกคามอันห่างไกล แต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว และทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงและภัยพิบัติอยู่บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เกิดการสูญเสียชีวิตและสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวง ทำให้ครอบครัวหลายครอบครัวต้องหนีออกจากบ้านเรือนของตน และยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและการดำรงชีพด้วย วิกฤติสภาพภูมิอากาศจึงถือเป็นวิกฤติด้านมนุษยธรรม และราคาที่ต้องจ่ายจากการไม่ลงมือทำอะไรเลยก็ยิ่งน่าตกตะลึง ทั้งนี้ หนทางที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีเพียงการกระตุ้นหนุนเสริมให้มีการนำเอามาตรการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาใช้ร่วมกันในวงกว้างเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ไฟป่าในออสเตรเลีย พายุไซโคลนรุนแรงพัดถล่มในบาฮามาส ปรากฎการณ์ “ดีซูด” หรือสภาพอากาศหนาวเย็นรุนแรงที่ปกคลุมมองโกเลีย ไปจนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมและโคลนถล่มในแอฟริกาตะวันออก… เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ถือเป็นสิ่งยืนยันให้เราเห็นถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มิได้เป็นเพียงภัยอันตรายและสร้างความวิตกกังวลต่ออนาคตร่วมกันของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดซึ่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่จะสร้าง หายนะต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกนับล้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก และผู้สูงอายุ แม้ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่

ในทศวรรษนี้เพียงทศวรรษเดียว มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอาจเพิ่มจำนวนผู้เดือดร้อนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศมากถึงครึ่งหนึ่ง โดยภายในปี  2573 ผู้คนมากกว่า 150 ล้านคน อาจต้องพึ่งพาระบบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ปัจจุบันก็ใกล้จะถึงขีดจำกัดอยู่แล้ว และภายในปี 2593 จำนวนผู้เดือดร้อนทั้งหมดอาจจะมีมากถึง 200 ล้านคนในแต่ละปีก็เป็นได้

ตัวเลขอันน่าตกใจดังกล่าวมาจากรายงานเรื่อง “The Cost of Doing Nothing” (หายนะจากการไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง) ซึ่งเราจัดทำขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา โดยสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (ไอเอฟอาร์ซี) ได้นำเอาวิธีการที่ธนาคารโลก (World Bank) ใช้ในการคาดคะเนระดับความยากจนและการเติบโตของประชากร มาเป็นเครื่องมือประเมินค่าใช้จ่ายที่เป็นไปได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในการสนองตอบความต้องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ จากนั้นจึงนำเอาตัวเลขรายได้ดังกล่าวมาทำเป็นแผนที่เทียบกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากการเปลี่ยรแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวเลขเหล่านั้น นอกจากจะน่าตกใจแล้ว ยังพบว่ามีน้อยกว่าจำนวนจริงอยู่อย่างมาก เนื่องจากการคำนวณจำนวนผู้เดือดร้อนที่อาจต้องการความช่วยเหลือนั้น ไม่ได้นำเอาตัวเลขประชากรผู้มีรายได้มากกว่า 10 เหรียญสหรัฐต่อวันมาคำนวณไว้ด้วย และการประเมินก็ดูเฉพาะตัวเลขค่าใช้จ่ายของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ตัวเลขที่ได้ก็แสดงให้เห็นด้วยว่า สภาพความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นต่อมวลมนุษย์อย่างมโหฬาร จะมาพร้อมกับราคาค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินจำนวนมหาศาลด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พายุ ภัยแล้ง และไฟป่า คาดว่า ภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือเกือบสองเท่าของความต้องการทางการเงินในปัจจุบัน

คนยากคนจนได้รับผลกระทบมากกว่าใคร

กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากสุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือกลุ่มคนยากคนจน เช่น กลุ่มคนชายขอบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุอย่างหนัก นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความพร้อมหรือไม่สามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาหรือทางออกที่ยั่งยืน เช่น ไม่สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นหรือย้ายไปอยู่ที่อื่นที่มีความปลอดภัยกว่า ดังนั้น สถานการณ์ภัยพิบัติจึงทำให้ภาวะความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันจะยิ่งเพิ่มขยายและยืดเยื้อต่อไปอีก นอกจากนั้นกลไกการคุ้มครองทางสังคมก็อ่อนแอลง รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงทางเพศสภาพก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นสำคัญ เมื่อเกิดสถานการ์สภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้และอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับภาวะแรงกดดันมากขึ้นไปอีก สภาวะอากาศสุดขั้วและภัยพิบัติรุนแรงถือเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ในปัจจุบันก็มีไม่เพียงพออยู่แล้วจะยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม อีกทั้ง ปัญหาการเข้าไม่ถึงการถือครองที่ดินและการศึกษา ตลอดจนภัยคุกคามต่อทั้งร่างกายและความปลอดภัยของผู้หญิง ดังกล่าวผสมรวมกันทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง รวมถึงคนอื่นๆ เช่น คนพิการหรือผู้สูงอายุ และคนกลุ่มน้อยทางเพศสภาพและเพศวิถีอันแตกต่างหลากหลายยิ่งยากลำบากไปกว่าเดิม

ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ได้ออกรายงานมาฉบับหนึ่ง โดยพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการค้ามนุษย์ เพศธุรกรรม และความรุนแรงทางเพศและเพศสภาวะ ทั้งหมดกำลังทวีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทิศทางที่เชื่อมโยงโดยตรงกับภาวะความตึงเครียดด้านทรัพยากรที่เกิดจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งวิธีการหรือหนทางต่างๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศสภาวะและการป้องกันความรุนแรงทางเพศและเพศสภาวะเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ได้มีการนำเสนอไว้ในรายงานการศึกษาของไอเอฟอาร์ซี (IFRC) ซึ่งวิเคราะห์จากกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเอกวาดอร์ เนปาล และซิมบับเว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องลงมือมากกว่านี้ ในการที่จะทำความเข้าใจ ตลอดจนทำให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะสามารถสนองตอบความต้องการที่แตกต่างกันไปของผู้คนที่จำต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ จนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองในด้านต่างๆ และความพยายามของเรานั้นจะต้องมาจากข้อมูลมุมมองอันหลากหลายด้วยเช่นกัน

ลดความเสี่ยงตั้งแต่วันนี้

เครือข่ายไอเอฟอาร์ซี ซึ่งประกอบด้วยสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงจำนวน 192 ประเทศ และอาสาสมัครภาคพื้นสนามกว่า 14 ล้านคน มีความมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตการดำเนินการในประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศให้ครอบคลุมทั่วโลก โดยหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายมีความพยายามที่จะลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ และได้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ทั้งก่อนหน้า ระหว่าง และหลังเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติ ตลอดจากมีการให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ นี่คือการใช้มาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบต่างๆ จากแรงกระแทกอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน อันเป็นการแก้ไขปัญหาให้เหมาะกับสถานการณ์ในท้องถิ่น

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เครือข่ายไอเอฟอาร์ซีได้ลงทุนด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติมากขึ้นถึง 4 เท่า โดยเมื่อปี 2561 ได้มีการลงทุนมากถึง 207 ล้านฟรังก์สวิส ทำให้สามารถเข้าถึงผู้คน 52 ล้านคนใน 160 ประเทศ ปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนว่า เครือข่ายไอเอฟอาร์ซีเป็นหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติมากที่สุดในโลก และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานเซนได (Sendai) เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญระดับนานาชาติในด้านนี้ นอกจากนี้ ไอเอฟอาร์ซียังทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายภัยพิบัติ โดยสนับสนุนหน่วยงานสาธารณะให้มีกรอบการกำกับดูแลภายในประเทศที่จะสามารถเป็นแนวทางนำมาใช้ในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนองตอบความต้องการของผู้เดือดร้อนอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ระหว่างการประชุมนานาชาติของสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงครั้งล่าสุด รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาเจนีวาและสภากาชาด/สภาเสี้ยววงเดือนแดง 192 ประเทศ มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองยืนยันข้อผูกพันของตนต่อ “กฎหมายและนโยบายภัยพิบัติที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และตระหนักถึงความสำคัญของการบูรณาการการคุ้มครองและการรวมเอากลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเปราะบางหรือสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเข้าไว้ในกฎหมายและนโยบายภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องด้วย

เป้าหมายในปี 2563 คือการทำให้โครงการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไอเอฟอาร์ซีสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อให้มีผู้คนได้รับความปลอดภัยมากถึง 100 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ แต่เราเองก็ตระหนักดีว่า การเพิ่มจำนวนกิจกรรมในปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอ

ก้าวล้ำกว่าใครด้วย “โครงการรับมือสภาพภูมิอากาศอย่างชาญฉลาด”

เครือข่ายไอเอฟอาร์ซีมุ่งมั่นที่จะให้มีการนำเอาวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศมาปฏิบัติใช้ในแผนการดำเนินงานด้าน “การรับมือกับสภาพภูมิอากาศอย่างชาญฉลาด” ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่ออกแบบมาเพื่อพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิอากาศในอนาคตและที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น การรับมือกับสภาพภูมิอากาศอย่างชาญฉลาด หมายถึงการทำให้ผู้คนสามารถคาดการณ์ ซึมซับ และปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบและภาวะความเครียดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาต่างๆ และการพิจารณาถึงภูมิทัศน์และระบบนิเวศให้เป็นพื้นที่สำคัญของการดำเนินการ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว นี่หมายถึง การดำเนินการล่วงหน้าก่อนเกิดผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศอันรุนแรง และเป็นการทำให้ผู้คนได้รับความปลอดภัยจากอันตราย มากกว่าการให้ความช่วยเหลือหรือการรับมือด้านมนุษยธรรมในภายหลัง

กลไกการระดมทุนเพื่อการดำเนินการล่วงหน้า ซึ่งกลไกเพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ ผ่านกองทุนฉุกเฉินเพื่อบรรเทาภัยพิบัติของไอเอฟอาร์ซี ในการช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวผู้เลี้ยงสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะฤดูหนาวรุนแรงในมองโกเลีย จะทำหน้าที่เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิเพื่อดำเนินการก่อนภัยพิบัติที่คาดการณ์ไว้จะเกิดขึ้นนั้น ว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง

การขยายขอบเขตการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศของไอเอฟอาร์ซีนั้นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ แต่บ่อยครั้งที่พบว่า การทำงานประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศนั้น หน่วยงานด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาหลายหน่วยงานมักจะทำงานในลักษณะไซโล หมายถึงการมุ่งทำงานแต่ในส่วนของตนเองและขาดการประสานที่ดีระหว่างกัน ทั้งที่หน่วยงานทั้งหมดต่างพยายามดำเนินการเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนกัน สิ่งนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ความร่วมมือเพื่อการดำเนินการโดยคำนึงถึงความเสี่ยงล่วงหน้า (Risk-Informed Early Action PartnershipREAP) มีวัตถุประสงค์ที่จะพลิกเปลี่ยนแนวโน้มดังกล่าวนี้ โดยมีการเปิดตัวความร่วมมือดังกล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Climate Action Summit) เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา และสามารถรวบรวมพันธมิตรจากกว่า 25 ประเทศ เพื่อมาร่วมกันประสานงานและดำเนินการตามมาตรการที่ออกแบบมาให้คุ้มครองป้องกันผู้คนจากความเสี่ยงและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในระดับสูงสุด ไอเอฟอาร์ซีได้ให้การสนับสนุนการออกแบบและพัฒนาความร่วมมือในครั้งนี้ และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า การลงทุนด้านการเตือนภัยล่วงหน้าและการดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบได้มากที่สุด

ต้องขยายขนาดการดำเนินการโดยด่วน

การขยายขนาดของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและจะต้องอาศัยความพยายามอย่างมากและมีประสานงานความพยายามร่วมกัน ปัจจุบัน ชุมชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนที่จะนำมาดำเนินกิจกรรมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพยายามในการดำเนินการก็ไม่ค่อยจะครอบคลุมประเด็นด้านการเตรียมการสำหรับความเสี่ยงใหม่ๆ จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ รัฐบาล ผู้ให้ทุน และเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุเองก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ด้านการคาดการณ์อย่างเต็มที่ในการดำเนินการในระดับชุมชนให้ทันเวลาก่อนที่เหตุการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้น

มีการดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อจัดการและปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ แต่การทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยนั้นยังไม่ดีพอ เราต้องทำมากกว่านี้ จะต้องทำเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีหุ้นส่วนความร่วมมือมากขึ้น และต้องทำในระดับหรือขนาดที่ใหญ่ขึ้น เราจำเป็นต้องกระตุ้นความคิดและนวัตกรรมในท้องถิ่น แล้วขยายความคิดและนวัตกรรมดังกล่าวไปทั่วโลก ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงหลายคนคือคนที่อยู่แนวหน้า พวกเธอได้ริเริ่มดำเนินการหลายอย่างที่สามารถนำมาปรับปรุงชีวิตและการดำรงชีพและเพิ่มสมรรถภาพในการฟื้นตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกได้แล้ว เราจะต้องตระหนักถึงความเชี่ยวชาญ การหนุนเสริม รวมทั้งการสนับสนุนโครงการพื้นบ้านที่นำไปสู่การแก้ปัญหาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน

วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกี่ยวข้องกับอนาคตของโลกของเราเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีชีวิตและการดำรงชีพของผู้คนเป็นเดิมพัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเพิ่มมาตรการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ The future is now: time to scale up climate mitigation and adaptation measures