*SPOILERS* ยิงวัว ช่วยศัตรู ทุ่งศพทหาร หาก 1917 เกิดขึ้นในปัจจุบัน ฉากไหนในหนังที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ?

บทความ / บล็อค

*SPOILERS* ยิงวัว ช่วยศัตรู ทุ่งศพทหาร หาก 1917 เกิดขึ้นในปัจจุบัน ฉากไหนในหนังที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ?

เมื่อพูดถึงหนังสงครามหลังศตวรรษที่ 20 ไม่ต้องสงสัยว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเหตุการณ์ที่ถูกนำมาเล่าซ้ำบ่อยที่สุด ไม่บ่อยนักที่ภาพลักษณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกจับมาเป็นประเด็นในหนังเรื่องเด่นที่กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก

1917 ของผู้กำกับ แซม เมนเดส บอกเล่าความสิ้นหวังของการรบในสนามเพลา ผ่านการต่อสู้ที่ดูเหมือนจะไร้ความหมาย และความไม่รู้ของสองตัวละครหนุ่มที่ได้รับหน้าที่สำคัญ นำจดหมายไปส่งเพื่อยกเลิกปฎิบัติการที่อาจนำมาซึ่งความตายของทหารอีกหลายพัน

หลายคนตั้งข้อสงสัย ถ้าเรื่องนี้เกิดในปัจจุบัน หนังคงจบตั้งแต่ 5 นาที เพราะมีโซเชียลมีเดียและวิธีติดต่อสื่อสารมากมาย แต่ถ้าว่ากันด้วยกฎหมาย การกระทำของตัวละครในเรื่อง ฉากไหนและเหตุการณ์ใด จะถูกตีความเข้าข่ายละเมิดกฎแห่งสงครามได้บ้าง?

#ฆ่าวัวได้ไหม? “ใครมันบ้าฆ่าวัวทิ้งระหว่างทาง?” “ก็ทหารเยอรมันที่มีลูกกระสุนมากเกินไปไงล่ะ” บทสนทนาสั้นๆ ที่เหล่าทหารหนุ่มอังกฤษพูดคุยกันหลังเห็นซากโรงนาและวัวจำนวนมากนอนเกลื่อนกลานอยู่กลางทุ่ง การทำลายทรัพย์สินของพลเรือนโดยไม่เพิ่มความได้เปรียบทางการทหารถือว่าผิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ระหว่างการเดินทางของทหารหนุ่ม เราเห็นบ้านเรือนถูกทำลาย ต้นไม้โดนตัดเกลี้ยง สัตว์เลี้ยงไม่มีเหลือ น่าสนใจว่าการกระทำเหล่านี้เป็นไปเพื่อตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม ลดความได้เปรียบทางการรบจริงหรือไม่ (ยกตัวอย่างเช่น การใช้เนื้อวัวเป็นเสบียง หรือการใช้สิ่งก่อสร้างเป็นป้อมสังเกตการณ์) ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรม การทำลายทรัพย์สินของพลเรือน จะทำได้ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินนั้นถูกยึดครองเพื่อใช้ในจุดประสงค์ทางการทหาร หรือมีข้อพิสูจน์ชัดว่า การปล่อยทรัพย์สินต่างๆ ไว้ จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีข้อได้เปรียบสำคัญสำหรับการรบ

#ช่วยเหลือศัตรูถูกหรือผิด? หนึ่งฉากประทับใจในหนัง คือการร่วมมือกันของทหารอังกฤษเพื่อช่วยชีวิตนักบินเยอรมัน ที่บังเอิญถูกยิงเครื่องบินตกอยู่ตรงหน้า ฉากนี้น่าสนใจ เพราะฝ่ายเยอรมันมีท่าทีขอความช่วยเหลืออย่างชัดเจน แต่หลังได้รับการช่วยเหลือจนปลอดภัย ทหารเยอรมันกลับพุ่งมีดและมอบความตายให้ฝ่ายอังกฤษในเวลาต่อมา การแสดงทีท่าขอความช่วยเหลือ อาจตีความได้ว่าฝ่ายตรงข้ามขอประกาศยอมแพ้และเปลี่ยนฐานะจากพลรบเป็นนักโทษสงครามหรือเชลยศึก ซึ่งได้รับความคุ้มครองใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การใช้สถานะยอมแพ้เพื่อลวงข้าศึกแบบที่เกิดขึ้นในหนัง ถือว่าผิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

#การเก็บศพทหารหลังการปะทะสามารถทำได้หรือไม่? ปฎิเสธไม่ได้ว่าภาพสนามเพลาและศพทหาร ทำให้เรื่องราวการเดินทางของสองตัวละคร กลายเป็นเส้นทางที่เรียกความสนใจให้คนดูได้ในตลอด 2 ชั่วโมง ในความเป็นจริง หากการรบที่ว่าเกิดขึ้นในปัจจุบัน ฝ่ายขัดแย้งมีข้อผูกพันธ์ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งจากฝั่งพลเรือนและทหาร ร่างผู้เสียชีวิตจะต้องได้รับการค้นหา เก็บรวบรวม และนำออกจากสนามรบเพื่อส่งคืนครอบครัวเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ส่วนเหตุที่หลักการนี้ไม่ได้ถูกปฏิบัติในหนัง เป็นเพราะเหตุการณ์ปี 1917 เกิดขึ้นก่อนอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่เรารู้จักกันจะถูกปรับให้เข้ากับความเป็นจริงของสงคราม คือหลังการรบจบลงในสงครามโลกครั้งที่ 2 (อนุสัญญาเจนีวา 1949)

แบ่งปันบทความนี้