ถาม-ตอบ เรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

บทความ / บล็อค

ถาม-ตอบ เรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

ทำไมการทำลายทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในระหว่างความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

ผลกระทบของสงครามและความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ไกลเกินกว่าโศกนาฏกรรมแบบที่เราคุ้นเคย ความเสียหายกินความหมายถึงสิ่งต่างๆ ทั้ง พิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์หรือแหล่งโบราณคดี – เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์และความทรงจำของผู้คนในท้องที่  การโจมตีทรัพย์สินทางวัฒนธรรมเป็นมากกว่าการทำลายอิฐ ไม้ หรือ ปูน แต่เป็นการทำลายศักดิ์ศรีและอนาคตของประชากรทั้งหมด

ในปี 2016 ICRC สอบถามประชากร 17,000 คน จาก 16 ประเทศ กว่า 72% เชื่อว่าการโจมตีศาสนสถานและอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อทำลายขวัญกำลังใจ หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอเป็นเรื่องรับไม่ได้ ตัวเลขนี้พุ่งสูงขึ้นถึง  84% เมื่อสอบถามในกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง ผลการสำรวจนี้ย้ำเตือนให้เห็นว่าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมจำเป็นต้องได้รับการเคารพและปกป้อง ในขณะที่นโยบายรัฐหรือแนวทางปฎิบัติของกลุ่มติดอาวุธกลับไม่ครอบคลุมถึงประเด็นดังกล่าว

อะไรคือทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ กฎแห่งสงคราม ให้คำจำกัดความทรัพย์สินทางวัฒนธรรมว่า เป็นทั้งสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยทรัพย์สินเหล่านี้จะต้องมีความหมายทางประวัติศาสตร์ต่อคนทุกคน โดยอาจเป็นอนุสรณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือสถาปัตยกรรม แหล่งโบราณคดี งานศิลปะ หรือกระทั่งหนังสือ

เกณฑ์ในการวัดว่าสิ่งไหนใช่หรือไม่ใช่ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม มาจากคุณค่าที่ตกทอดมาจากอดีต ว่าต้องมีความสำคัญเป็นที่ประจักษ์ ใช่ว่าโบสถ์ทุกหลังหรืออนุสาวรีย์ทุกแห่งจะได้รับการคุ้มครองตามหลักการนี้อย่างไรก็ดีการตัดสินว่าสิ่งใดเป็นหรือไม่เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องยากและซับซ้อน ซึ่งหากไม่เข้าข่าย กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ก็เป็นอีกกลไกที่ให้ความคุ้มครองสถานที่เหล่านี้ในฐานะทรัพย์สินของพลเรือน

กฎแห่งสงครามกล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

กฎแห่งสงครามกำหนดให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งมีหน้าที่ร่วมกันในการเคารพและปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ห้ามไม่ให้มีการโจมตีหรือใช้ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร เว้นว่าจะมีความจำเป็นทางการทหารอย่างยิ่งยวด ยิ่งไปกว่านั้นบุคคลที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งไม่สามารถเข้ายึด ปิดล้อม หรือเข้าทำลายทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยเจตนา และต้องหยุดยั้งการโจรกรรมปล้นสะดมหรือการ ก่อกวนในสถานที่ดังกล่าว

นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎทั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินการสู้รบ ทุกฝ่ายยังต้องให้การระมัดระวังเป็นพิเศษต่อการปฎิบัติการทางการทหารเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เพราะแม้จะเป็นความเสียหายที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่การทำลายทรัพย์สินทางวัฒนธรรมหมายถึงความเสียหายที่กระทบชุมชนและคนรุ่นหลังอย่างถาวร

การคุ้มครองทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในความขัดแย้งทางอาวุธนั้นถูกระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงอนุสัญญากรุงเฮกเมื่อ พ.ศ. 2497 ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางอาวุธและพิธีสารทั้งสองของอนุสัญญาเจนีวาปี 1949

สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรมจากความขัดแย้งทางอาวุธ

การปกป้องและเคารพทรัพย์สินทางวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อการเยียวยาชุมชนเมื่อความขัดแย้งทางอาวุธสิ้นสุดลง ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมช่วยรักษาศักดิ์ศรีของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในระยะยาว การรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมยังมีผลดีด้านการประนีประนอมและความสมานฉันท์หลังจากความขัดแย้งสิ้นสุดลง

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง ICRC กับ  United Nations Educational Scientific and Cultural Organization (UNESCO) ในปี 2016 เป็นหนึ่งในความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อผนึกกำลังในประเด็นดังกล่าว ความตกลงนี้กำหนดให้ ICRC และ UNESCO ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่อาจได้รับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางอาวุธ

สัญลักษณ์แสดงทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ได้รับการปกป้องจากอนุสัญญากรุงเฮก พ.ศ. 2497

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Protection of cultural property – Questions & answers

แบ่งปันบทความนี้