เวทมนตร์ดำ ซอมบี้ กับมังกร เรื่องเล่าขานจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21

บทความ / บล็อค

เวทมนตร์ดำ ซอมบี้ กับมังกร เรื่องเล่าขานจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21

เมื่อเดือนที่ผ่านมาพวกเราได้ร่วมฉลองวันครบรอบปีที่ 70 ของอนุสัญญาเจนีวา ข้าพเจ้าจึงประสงค์ที่จะสำรวจข้อท้าทายที่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นข้อท้าทายสมัยโบราณและร่วมสมัย ตลอดจนตามสภาพความเชื่อและการปฏิบัติ เพื่อการดังกล่าวพวกเราจึงจำเป็นต้องมองไปในอดีตและมุ่งสู่อนาคต แม้ว่าอนาคตจะไม่แน่นอนก็ตาม ตลอดระยะเวลาเจ็ดสิบปี พวกเราคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เชื่อมั่นว่าจะสามารถใช้กฎหมายพื้นฐานที่เรามีเพื่อเรียกร้องสิทธิและความคุ้มครองให้แก่มนุษยชาติในยามสงคราม

เวทมนตร์ดำ พลังคุ้มครองจาก IHL

เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าปฏิบัติภารกิจเป็นผู้แทนกฎหมายจาก ICRC ในปาปัวนิวกินี ข้าพเจ้าได้หารือกับรัฐมนตรีสาธารณสุขเพื่อยกร่างกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายกาชาด รัฐมนตรีผู้นั้นคือหัวหน้าเผ่าอาวุโสจากไฮแลนด์ (Highlands) ท่านได้กล่าวถ้อยแถลงไว้อย่างน่าสนใจว่า ความมุ่งหมายของกฎหมายฉบับดังกล่าว และเครื่องหมายกาชาดโดยทั่วไปนั้นก็เปรียบได้กับ “เวทมนตร์ดำ” สำหรับใครก็ตามที่มีศรัทธาและปกป้องรักษามันก็จะได้รับความคุ้มครองเช่นกัน สำหรับความเห็นนี้ ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้หยิบยกเหตุผลทางกฎหมายขึ้นมาโต้แย้งกับผู้กำหนดนโยบายท่านนี้ เพราะว่าข้าพเจ้าก็คล้อยตามเช่นเดียวกันว่าการเคารพเครื่องหมายกาชาดสามารถยังให้เกิดความคุ้มครอง ค่อนข้างคล้ายกับความเชื่อโบราณเกี่ยวกับเวทมนตร์ดำ (หรือเวทมนตร์ขาว) การมองด้วยมุมมองดังกล่าว ทำให้ข้าพเจ้าสามารถพูดคุยในกรอบที่คู่สนทนาของข้าพเจ้าสามารถเห็นภาพตามหรืออย่างน้อยก็รู้สึกสะดวกใจกว่า

ท่ามกลางบริบทโลกปัจจุบัน มีการกล่าวถึงจุดสิ้นสุดของระเบียบซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ (international rules-based order) หรือมีการอ้างว่ากฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ IHL ได้สูญเสีย “พลังวิเศษ” บางอย่างไป  จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าระเบียบซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งกฎเกณฑ์ที่มีมาหลายทศวรรษหรือเกือบศตวรรษยังคงสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันหรือไม่

ในหลายกรณีพวกเรา (ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ นักการทูต นักเรียน ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ) สมควรถูกกล่าวโทษสำหรับการใช้วาทกรรมที่เกือบจะเรียกได้ว่าสิ้นหวัง ด้วยการนำเสนอแต่เพียงด้านเดียวถึงการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้น โดยแสดงออกถึงความไม่พอใจและยังชี้ให้เห็นถึงความน่าละอายของความขัดแย้งในยุคปัจจุบัน แม้ว่าสิ่งที่กล่าวออกมาจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงก็ตาม พวกเราโกรธที่ความพยายามตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาในการบังคับใช้และการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายอาญาระหว่างประเทศล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พวกเรามัวแต่คร่ำครวญเพราะว่าไม่สามารถยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าในปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้แล้วที่โลกจะบรรลุฉันทามติร่วมกันในการกำหนดบรรทัดฐานใหม่

ถึงกระนั้นก็ตามพวกเราต้องระมัดระวังที่จะไม่มัวยึดติดอยู่กับการใช้หรือสนับสนุนการบรรยายเรื่องราวไปในแนวทางที่มีแต่จะสร้างความเสียหาย หากพวกเราจะกล่าวต่อสาธารณะถึงแต่สถานการณ์ที่ IHL ไม่ได้รับการเคารพ สาธารณชนเองก็ไม่ผิดที่จะเชื่อว่าระบบที่เราศรัทธานั้นก็เป็นเพียงแค่สัญญาแต่ลมปาก เวทมนตร์ที่ไม่มีคนศรัทธาก็เป็นเพียงเวทที่ไร้มนตร์

เพื่อรับมือกับข้อท้าทายนี้ ICRC ได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อ “เปลี่ยนแนวทางการบรรยายเรื่องราวของ IHL” แน่นอนว่าพวกเราไม่ได้มีภาพที่สวยหรู ในปัจจุบันพวกเราได้เป็นประจักษ์พยานถึงความทุกข์ทรมานอันเกินคณาที่เกิดขึ้นบนสนามรบ (โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ด้านระยะเวลา และกลุ่มติดอาวุธที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น) อีกทั้งยังตระหนักดีว่าสภาพการณ์ดังกล่าวเป็นสภาพที่ไม่สามารถยอมรับให้เกิดขึ้น แต่กระนั้นพวกเราก็ได้เป็นประจักษ์พยานถึงการปฏิบัติตาม การเคารพ และปรับใช้ IHL ในทุก ๆ วัน และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ร้อยพันการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็เกิดขึ้นทุก ๆ วัน แม้ในยามที่ตกต่ำที่สุด ฐานข้อมูล “IHL ในความเป็นจริง (IHL in Action)” จึงบันทึกกรณีศึกษาเหล่านี้ไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตาม IHL ทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการปฏิบัติตาม IHL กับการบรรเทาความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในภาคส่วนอื่น อาทิ การพลัดถิ่น งานศึกษาของ ICRC ชิ้นล่าสุดว่าด้วยการพลัดถิ่นในยามสงครามแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการเคารพปฏิบัติตาม IHL พวกเราได้ค้นพบองค์ประกอบสำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่มักเชื่อกันว่าไม่มีทางออก

กรณีตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารให้เห็นถึงประโยชน์ระยะสั้นและระยะยาวจากการเคารพ IHL ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการบรรยายเรื่องราวของ IHL ในภาพรวมได้ ผลการศึกษาของรายงานเรื่อง “รากแห่งความยับยั้ง (Roots of Restraint)” ยืนยันถึงความสำคัญของการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ถืออาวุธอันส่งเสริมให้เกิดการเคารพ IHL และยังวิเคราะห์ไปถึงสภาพเงื่อนไขที่มีส่วนกำหนดพฤติกรรมของทหารและพลรบภายใต้บรรทัดฐานทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  นอกจากนี้การทำความเข้าใจกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) (กระบวนการที่สังคมให้การยอมรับบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ) ตลอดจนเหตุผลทางการเมือง เชื้อชาติ เศรษฐกิจและสังคม อันเป็นตัวกำหนดการปฏิบัติของแต่ละฝ่ายในความขัดแย้ง ก็จะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงการดำเนินงานและประกันให้มีการเคารพ IHL ยิ่งขึ้น

แม้ว่าประเด็นของการละเมิดกฎหมายและความรับผิดจะเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับความสนใจ การปฏิบัติตาม IHL ในเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นบนสนามรบก็ควรได้รับความสนใจไม่แพ้กัน สิ่งที่สามารถกระทำได้คือการศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับประโยชน์ของการปฏิบัติตาม IHL หรือแม้กระทั่งการหาแนวทางที่แตกต่างในการบรรยายเรื่องราวดังกล่าว พวกเราต้องอาศัยกรณีตัวอย่างของการเคารพกฎหมายมาต่อยอดและนำความศรัทธาใน “เวทมนตร์” ของ IHL กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อคุณเคารพกฎหมาย กฎหมายก็จะคุ้มครองคุณ

ซอมบี้ วาทกรรมลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization discourse)

ข้อท้าทายอีกประการหนึ่งที่พบในปัจจุบันคือการใช้วาทกรรมลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ก่อการร้าย ไม่ควรค่าที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานอันเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ พวกเราได้เปลี่ยนสภาพผู้ที่ก่อการร้าย “ลดทอนความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาจนกลายเป็นซอมบี้ที่มีลักษณะเป็นมนุษย์ แสดงออกเป็นมนุษย์ แต่กลับไม่ใช่มนุษย์ดังสภาพที่เห็น แต่เป็น “ศพที่มีชีวิต”

วรรณกรรมมากมายเล่าถึงซอมบี้ อีกทั้งยังมีประวัติอันยาวนานเกี่ยวกับซอมบี้ ทั้งนิทานพื้นบ้านวูดู (Voodoo) ในแถบคาริบเบียนตลอดจนนวนิยายแนววิทยาศาสตร์เรื่องแฟรงเกนสไตน์ หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีซีรี่ส์​สยองขวัญชื่อดัง “The Walking Dead” เกี่ยวกับการเอาตัวรอดของกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการทำร้ายโดยซอมบี้ องค์ประกอบของละครเรื่องนี้สร้างความกังวลเกี่ยวกับตัวตนของ “ศัตรู” ที่ถูกทำให้เลือนราง ไม่ว่าจะเป็นศัตรูในร่างของเด็กเล็ก สตรี หรือตัวละครที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในสนามรบมาก่อน มีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรง

ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราได้ประสบกับการที่บรรดาผู้นำหยิบยกวาทกรรมมาใช้เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายศัตรู (dehumanize) อีกทั้งยังใช้วาทกรรมเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจ (demonize) การกระทำเช่นนี้ทำให้บุคคลที่ถูกตีตราว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ถูกมองว่าไม่สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองภายใต้ IHL เป็นที่น่าเสียดายว่าแนวโน้มของการกระทำเช่นนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย การตัดสินใจที่จะ “ไม่พาพวกเขากลับบ้าน” หมายถึงการพาบรรดานักรบต่างชาติ (foreign fighters) รวมไปถึงสมาชิกครอบครัว (เยาวชนที่ตกเป็นผู้กำพร้าหลังเขตแดนต่อสู้) กลับบ้าน แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมและการทำให้แปดเปื้อน

ในการหาจุดสมดุลระหว่างความมั่นคงและความจำเป็นทางด้านมนุษยธรรม เราสามารถสังเกตได้ว่ามีการปรับใช้กฎหมายโดยให้ความสำคัญกับเหตุผลด้านความมั่นคง พร้อมกับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความคุ้มครองตามกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในยามสงคราม ผู้สนับสนุนทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับเหตุผลด้านความมั่นคงอาศัยข้อโต้แย้งที่ว่าบุคคลที่ถูกชี้ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ไม่สมควรได้รับความคุ้มครองตาม IHL เพื่อเป็นข้ออ้างในการต่อกรกับผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร้ข้อจำกัด หากพิจารณาตาม IHL แล้วการกำหนดสถานะกลุ่มว่าเป็น “องค์กรก่อการร้าย” หรือมีการกระทำที่เป็น “การก่อการร้าย” ไม่มีผลต่อการบังคับใช้และการปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพราะว่า IHL กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงพันธกรณีที่มีต่อบุคคลที่มีสถานะเป็น “ผู้ซึ่งถูกกันออกจากการต่อสู้ (hors de combat)” แม้ว่าผู้นั้นจะถูกชี้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายก็ตาม IHL ยังมีผลบังคับใช้กับบุคคลดังกล่าวโดยไม่มีข้อยกเว้น

ในขณะปฏิบัติภารกิจทางด้านมนุษยธรรมอย่างใกล้ชิดกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ICRC เป็นประจักษ์พยานในสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ “นักรบต่างชาติ (foreign fighters)” ตลอดจนสมาชิกครอบครัว พวกเราพบว่ามีการใช้มาตรการด้านความมั่นคงหลายรูปแบบต่อ “นักรบต่างชาติ” ซึ่งมักรวมไปถึงมาตรการณ์ที่มีลักษณะเป็นการจำกัดอิสรภาพ และยังพบว่ามาตรการเหล่านั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ มีสภาพที่ไร้มนุษยธรรม หรือการดำเนินคดีโดยไม่สอดคล้องกับหลักประกันพื้นฐานด้านการพิจารณาคดี จึงสร้างความห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการดังกล่าวที่มีต่อกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น เด็กและมารดา ตลอดจนผู้พิการ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายที่มีต่อการดำเนินงานทางด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลาง การใช้มาตรการดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อความไว้วางใจ (fiduciary) กฎหมาย/การปฏิบัติตามกฎหมาย (legal/compliance) อาญา หรือชื่อเสียง แน่นอนว่ารัฐมีความชอบธรรมในการรักษาความมั่นคงและการขจัดการก่อการร้าย อย่างไรก็ดี มาตรการที่ใช้ในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะกฎหมายและมาตรการบังคับที่ใช้ในการต่อต้านการก่อการร้าย มีลักษณะกำหนดความผิดทางอาญาหรือจำกัดความสามารถในการดำเนินงานทางมนุษยธรรมของพวกเรา

การปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบก็คือการเดินทางข้ามแนวหน้าของกองทัพเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตภายใต้อำนาจของกลุ่มติดอาวุธและบุคคลที่ถูกกำหนดสถานะให้เป็นผู้ก่อการร้าย มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อภารกิจในการเข้าเยี่ยมบุคคลที่ถูกกักขังโดย “ฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม” การเก็บกู้ซากศพ การอบรมความรู้ด้าน IHL ให้กับกลุ่มติดอาวุธ อำนวยความสะดวกให้แก่การปล่อยตัวและการแลกตัวผู้ต้องกักขัง โดยสรุปแล้วความสามารถในการดำเนินภารกิจภายใต้อาณัติขององค์กรต้องถูกจำกัดยิ่งขึ้นโดยการใช้มาตรการดังกล่าว จึงส่งผลให้ผู้คนต้องประสบความทุกข์ยากในยามที่ IHL ควรให้ความคุ้มครองแก่พวกเขาได้

มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2462 ว่าด้วยการต่อต้านและป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินแก่การก่อการร้าย ที่ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2019 เป็นพัฒนาการที่สำคัญ คณะมนตรีกำหนดให้ปรับใช้มาตรการต่อต้านการก่อการร้าย “อย่างสอดคล้องกับ IHL” และเน้นย้ำให้รัฐปรับใช้มาตรการดังกล่าวโดยคำนึงถึงผลกระทบของมาตรการดังกล่าวต่อ “กิจกรรมทางด้านมนุษยธรรม” ของ “องค์กรทางด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลาง” พัฒนาการนี้ได้กำหนดมาตรการให้รัฐต้องปฏิบัติตามประกอบกับได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี พวกเราจึงต้องคอยเน้นย้ำว่า “ฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม” ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ หรือแม้กระทั่งพวกที่ถูกกล่าวหาในฐาน “ก่อการร้าย” ก็คือมนุษย์เช่นกัน

มังกรกับเทคโนโลยีใหม่

ในอนาคตมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่และ IHL โดยเฉพาะพัฒนาการของอาวุธและยุทธวิธีต่าง ๆ แม้ว่ามนุษย์ยังคงมีพัฒนาการที่ล้ำหน้าในการสรรหาวิธีการใหม่ ๆ ในการฆ่าฟัน เราต้องไม่ลืมว่า IHL เป็นกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยยังคงสามารถชี้แนวทางสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยามสงคราม ในทุกวันนี้พวกเรามีข้อท้าทายในการร่วมกันหาหนทางประกันการเคารพกฎหมาย ภายใต้พลวัติของความขัดแย้งและข้อท้าทายจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ แน่นอนว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติแต่มันก็มาพร้อมกับปัญหา

ประเด็นข้อท้าทายที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งทางด้านกฎหมายและจริยธรรม เนื่องจากข้าพเจ้าชอบดูภาพยนตร์เรื่อง Game of Thrones ข้าพเจ้าคิดว่าตอนสุดท้ายของภาพยนตร์เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการทำความเข้าใจสงคราม แม้จะเป็นเพียงตัวอย่างจาก “โลกแห่งจิตนาการ” ที่มาจากภาพยนตร์ก็ตาม หากพิจารณาถึงวิธีการและยุทธวิธีที่ใช้ในสงคราม การที่เห็นมังกรบินและพ่นไฟใส่เมืองที่มีประชากรอาศัยอย่างหนาแน่น โดยไม่ยึดหลักการแบ่งแยกความแตกต่าง (principle of distinction) และไม่ปฏิบัติตามหลักการห้ามทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินเหตุหรือความทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น (superfluous injury or unnecessary suffering) ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักถึงศักยภาพของอาวุธแบบใหม่และระดับการควบคุมอาวุธโดยมนุษย์ แม้ว่าตลอดทั้งเรื่องการกระทำส่วนมากที่เกิดขึ้น ได้แก่ การสังหารหมู่ การทรมาน การล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนการกระทำอื่น ๆ ที่ไม่สามารถให้การยอมรับ แต่ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากมังกรและการโจมตีทางอากาศโดยการพ่นไฟทำให้ถึงจุดพลิกผันของตัวละครในเรื่อง ผลลัพธ์ของการโจมตีพลเรือนและบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมในการต่อสู้ก็ปรากฏออกมาชัดเจนในท้ายที่สุดว่าเป็นการโจมตีที่ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน

การหารือในระดับระหว่างประเทศในขณะนี้ให้ความสำคัญกับการกำหนดขอบเขตการทำงานโดยอัตโนมัติของระบบอาวุธ เพื่อให้มนุษย์ยังคงมีอำนาจควบคุมและมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจใช้กำลังในสงคราม ชาติมหาอำนาจลงทุนเป็นจำนวนมหาศาลกับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) เพื่อความได้เปรียบทางการทหาร อีกทั้งการแข่งขันในทางอาวุธที่อาจเกิดขึ้นก็สร้างความกังวลว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีโดยไม่ได้ประเมินถึงความเสี่ยงและประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมอย่างถี่ถ้วน ICRC พบว่ามีประเด็นอย่างน้อยสามประการที่ AI เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อาวุธอัตโนมัติที่ดำเนินการโดย AI ศักยภาพในการทำสงครามไซเบอร์และสารสนเทศ และระบบตัดสินใจสั่งการ

พวกเราสนับสนุนให้ใช้ AI และการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) โดยยึดเอามนุษย์และมนุษยธรรมเป็นศูนย์กลางเพื่อทำให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับกฎหมายและหลักจริยธรรม ระบบที่ใช้ AI และการเรียนรู้ของเครื่องควรนำมาใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการใช้วิจารณาณตัดสินใจของมนุษย์ในสงคราม ไม่ใช่นำมาใช้เพื่อแทนที่การตัดสินใจของมนุษย์ ICRC ยังคงเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศบรรลุข้อตกลงร่วมกันถึงขีดจำกัดดังกล่าวเพื่อประกันว่ามนุษย์ยังเป็นผู้มีอำนาจควบคุมเหนือการใช้อาวุธและเป็นผู้ตัดสินใจใช้กำลังทหาร

นอกเหนือจาก AI แล้ว ICRC ยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิบัติการทางไซเบอร์ เนื่องจากเคยมีการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปถึงโครงข่ายไฟฟ้า สถานพยาบาลและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้การทำงานหยุดชะงัก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึงความเปราะบางของโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในภาคส่วนของพลเรือนหากมีการโจมตีทางไซเบอร์ ตลอดจนผลกระทบทางมนุษยธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้

ICRC มุ่งความสนใจไปยังปฏิบัติการทางไซเบอร์ในสงคราม ในความเห็นของพวกเราปฏิบัติการทางไซเบอร์ต้องอยู่ภายใต้ IHL หากปฏิบัติการดังกล่าวใช้ในเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการก่อสงคราม ที่เดิมทีกระทำด้วยการจู่โจมแบบปกติ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าการใช้ปฏิบัติการทางไซเบอร์เพียงอย่างเดียวก็อาจนับได้ว่ามีลักษณะเป็นสงครามและทำให้ต้องปฏิบัติตาม IHL และที่สำคัญที่สุด IHL ต้องห้ามการโจมตีทางไซเบอร์ไปยังเป้าหมายหรือระบบของพลเรือน และห้ามการโจมตีทางไซเบอร์โดยไม่แยกแยะเป้าหมายและไม่ได้สัดส่วน

แม้ว่าการทำสงครามในรูปแบบไซเบอร์จะได้รับการยืนยันว่าต้องปฏิบัติตาม IHL แต่การยืนยันดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการสู้รบทางการทหารบนพื้นที่ไซเบอร์สเปซ หรือทำให้การทำสงครามในรูปแบบไซเบอร์นั้นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมา วัตถุประสงค์หลักของพวกเราคือการอธิบายว่า IHL กำหนดขอบเขตการทำปฏิบัติการทางไซเบอร์ที่กระทำโดยรัฐหรือฝ่ายอื่น ๆ ในสงคราม พวกเราเห็นว่ารัฐทุกรัฐควรให้การยอมรับว่า IHL นั้นมีผลบังคับใช้ในปฏิบัติการทางไซเบอร์ และพวกเราก็ยินดีที่เห็นรัฐต่าง ๆ ให้การยอมรับเพิ่มขึ้น

พวกเราจำเป็นต้องอภิปรายและให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่าจะปรับใช้ IHL สำหรับปฏิบัติการทางไซเบอร์ได้อย่างไร แม้ว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้นต้องใช้บังคับกับการทำสงครามในรูปแบบไซเบอร์อยู่แล้ว ความเชื่อมโยงระหว่างโครงข่ายของฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนก่อให้เกิดคำถามที่สำคัญทั้งในทางปฏิบัติและทางข้อกฎหมายว่าจะให้ความคุ้มครองแก่พลเรือนจากภยันตรายของสงครามในรูปแบบไซเบอร์ได้อย่างไร ดังนั้นรัฐจึงต้องเร่งหาทางออกสำหรับปัญหาเกี่ยวกับการตีความกฎเกณฑ์ IHL ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องนำมาปรับใช้กับสถานการณ์บนโลกไซเบอร์สเปซที่มีลักษณะเฉพาะ บรรดารัฐต้องประเมินว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องพัฒนากฎเกณฑ์เฉพาะขึ้นมาสำหรับกรณีดังกล่าวเพื่อขยายความกฎเกณฑ์พื้นฐาน

บทสรุป

เจ็ดสิบปีทิ้งท้าย พวกเราตระหนักแล้วว่าผู้ร่างอนุสัญญาเจนีวาไม่ได้กำหนดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พวกเขาได้ใช้ถ้อยคำและกำหนดพันธกรณีที่ตั้งอยู่บนจุดสมดุลระหว่างความจำเป็นทางการทหารและหลักมนุษยธรรม ในปัจจุบันพวกเราต้องเผชิญกับข้อท้าทายในรูปแบบใหม่ เช่น การสูญเสียความเชื่อมั่นในระเบียบซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งกฎเกณฑ์ การใช้วาทกรรมเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ และพัฒนาการทางเทคโนโลยีของระบบอาวุธแบบใหม่ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ถึงกระนั้นก็ตามอนุสัญญาเหล่านี้ยังคงสอดคล้องและเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะว่าอนุสัญญาได้บัญญัติเครื่องมือที่ช่วยชี้นำให้เราสามารถเลือกเส้นทางที่ถูกต้องได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในประการสุดท้ายอนุสัญญายังคงยืนหยัดอย่างหนักแน่นในหลักการที่ว่าสงครามย่อมมีขอบเขต

แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ: Black magic, zombies and dragons: a tale of IHL in the 21st Century

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบ่งปันบทความนี้