เมื่อวันที่ 4-6 กันยายนที่ผ่านมา ICRC ร่วมด้วยคณะนักวิชาการพุทธศาสนาและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จัดการประชุมว่าด้วยพุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมในเหตุขัดกันทางอาวุธที่ถ้ำดัมบุลลา ประเทศศรีลังกา โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 120 ท่าน จากวงการวิชาการ วงการกฎหมาย คณะสงฆ์ และบุคลากรในพระพุทธศาสนา มาร่วมกันหารือถึงความเป็นไปได้ในการใช้หลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาลดทอนความรุนแรงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในยามสงคราม
งานในครั้งนี้จัดขึ้นที่วัดถ้ำดัมบูลลา (Dambulla Cave Temple) มรดกโลกแหล่งสำคัญในศรีลังกาที่มีอายุกว่า 2,200 ปี และมีความสำคัญทั้งกับพุทธศาสนิกชนนิกายเถรวาท มหายานและวชิรญาณ โดย ICRC จัดงานครั้งนี้ขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยพุทธสาวกภิกษุ (Bhiksu University) มหาวิทยาลัยบุดดิสแอนพาลี (Buddhist and pali University) มหาวิทยาลัยโคลัมโบ (University of Colombo) มหาวิทยาลัยเพลาเดนิยา (University of Peradeniya) และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ใน ศรีลังกา
ในขณะที่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มักถูกใช้เพื่อป้องกันและเยียวยาจิตใจของประชาชนหลังความขัดแย้ง การนำพุทธศาสนามาอธิบายใหม่ โดยอิงหลักกฎหมายมนุษยธรรมในระหว่างเกิดความรุนแรง อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกันความทุกข์ยากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ เช่น ความรุนแรงทางเพศ การโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม และการจำกัดความเสียหายจากการต่อสู้ ที่ประชุมยังมองถึงโอกาสในการฝึกอบรมร่วมกับกลุ่มติดอาวุธเพื่อส่งเสริมหลักการมนุษยธรรมผ่านหลักพระพุทธศาสนาและการฝึกสมาธิ
“การประชุมเป็นแค่จุดเริ่มต้น เรายังหวังจะศึกษาความเป็นไปได้ในการตีพิมพ์บทความและสิ่งพิมพ์ เพื่อเป็นหลักยึดในงานด้านนี้ต่อไปในอนาคต” แอนดรูว์ บาแรท-สมิธ ผู้จัดการกิจการระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของ ICRC ให้สัมภาษณ์ “เรามาร่วมกันในที่นี้ เพื่อมองหาหนทางและริเริ่มการศึกษาร่วมกันกับหลายๆ ภาคส่วน เพราะในท้ายสุด การลดความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ก็เป็นจุดร่วมกันของพุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ”
แม้งานประชุมจะมุ่งเน้นที่ประเด็นด้านการศึกษา มีการนำบทความวิชาการกว่า 40 ชิ้น มาเปิดให้ถกเถียงและอภิปราย ภายในงานยังมีการเปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากบุคลากรทางการทหาร ทั้งที่ยังปฎิบัติหน้าที่อยู่และเกษียณอายุแล้ว เพื่อเพิ่มมุมมองที่หลากหลาย มองถึงความเป็นไปได้ที่จะนำหลักการต่างๆ มาปรับใช้ในภาคสนาม อาธิ การนำหลักการทำสมาธิมาช่วยลดความเครียดระหว่างปฎิบัติหน้าที่ และการใช้พระพุทธศาสนาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้หลักการมนุษยธรรม ลดการกระทำที่ละเมิดทั้งกฎหมายและหลักธรรมทางศาสนา
ผู้นำศาสนามักมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในยามสงคราม เพราะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในพื้นที่ ICRC เห็นถึงความสำคัญนี้และพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับภาคการศาสนา
“เป็นที่ทราบกันดีว่า การปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นใจความสำคัญของแทบทุกศาสนา หลักการมนุษยธรรมก็ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดเหล่านี้” ลูคัส เพทริดิส หัวหน้าสำนักงาน ICRC ประจำประเทศศรีลังกากล่าว “นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ICRC ถึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับองค์กรและผู้นำทางศาสนามาโดยตลอด เราเชื่อว่าองค์กรมนุษยธรรม ศาสนา และวงการวิชาการ จะเป็นสามเสาหลักสำคัญที่ช่วยผลักดันหลักการมนุษยธรรมในเวทีโลก”
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Global Conference on the Interface between Buddhism and IHL