ภัยดิจิตอลต่อประชากรในสถานการณ์สงคราม: ช่องว่างห้าประการที่องค์กรทางด้านมนุษยธรรมควรให้ความสำคัญ

บทความ / บล็อค

ภัยดิจิตอลต่อประชากรในสถานการณ์สงคราม: ช่องว่างห้าประการที่องค์กรทางด้านมนุษยธรรมควรให้ความสำคัญ

ปฏิวัติดิจิตอลได้พลิกโฉมชีวิตของผู้คนทั่วโลก ตั้งแต่พลเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จนกระทั่งผู้คนที่อาศัยในประเทศที่มีพัฒนาการน้อยกว่า ในสภาพแวดล้อมดิจิตอลที่เทคโนโลยียังไม่ทันสมัย หรือในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความรุนแรง องค์กรทางด้านมนุษยธรรมที่ทำงานในบริบทเหล่านี้จึงต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิตอล และนับวันยิ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิตอลดังกล่าวมากขึ้น แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างในกรณีของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อมโยงกัน (วัตถุประสงค์ ความสามารถในการอ่านเขียน การสนับสนุนเงินทุน เป็นต้น) บล็อกนี้จะแสดงให้เห็นถึงช่องว่างห้าประการที่สำคัญที่องค์กรทางด้านมนุษยธรรมควรให้ความสำคัญ เกี่ยวกับภัยดิจิตอลต่อประชากรในสถานการณ์สงคราม

ภายใต้สภาพแวดล้อมของความรุนแรงและความไม่มีเสถียรภาพ เทคโนโลยีทางดิจิตอลสามารถนำมาใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านมนุษยธรรม อาทิ ใช้การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการรับมือกับสถานการณ์ หรืออำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารสองทางระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ในปัจจุบันผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้นำเครื่องมือและวิธีการทางเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในการติดตามสถานการณ์และเข้าถึงข้อมูลที่ต้องใช้สำหรับการตัดสินใจ เพื่อยกระดับการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรที่ได้รับผลกระทบ มีการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลจากระยะไกลเพื่อยกระดับขีดความสามารถของการเตือนภัยความขัดแย้งล่วงหน้าและในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน (โปรดดูเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยระบบ Hala) นอกจากนี้องค์กรทางด้านมนุษยธรรมยังใช้การรับส่งข้อมูลทางโทรศัพท์เพื่อติดตามลักษณะ รูปแบบ และเส้นทางการเดินทางของประชากรพลัดถิ่น หรือใช้ข้อมูลเมทาดาทาเกี่ยวกับรายละเอียดข้อมูลการโทรศัพท์เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ตลอดจนใช้โดรนในการตรวจตราสถานที่ที่เกิดความเสียหายและเฝ้าระวังโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ

ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิตอลเองก็มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนพลวัตรของความขัดแย้งหรือทำให้สถานการณ์แย่ลงได้ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่จงใจหรือไม่จงใจก็ตาม ความเสี่ยงที่เราควรให้ความสำคัญสามารถถูกจำแนกออกเป็นสองประเภทได้แก่

การใช้ข้อมูลหรือเทคโนโลยีดิจิตอล(ในทางที่ผิด) โดยรัฐและกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ อันก่อให้เกิดผลกระทบทางมนุษยธรรมกับประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และพฤติกรรมหรือแนวปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ อันมีผลในการเพิ่มความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอล (อาทิ แนวปฏิบัติที่ผิด การจัดการข้อมูลสารสนเทศหรือข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไม่เหมาะสม ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิตอล)

การใช้ข้อมูลหรือเทคโนโลยีดิจิตอล(ในทางที่ผิด)

เทคโนโลยีดิจิตอลสร้างหนทางและวิธีการในรูปแบบใหม่ในการปฏิบัติงานร่วมกันหรือการตอบโต้กัน ระหว่างบรรดารัฐ กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ และผู้มีส่วนได้เสียในความขัดแย้ง รวมไปถึงการใช้การโจมตีทางไซเบอร์กับระบบคอมพิวเตอร์ของโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการช่วยชีวิตและระบบสื่อสาร การตรวจตราทางดิจิตอลในรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะละเมิดสิทธิ การหาประโยชน์โดยไม่ชอบทางอิเล็กทรอนิกส์ และรูปแบบการใช้การสื่อสารทางดิจิตอลในทางที่ผิด เช่น กรณีของการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดอันตราย (dangerous speech) การสร้างกระแสข่าวลือ ปฏิบัติการสารสนเทศ (information operation) หรือการสร้างโฆษณาชวนเชื่อด้วยคอมพิวเตอร์ (computational propaganda)

พฤติกรรมหรือแนวปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มความเสี่ยง

เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการพัฒนา ‘นวัตกรรมทางด้านมนุษยธรรม (humanitarian innovation)’ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความขัดแย้งจะต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้ประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบได้รับความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการทดลองใช้ข้อมูลดิจิตอล แม้ว่าจะไม่ได้จงใจก่อให้เกิดความเสียหายก็ตาม ในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลและการละเมิดความเป็นส่วนตัว ตลอดจนการจัดการข้อมูลที่ละเอียดอ่อนที่ผิดพลาด อย่างเช่นในกรณีขององค์กรทางด้านมนุษยธรรมที่นำเทคโนโลยีเกิดใหม่มาใช้ในบริบทที่มีความเปราะบาง กรณีดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน การปกป้องและความเข้มแข็งของบุคคลผู้ที่ชีวิตและอนาคตถูกกำหนดโดยผลกระทบจากสงครามและความรุนแรง

ประเด็นคำถามที่องค์กรทางด้านมนุษยธรรมต้องให้ความสำคัญ

ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง สร้างประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ในเรื่องการให้ความคุ้มครอง และก่อให้เกิดผลกระทบทางมนุษยธรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน แล้วองค์กรทางด้านมนุษยธรรมจะสามารถให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือที่เหมาะสมได้อย่างไรในบริบทที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ‘หลักไม่สร้างความเสียหาย’ ควรนำไปปฏิบัติใช้อย่างไรในยุคดิจิตอลสำหรับการช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ภายใต้อาณัติองค์กร (โปรดดูมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับการให้ความคุ้มครอง (Professional Standards for Protection Work)) องค์กรทางด้านมนุษยธรรมอย่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) ต้องเผชิญกับข้อท้าทายที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ อย่างเป็นอิสระ และมีมนุษยธรรม (Neutrality, Impartiality, Independence and Humanity – NIIHA)

เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา ICRC ได้จัดการประชุมว่าด้วยความเสี่ยงทางดิจิตอลในยามสงครามเพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าว และกำหนดประเด็นที่เราควรให้ความสำคัญในปีที่จะมาถึง การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลากหลายภาคส่วน (ด้านมนุษยธรรม ด้านสิทธิมนุษยชน ภาควิชาการ ภาคเอกชนและบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ภาครัฐ และหน่วยงานทหาร) ที่ประชุมได้ระบุถึงช่องว่างห้าประการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านดิจิตอลที่องค์กรทางด้านมนุษยธรรมควรให้ความสำคัญ

1. ช่องว่างด้านความรู้

องค์กรทางด้านมนุษยธรรมยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญค่อนข้างจำกัดเกี่ยวกับภัยดิจิตอลในสภาพแวดล้อมภายใต้ความขัดแย้ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาว่าฝ่ายต่าง ๆ ที่มีส่วนในความขัดแย้งนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างไร ศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนองค์กรทางด้านมนุษยธรรมจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการให้การคุ้มครองเช่นไรหากมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

ในเบื้องต้นการลดช่องว่างด้านความรู้สามารถทำได้ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรทางด้านมนุษยธรรมกับองค์กรที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีตลอดจนภาควิชาการ เพื่อศึกษาวิจัยถึงแนวทางในการปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมได้อย่างทันกาลและรอบด้าน

2.ช่องว่างด้านทักษะและความสามารถในการอ่านเขียน

การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มักยังไม่ปรากฏรูปแบบที่ชัดเจน การทำความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการทำงานหรือลักษณะการใช้งานของเทคโนโลยีดังกล่าวในเชิงลึกนั้นต้องอาศัยความชำนาญที่จำกัดอยู่เฉพาะในวงแคบ ถึงกระนั้นก็ตามประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจในระดับพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีการทำงานและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

ดังนั้นองค์กรทางด้านมนุษยธรรมจึงต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการพัฒนาความสามารถในการอ่านเขียนทางดิจิตอลและการให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านดิจิตอลแก่ทั้งประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านมนุษยธรรม หรืออีกวีธีการหนึ่งคือการนำโมเดลภัยคุกคาม (threat modelling) มาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจใช้เทคโนโลยีบางประเภท ก็สามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

3.ช่องว่างด้านจริยธรรม

หลักหน้าที่ใช้ความระมัดระวัง (duty of care) ‘หลักไม่สร้างความเสียหาย’ และหลักการ NIIHA มีความหมายอย่างไรในยุคดิจิตอล นวัตกรรมดิจิตอลประเภทใดบ้างที่องค์กรทางด้านมนุษยธรรมพร้อมให้การสนับสนุนโดยที่ไม่กระทบต่อหลักจริยธรรมขององค์กร องค์กรทางด้านมนุษยธรรมจะสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนได้อย่างไรและภายใต้เงื่อนไขใด

องค์กรทางด้านจริยธรรมต้องยุติการทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหากปราศจากมาตรการป้องกันและประเมินความเสี่ยงในเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงการใช้โมเดลภัยคุกคามเพื่อ
ลดความเสี่ยง ในการประเมินความเสี่ยงและการตัดสินใจเลือกระหว่างสถานการณ์วิกฤติ (dilemma) ต้องจัดให้มีกระบวนการหารือแบบมีส่วนร่วมและจุดยืนร่วมกันระหว่างองค์กรทางด้านมนุษยธรรมในการปรับใช้ ‘หลักการไม่สร้างความเสียหาย’ ให้ทันต่อยุคดิจิตอล

4.ช่องว่างด้านการกำกับดูแล

รูปแบบของกลไกกำหนดความรับผิดชอบและมาตรการป้องกันในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในยุคดิจิตอลจะมีลักษณะเป็นอย่างไร องค์กรทางด้านมนุษยธรรมควรหารือถึงความความเป็นไปได้และประโยชน์ของการกำหนดมาตรฐานทางวิชาการสำหรับความเสี่ยงทางดิจิตอล โดยคำนึงถึงลักษณะของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีการปรับปรุงและทำให้มาตรฐานดังกล่าวทันสมัยอยู่เสมอ และอาจต้องมีการสร้างกลไกเพื่อรองรับรายงานและจัดการกับการรั่วไหลของข้อมูลในทุกภาคส่วนขององค์กรทางด้านมนุษยธรรม

5.ช่องว่างด้านการเงิน

ในขณะเดียวกัน องค์กรทางด้านมนุษยธรรมบางแห่งไม่มีงบประมาณหรือทรัพยากรเพียงพอสำหรับนำมาลงทุนในการรักษาความปลอดภัยทางสารสนเทศ การประเมินความเสี่ยง การพัฒนาศักยภาพทางเทคนิค ความเชี่ยวชาญในการปกป้องข้อมูล และความสามารถในการอ่านเขียนทางดิจิตอล เป็นต้น อย่างไรก็ดีองค์กรทางด้านมนุษยธรรมไม่สามารถอ้างถึงข้อจำกัดดังกล่าวเพื่อละเลยหน้าที่ที่จะต้องกำหนดให้มีนโยบาย แนวปฏิบัติ มาตรการป้องกัน และขั้นตอนต่าง ๆ ในการจำกัดความเสี่ยงทางดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยบรรดาองค์กรทางด้านมนุษยธรรมควรหาแนวทางในการสนับสนุนความรู้ความเชี่ยวชาญให้แก่องค์กรที่มีทรัพยากรที่จำกัด

***

การก้าวผ่านอุปสรรคด้านความรู้ ทักษะ การกำกับดูแล หรือการเงินนั้นเป็นไปได้ การหาทางออกสำหรับอุปสรรคดังกล่าวคือกุญแจที่ทำให้เราสามารถรักษาการให้ความคุ้มครองในยุคสมัยดิจิตอล ทั้งนี้ต้องอาศัยความอุตสาหะ ทรัพยากร ความไว้วางใจ และคำมั่นที่จริงใจในการดำเนินงาน และต้องประกันว่าประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมในการหารือแก้ไขปัญหา

แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ: Digital risks for populations in armed conflict: Five key gaps the humanitarian sector should address

ศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบ่งปันบทความนี้