งานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์โดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ชี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและความขัดแย้ง มีผลโดยตรงต่อจำนวนผู้อพยพที่เพิ่มสูงขึ้น

ICRC จับมือกับ World Economic Forum ในสวิสเซอร์แลนด์ ทำการศึกษาบริเวณแถบรอยต่อกึ่งทะเลทรายในสะฮารา พื้นที่ที่ว่าครอบคลุมหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่เซเนกัลไปจนถึงซูดาน ประเทศเหล่านี้มีจุดร่วมเดียวกัน คือปัญหาด้านความอดยาก การก่อการร้ายทางศาสนา การกบฎ และการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ความพิเศษของแถบรอยต่อกึ่งทะเลทรายในสะฮารา (หรือที่เรียกกันว่า ‘ซาเฮล’) มีอยู่ว่า อุณหภูมิในแถบนี้จะเพิ่มขึ้นไวกว่าบริเวณอื่นของโลกในอัตราส่วน 1.5 เท่า ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแทบจะมากที่สุดในโลก ปัจจุบัน นอกจากปริมาณน้ำฝนที่แทบจะคาดเดาไม่ได้ ประชากรในซาเฮล ยังต้องประสบภัยแล้งบ่อยครั้ง สร้างความยากลำบากให้ประชากรกว่า 50 ล้าน ที่ต้องใช้ชีวิตพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร

ICRC ร่วมมือกับ Igarapé Institute กลุ่มวิจัยยักษ์ใหญ่สัญชาติบราซิล จัดทำเว็บไซต์ EarthTime เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้ง จุดประสงค์หลักคือการสร้างความเข้าใจระหว่างทั้งสองปัจจัย ว่าสามารถส่งผลอย่างไรต่อพื้นที่ดังกล่าว

การวิจัยเน้นศึกษาบริเวณประเทศมาลีและไนเจอร์เป็นหลัก สองประเทศนี้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (จำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศมาลี พุ่งขึ้นสูงจาก 320 ราย ในปี 2016 เป็น 1,686 ราย ในปี 2018 )

นักวิจัยพบว่าความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นผลพวงโดยตรงจากการแย่งชิงทรัพยากรและพื้นที่ เนื่องจากฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ทำให้พื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด

นายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธาน ICRC กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า ‘สร้างความสับสนให้กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่ประสบปัญหาความยากจนเป็นทุนเดิม ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญทั้งปัญหาอาชญากรรมภายใน ความรุนแรง และผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ชีวิตยากขึ้นหลายเท่าตัว’

ปัจจุบัน มีประชากรกว่า 24 ล้าน คนในพื้นที่ ที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางอาหารหลังเผชิญหน้ากับปัญหาความแห้งแล้งและสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2018

ในขณะที่ความขาดแคลนระบาดหนัก Jihadi และกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ ในภูมิภาค ก็เริ่มใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งและความยากจนเป็นเครื่องมือในการชักชวนเกษตรกรที่ผิดหวังจากผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นแนวร่วม จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น หมายถึงการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงและลุกลามตามไปด้วย

นายโรเบิร์ต มักกาห์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Igarapé Institute และ นายโจเซ่ ลูเอนโก้ กาเบรล่า นักวิจัยจาก the International Crisis Group กล่าวในที่ประชุมรายปีของ World Economic Forum ว่า สถานการณ์ในซาเฮลนั้นเปรียบเสมือน ‘Canary in the coal mine’ (หมายถึง สัญญานเตือนภัยล่วงหน้าเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเหตุใหญ่จะตามมา – สำนวนนี้มีที่มาจากคนงานเหมืองสมัยก่อน ที่ใช้นกคีรีบูนตรวจจับสารพิษ นกคีรีบูนนั้นไวต่อมีเทนหรือคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งไม่มีกลิ่นและไม่มีสี ถ้าก๊าซพิษเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตราย นกจะส่งสัญญานเตือนภัยได้ไวกว่าร่างกายมนุษย์)

กาเบรล่าและมักกาห์กล่าวย้ำอีกว่า ‘ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศจะยิ่งแจ่มชัดขึ้นภายในปี 2019’

ในขณะที่ข้อถกเถียงเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างสภาพอากาศกับสถานการณ์ความขัดแย้งกำลังอยู่ในความสนใจ ผลการศึกษาในประเด็นนี้ก็ยังมีออกมาให้เห็นไม่มากนัก

กาเบรล่าและมักกาห์หวังว่า การศึกษาในพื้นที่ซาเฮลจะเป็นสัญญานเตือน (wakeup call) ให้ผู้คนทั้งโลกหันมาสนใจประเด็นสภาพอากาศกันมากขึ้น และรัฐบาลในแต่ละประเทศจะเริ่มมองหาทางออกทีดีให้กับปัญหาด้านเกษตรกรรมและการทำปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

Igarapé Institute และ the International Crisis Group ยังให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า ระบบเตือนภัยล่วงหน้าของทั้ง World Bank (World Bank’s Famine Action Mechanism) และ UN (UN’s Early Warning Early Action system) อาจต้องได้รับการพิจารณาใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

Reference: These Researchers Have Proved There Is A Link Between War And Climate Change