หลายคนอาจคุ้นชื่อออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler) อดีตสมาชิกพรรคนาซีและเจ้าของโรงงานที่เอ่ยปากขอตัวนักโทษชาวยิวมาทำงานจนสามารถช่วยคนหลายพันจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโปแลนด์ วีรกรรมของชินด์เลอร์ ถูกยกย่องจากคนทั่วโลกและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนต์ในตำนาน ‘Schindler’s List (1993)’

ในระหว่างที่ชิลด์เลอร์กำลังทำหน้าที่ของเขาในโปแลนด์ ทราบหรือไม่ว่าในฮังการี มีชายอีกคนที่พยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อรักษาชีวิตชาวยิวหลายพันในกรุงบูดาเปสต์

ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคม 1944 ฟรีดริช บอน (Friedrich Born) ผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) ได้รับมอบหมายให้มาประจำการที่บูดาเปสต์

สิ่งแรกที่บอนทำ คือการเริ่มแผนการปกป้องชาวยิวในเมืองภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาลฮังการี บอนเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนชาวยิว ให้เป็นผู้อพยพที่ได้รับการรับรองจากประเทศในแถบละตินอเมริกา แม้ว่าเอกสารนี้จะไม่สามารถรับรองความปลอดภัยในระยะยาวเพราะผู้อพยพป็นแค่สถานะในเอกสาร ไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศได้จริง แต่การมอบสถาณะ ‘ผู้อพยพ’ ก็ทำให้ประชาชนหลายพันได้รับการคุ้มกันในระดับหนึ่ง

ระหว่างนั้น บอนเริ่มแผนการต่อไป เขาตั้งโรงเลี้ยงเด็กกว่า 60 แห่งทั่วเมือง เพื่อรับเด็กกำพร้าจากสงครามมาอยู่ใต้ความคุ้มครอง ในจำนวนนี้มีเด็กจากครอบครัวชาวยิวราว 7-8 พันคน เขายังได้ควบรวมเอาโรงพยาบาล ที่หลบภัย และ โรงครัวสาธารณะของชาวยิว มาไว้ใต้การดูแลของ ICRC

วิธีนี้สามารถช่วยกิจการต่างๆ ไม่ให้ตกเป็นของกองกำลังนาซีที่กำลังมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น และก็เช่นเดียวกับวิธีของชิลด์เลอร์ บอนเปิดรับสมัครอาสาเข้ามาทำงานและออกเอกสารรับรอง ยิวของบอนในขณะนั้นมีจำนวนราว 3 พันคน

Guerre 1939-1945. Hongrie. Action de secours à l’enfance.
WWII. ICRC’s children relief mission in Hungary.

มาตรการที่ว่ามาได้รับการยินยอมจากรัฐ จนกระทั่งรัฐบาลของจอมพลเรือมิโคลอส ฮอลที่ ถูกล้มล้างโดย the Arrow Cross Party กลุ่มชาวฮังกาเรียนนิยมนาซีในวันที่ 15 ตุลาคม 1944 หลังตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่กี่วัน ชาวยิวกว่า 5 หมื่น ถูกส่งตัวจากเมืองหลวงไปยังค่ายกักกันตามชายแดนเยอรมันในทันที

เมื่อไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้อีก สิ่งที่บอนพอจะทำได้ คือการแจกจ่ายเสบียงอาหารให้ประชาชนที่กำลังถูกค้นย้ายออกจากเมือง เหตุการณ์นี้ดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน กระทั้งอำนาจของกลุ่ม Arrow Cross เริ่มสั่นคลอนเพราะเยอรมันเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงคราม บอนสามารถหยุดรถเที่ยวสุดท้ายและช่วยชีวิตชาวยิวไว้ได้กว่า 7 พันคน

วีรกรรมของฟรีดริช บอน เป็นที่กล่าวขวัญและได้รับการยกย่องจาก Yad Vashem – The World Holocaust Remembrance Center ในเมืองเยรูซาเลม ให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษที่ อดทน เสียสละ และปฎิบัติภาระกิจเพื่อมนุษยธรรมอย่างเต็มกำลังความสามารถ

แปลจากบทความ The ICRC in WW II: The Holocaust