‘นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครได้ประโยชน์’ คำแถลงจากนายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหลังการเยือนประเทศพม่าและบังกลาเทศ

ดากา (ICRC) – ผมกำลังจากภูมิภาคนี้ด้วยความรู้สึกที่ยากเกินบรรยาย ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมโชคดีที่มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยในทั้งสองฝั่ง – เมียนม่าและบังกลาเทศ สองประเทศที่เผชิญปัญหาผู้ลี้ภัยจากวิกฤตในรัฐยะไข่ คอกส์บาซาร์ – เมืองชายแดนของบังกลาเทศ คือเป้าหมายหลักในการเดินทางของผู้ลี้ภัยมากมาย ค่ายผู้ลี้ภัยและที่พักอาศัยจำนวนมากถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่มีมากและยากจะตอบรับ

ผมได้พบปะและพูดคุยกับผู้คนในสองประเทศ และได้พบคำตอบที่ชัดเจนในใจ ไม่ว่าจะอยู่หรือไป การตัดสินใจล้วนนำไปสู่เส้นทางอันยากลำบาก ไม่มีบ้านที่ปลอดภัย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสุขา ไม่มียาหรือบริการทางสุขภาพใดๆ และแทบเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประสบภัยเหล่านี้จะสามารถมีรายได้ที่มากพอเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

กว่าล้านคนอาศัยอยู่ในความทุกข์ยาก ชีวิตตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนอันเป็นภาพซ้อนของปัญหายาวนานยากจะแก้ไข

ค่ายผู้ลี้ภัยในคอกส์บาซาร์ ไม่เพียงอยู่ในสภาพที่น่าใจหาย แต่ยังละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อหน้ามรสุมใกล้เข้ามา นั่นหมายความว่าชีวิตของผู้คนมากมายมีแต่จะยากลำบากขึ้น พวกเขาทนอยู่ในสภาพนี้ไม่ไหว แต่ให้กลับไปก็ทำไม่ได้อีกเหมือนกัน

แม้ชีวิตในคอกส์บาซาร์จะดูเลวร้าย แต่ผมก็พูดไม่ได้ว่าผู้คนในรัฐยะไข่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ผมเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน แทบไม่มีใครอาศัยในบริเวณนี้อีกแล้ว ที่ดินเริ่มรกร้าง โรงเรียนและศูนย์รักษาพยาบาลเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างว่างเปล่าที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในหมู่บ้านหนึ่งที่ผมเข้าไปเยี่ยม มีผู้อาศัยเหลือเพียง 2,000 คน จำนวนนี้ลดลงกว่าหนึ่งในสี่ เพราะพื้นที่นี้เคยมีพลเมืองมากถึง 9,000 คน ผมมีโอกาสพูดคุยกับหลายชุมชน ทั้งชุมชนพุทธ, มุสลิม และ ฮินดู พวกเขาเล่าให้ฟังว่าโครงสร้างทางเศรฐกิจและสังคมถูกทำลายไปอย่างไร ทิ้งให้ผู้คนมากมายต้องพึ่งพาอาศัยเพียงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิต

สภาพของรัฐยะไข่ในตอนนี้ ยังไม่พร้อมรองรับการกลับมาของผู้คนกลุ่มใหญ่

เมื่อมองดูสภาพการณ์ในปัจจุบัน ผมอดคิดไม่ได้ว่า จากนี้ไปสัก 20 ปี เราจะยังต้องทนเห็นเหตุการณ์นี้ดำเนินไปอยู่หรือไม่? ผู้คนมากมายต้องตะเกียกตะกายออกจากบ้านเพื่อใช้ชีวิตสิ้นหวังในค่ายผู้ลี้ภัย แล้วเด็กๆ ล่ะ? พวกเขาสมควรจะได้รับโอกาสทางการศึกษาและอนาคตที่ดีกว่านี้ มันสมควรแล้วหรือที่คนรุ่นใหม่ต้องโตมาในค่ายผู้ลี้ภัยและใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับความไม่แน่นอน

เราติดค้างผู้คนเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น โดยเริ่มเปลี่ยนจากต้นตอของปัญหาเพื่อยับยั้งวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่อาจเกิดขึ้นซ้ำๆ ในอนาคต

ตั้งแต่วิกฤตในรัฐยะไข่เริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2017 เพื่อนร่วมงานของเราจากทั้งสองฝั่งได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อผู้ประสบภัยโดยเฉพาะในคอกส์บาซาร์ เป็นที่น่าดีใจว่า การตอบรับที่รวดเร็วนี้สามารถแก้ไขปัญหาฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ความช่วยเหลือไม่เพียงส่งต่อไปยังผู้อพยพจากเมียนมา แต่ยังรวมไปถึงประชาชนท้องที่ในคอกส์บาซาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการมาถึงของชนกลุ่มใหม่

ในขณะเดียวกันทางประเทศเมียนมา ICRC กำลังเร่งแจกจ่ายอาหาร เพื่อเป็นเสบียงให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลตลอดหน้ามรสุมที่กำลังจะมาถึง

จริงอยู่ว่าการช่วยชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาระยะยาว งานของ ICRC ที่ผ่านมาสามารถคำตอบรับกับความต้องการพื้นฐานได้ก็จริง แต่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นต่อไป คือการให้คำตอบในระยะยาวต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ในอนาคต

ความพยายามของทุกฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่ทรัพยาการต่างๆ เริ่มร่อยหรอ ประชาชนในคอกส์บาซาร์ที่อ้าแขนรับผู้ประสบภัยจากเมียนมาต้องรับบทบาทสำคัญและทำหน้าที่เป็นผู้ให้ในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ไม่มาก โครงการส่งเสริมอาชีพหรือ micro-economic initiatives ที่เพิ่งเริ่มต้นไปในไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา จะเป็นทางเลือกใหม่ในการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมามีรายได้ที่มั่นคงได้อีกครั้ง

กระนั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถแก้ได้หมดทุกปัญหา อนาคตที่ดีกว่าของผู้ประสบภัยยังตั้งอยู่บนคำถามสำคัญทั้งด้านการเมือง, เศรษฐกิจ ตลอดจนการเคารพต่อต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชน

ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อตัดสินใคร รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาอย่างไม่ลดละ ผมเชื่อมั่นในความปราถนาดีของพวกเขาในจุดนี้ ระหว่างการเดินทาง ผมมีโอกาสเข้าพบกับบุคคลสำคัญของสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ฯพณฯ อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐบาลเมียนมา ฯพณฯ อู่ วิน หมิ่น ประธานาธิบดีเมียนมา พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา รวมไปถึง ฯพณฯ ชีค ฮาสินา ประธานาธิบดีบังกลาเทศ ก่อนเดินทางกลับสวิสเซอร์แลนด์ ผมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นในที่ประชุมระหว่าง ฯพณฯ อาบูล ฮัสซัน มามูด อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศ และ ฯพณฯ อาซัดอุซซามาน ข่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เรายังได้รับคำแนะนำที่ดีจากโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งขณะนี้เป็นประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลเมียนมาเพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ซึ่งให้ความสนับสนุนกิจกรรมด้านมนุษยธรรมมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามเกิดขึ้นมากมาย แต่ความเปลี่ยนแปลงกลับไม่สามารถเห็นได้มากผ่านสายตา

การเดินทางกลับของผู้ลี้ภัย ไม่สามารถพึ่งพาเพียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ต้องรวมไปถึงกระบวนการทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความมั่นใจในอิสรภาพของประชาชนที่กลับไป พวกเขาเหล่านี้ต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพและดำเนินกิจกรรมทางเศรฐกิจในรัฐยะไข่ และที่สำคัญที่สุด คือมีความมั่นใจในความปลอดภัยทั้งระหว่างและหลังเดินทางกลับ

ระหว่างเยือนเมียนมาและบังกลาเทศ ผมรู้สึกประทับใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ICRC ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและชุมชน ตั้งแต่การเยี่ยมเรือนจำ ไปจนถึงการให้การบริการทางสุขภาพ ตั้งแต่การเจรจาเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปจนถึงงานด้านการทูต ทั้งตอนนี้ ก่อนหน้า และในอนาคต ICRC จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองต่อวิกฤติด้านมนุษยธรรมทั้งในเมียนมาและบังกลาเทศอย่างไม่ลดละ

แปลจากบทความ: Statement from ICRC President Peter Maurer following visit to Myanmar and Bangladesh: “This is a lose-lose situation for people”