#คุณรู้หรือไม่? ในปี 1975 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เปิดสำนักงานเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามอินโดจีน จากวันนั้นถึงวันนี้ ICRC มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง มาฟังคุณงามพิศ สุริยมงคล หรือพี่จี๊ด เล่าถึงประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปีให้เราฟัง รู้จัก ICRC ได้ยังไง แล้วปัจจุบันงานในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง รู้จัก ICRC ครั้งแรกจากญาติที่เคยทำงานที่นี่มาก่อน ตอนนี้ก็อยู่ ICRC มาเกิน 30 ปีแล้ว งานที่พี่ทำ ก็มีทั้งงานเลขา งาน Reception และงานส่วน Telephone Operator แต่พี่จะรับผิดชอบงานทาง Reception เป็นหลัก ถ้าใครมาถึง มาติดต่อ หรือมาสอบถามอะไร ก็จะต้องเจอเราก่อนเป็นด่านแรก ถ้าให้มองแบบเร็วๆ ICRC เปลี่ยนไปแค่ไหนในเวลาหลายสิบปี เมื่อก่อนตอนเขมรแตกใหม่ๆ ช่วงปี 1979 หลายคนอาจเกิดไม่ทัน แต่ตอนนั้นคนอพยพเข้ามาเป็นเรือนแสน ICRC ก็เปิดมาเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ งานหลักของ ICRC สมัยก่อนเรียกได้ว่าเป็น Tracing Agency คือการค้นหาญาติที่สูญหาย พลัดพรากกันไปเพราะสงคราม เราเรียกกว่าการทำ ‘ปวงเต้’ เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า searching สมัยก่อนเราไม่มีคอมพิวเตอร์ ก็ใช้วิธีเขียนรายชื่อของผู้สูญหายเรียงตามตัวอักษรใส่ในกล่องแล้วเก็บไว้ในตู้ใบใหญ่อีกที ที่นี้พอเราเจอคนที่ใกล้เคียง ก็ต้องติดต่อไปทางญาติ ให้เขาเขียนจดหมายกาชาด (red cross message) ส่งผ่านเราไปทางเขมร เพื่อให้เชคว่าถูกตัวมั้ย งานส่วนนี้ปัจจุบันมีชื่อเรียกแบบเป็นทางการว่า Restoring Family Links (RFL) ต่อมาพองานตรงนี้ซาไป เราก็มีแผนกใหม่เพิ่มขึ้นมาอย่าง VRT (Virtual reality) , Communication มีงานมิติอื่นเช่นการจัดสัมนา โปรโมท IHL ในสถานศึกษา ถือว่างานของ ICRC เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและมีแผนกใหม่ๆ มากขึ้น แน่นอนว่าทำงานมานานขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีหลายอย่างที่น่าอิจฉา อยากให้เล่าความประทับใจที่สุดที่ได้ทำงานกับ ICRC ให้ฟังหน่อย มีหลายครั้งที่เราสามารถพาครอบครัวให้กลับมาเจอกัน เรารู้สึกภูมิใจ หลายคนพลัดพรากกันไปเป็นสิบปี ยี่สิบปี เขาก็รอคอยว่าจะมีโอกาสสักครั้งไหม จะมีหน่วยงานไหนที่จะช่วยตามหาญาติให้เขาได้ พอเราพาเขามาเจอกันมันเหมือนความหวังเขาเป็นจริง เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ นี่ทำให้รู้สึกว่าถึงงานจะล้นมือเราก็เต็มใจทำด้วยความสุข เพราะมีหลายคนที่รอความช่วยเหลือจากเรา ถ้าเราไม่ทำตรงนี้แล้วเขาจะติดต่อกันยังไง 30 ปีเต็มที่ทำงานกับ ICRC ได้ทำให้นิสัยใจขอ หรือการมองโลกของคุณเปลี่ยนไปบ้างหรือไม่ ในแง่การทำงานและการใช้ชีวิต ‘เราช่วยอะไรไม่ได้ ขอโทษนะ’ ไม่ เราจะไม่พูดคำนี้ ถ้ามีคนมาติดต่อเรา เขาควรได้คำตอบกลับไป หรือถ้าไม่ได้ เราก็สามารถเก็บคำถาม ไปถามคนที่รู้แล้วมาตอบให้ เรื่องไหนที่เราไม่สามารถตอบได้จริงๆ ก็ควรแนะนำคนที่เขาควรไปหา การทำงานตรงนี้ทำให้พี่เป็นคนอัพเดทตลอด เราต้องรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ใครทำอะไรที่ไหน อะไรอยู่ตรงไหนบ้าง เวลามีคนมาติดต่อเราก็ต้องเป็นกลาง ไม่ฝักไฝ่ เพราะทำงานตรงนี้ต้องเจอปัญหาใหม่ทุกวัน แต่ปัญหาไม่ใช่อุปสรรค ปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ถ้าเราใส่ใจกับมันเราจะพบว่ามีเรื่องใหม่มากมายรอให้ศึกษา เมื่อเลือกเดินเข้ามาแล้วก็ต้องพยายามเดิน อย่าหยุด ถ้าต้องเกษียณไปในไม่นานนี้ มีอะไรใน ICRC ที่คิดว่าจะคิดถึงมากๆ คิดถึงงาน งานที่เราทำทุกวัน งานที่เรารับผิดชอบ คิดถึงเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก เพราะเราทำงานด้วยกันมานาน นอกจากงานที่ทำ relationship เป็นสิ่งสำคัญ กว่าจะเจอคนที่คุยแล้วเข้าใจกัน แชร์ความรู้สึกกันมันยาก คนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าทำยังไงให้เข้ากันได้ดี เป็นสิ่งที่หายาก ในสายตาพี่ ICRC เป็นหน่วยงานที่น่ารัก ที่ทำงานแล้วสบายใจ เส้นทาง 30 ปี ไม่ใช่เส้นทางสวยหรู แต่ก็ไม่ใช่เส้นทางที่ลำบาก ถ้าเรารักที่จะทำ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็ยังทำงานด้วยความรักและมีความสุขกับทุกวัน