การใช้เครื่องหมายกาชาดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มองค์กรกาชาด / บทความ / บล็อค

การใช้เครื่องหมายกาชาดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างที่เราได้ทราบกันไปแล้วในบทความก่อนหน้าว่าเครื่องหมายกาชาดเป็นเครื่องหมายที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ของอนุสัญญาเจนีวา  เครื่องหมายกาชาดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองบุคลากรและผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมและด้านการแพทย์ในกรณีที่เกิดข้อพิพาททางอาวุธ โดยเครื่องหมายดังกล่าวจะติดอยู่กับยานพาหนะทางการแพทย์ สิ่งก่อสร้าง หรือตัวบุคคล ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาเจนีวารวมถึงพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3  เช่น หน่วยแพทย์ในกองทัพ โรงพยาบาลของพลเรือน เป็นต้น นอกจากเครื่องหมายกาชาดแล้ว อนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ยังรวมไปถึงเครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง และเครื่องหมายใหม่คือ ‘คริสตัลแดง’ อีกด้วย หากแต่ในอดีตยังมีเครื่องหมายอีกรูปแบบที่ได้รับความคุ้มครองแต่ไม่ได้ใช้ในปัจจุบันแล้วนั่นคือ เครื่องหมายสิงโตและพระอาทิตย์แดง เครื่องหมายที่กล่าวมาทั้งหมดจะไม่ได้ใช้ร่วมกับตัวอักษรหรือข้อความอื่นใด และต้องแสดงให้เห็นโดยชัดเจนและง่ายต่อการสังเกต

ผู้ปฏิบัติงานหรือบุคลากรภายใต้เครื่องหมายนี้จะได้รับความคุ้มครองจากการโจมตีทุกชนิดในกรณีที่เกิดข้อพิพาททางอาวุธหรือแม้แต่ในยามสงบ  การโจมตีกลุ่มคนที่ได้รับการคุ้มครองด้วยเครื่องหมายนี้ถือเป็นอาชญากรรมสงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศ

การใช้เครื่องหมายกาชาดมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  1. การใช้เพื่อการคุ้มครอง (Protective use)

เครื่องหมายกาชาดคุ้มครองบุคลากร ทรัพย์สิน และปฏิบัติการทางด้านมนุษยธรรมและทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงของแต่ละประเทศ ตามอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ โดยในกรณีนี้ ควรใช้เครื่องหมายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และควรแสดงสัญลักษณ์นี้โดยปราศจากข้อมูลอื่น

  1. การใช้เพื่อบ่งชี้ (Indicative use)

เครื่องหมายกาชาดบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นบุคลากร หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ โดยการใช้ในกรณีนี้ อาจจะมีข้อความแสดงข้อมูลเพิ่มเติมบนสัญลักษณ์ เช่น ชื่อขององค์กร โดยข้อความดังกล่าวจะต้องมีขนาดเล็กและจะต้องไม่นำไปติดบนปลอกแขนหรือบนหลังคาอาคาร เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับการใช้เพื่อการคุ้มครอง

195 ประเทศทั่วโลกที่เป็นภาคีในอนุสัญญาเจนีวาจะต้องเคารพเครื่องหมายและการใช้เครื่องหมายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทย แม้จะเป็นภาคีในอนุสัญญาเจนีวาแต่ไม่ได้เป็นภาคีในพิธีสารเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ ประเทศไทยจึงได้มีการออกพระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 5) และ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ 3) ซึ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและการใช้เครื่องหมายกาชาดในประเทศไทย

ท้ายที่สุดแล้ว เครื่องหมายกาชาดและการใช้อย่างถูกต้องอาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับหลายๆ คน แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นความรู้ที่ทำให้คุณผู้อ่านมีความเข้าใน ‘สัญลักษณ์แห่งความหวัง’ นี้มากยิ่งขึ้น

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

แบ่งปันบทความนี้