เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและสร้างความแข็งแกร่งภายในกลุ่มองค์กรกาชาด ทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือ ICRC จึงได้เปิดการอบรมภายใต้หัวข้อ First Aid and Pre-hospital emergency care workshop ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เชิญตัวแทนของสภากาชาดจากหลายประเทศเข้าร่วม ซึ่งทางสภากาชาดไทยก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่สังกัดศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย ได้แก่ คุณนิตยา ร่มรืน หัวหน้ากลุ่มงานอบรมปฐมพยาบาล ผู้ชำนาญการ วิทยาจารย์ 7 และคุณปิยฉัตร เทพรัตน์ ผู้ชำนาญการพิเศษ วิทยาจารย์ 7 เข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมการอบรม First Aid and Pre-hospital emergency care workshop ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
เนื่องในโอกาสนี้ ICRC สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ จึงได้สัมภาษณ์คุณนิตยาและคุณปิยฉัตร เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกัน
ถาม-ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการอบรม อยากให้ช่วยอธิบายให้ฟังว่า การปฐมพยาบาลมีความสำคัญอย่างไรและทำไมเราจึงควรจะมีความรู้ในเรื่องนี้
คุณปิยฉัตร-เนื่องจากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ หากได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างรวดเร็วก็จะทำให้การรักษาในขั้นตอนต่อไปมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น การปฐมพยาบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่ควรเรียนรู้ไว้เพื่อจะนำไปช่วยเหลือคนรอบตัวได้อย่างถูกต้อง สรุปง่ายๆคือ เป็นการช่วยรักษาชีวิตของผู้บาดเจ็บ ป้องกันไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับอันตรายมากขึ้น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและช่วยให้ผู้บาดเจ็บฟื้นตัวและกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด
ถาม- การอบรมครั้งนี้เป็นการประชุมในลักษณะใด และทั้งสองท่านเข้าร่วมได้อย่างไร
คุณปิยฉัตร- ทาง ICRC ได้ส่งเรื่องมายังสภากาชาดไทยระบุว่าต้องการเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในการดูแลช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความขัดแย้ง ภัยสงครามและเหตุฉุกเฉินอื่นๆ เพื่อเข้าร่วมการอบรม First Aid and Pre-hospital emergency care workshop ที่นครเจนีวา โดยการอบรมนี้เป็นการสนับสนุนองค์กรกาชาดทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ICRC และเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดง ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ฝึกทักษะการบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจและความเชี่ยวชาญในการทำงานมากขึ้น
ถาม- การอบรมครั้งนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
คุณปิยฉัตร-การอบรมมีทั้งการบรรยาย การอภิปรายกลุ่ม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสถานการณ์ความช่วยเหลือทีแตกต่างกันของแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ส่วนหัวข้อที่อบรมก็ได้แก่ องค์ประกอบในการดำเนินงานและบริหารจัดการโครงการ มุมมองและปัญหา การวางแผนและจัดการความปลอดภัย การตอบสนองต่อระบบการให้ความช่วยเหลือ ระบบโลจิสติกส์ การติดตามและตรวจสอบ ที่สำคัญที่สุดคือการย้ำให้เจ้าหน้าที่กาชาดตระหนักถึงจุดมุ่งหมายในการทำงานที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจและสังคม โดยยึดหลักมนุษยธรรม

ผู้เข้าร่วมการอบรมจากกลุ่มองค์กรกาชาดหลายประเทศฝึกปฏิบัติการปฐมพยาบาลภาคสนาม
ถาม-ทั้งสองท่านคิดว่าได้ความรู้อะไรเพิ่มเติมจากการร่วมอบรมครั้งนี้บ้างคะ
คุณปิยฉัตร-การอบรมครั้งนี้สำหรับดิฉันมีประโยชน์และได้มีเรื่องใหม่ๆให้เรียนรู้มากมาย เช่น ผลกระทบและอันตรายของผู้บาดเจ็บที่เกิดจากวัตถุระเบิดและภัยสงคราม การเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงและวิธีการป้องกันตัวเอง เป็นต้น

งานด้านการปฐมพยาบาลของสภากาชาดไทยและ ICRC มีความแตกต่างกันเนื่องจาก ICRC มีภารกิจช่วยเหลือเหยื่อความขัดแย้ง ภัยสงครามและเหตุฉุกเฉิน ขณะที่สภากาชาดไทยเน้นความช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
งานที่ดิฉันทำที่สภากาชาดไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างมีความแตกต่างกับงานของ ICRC เนื่องจาก ICRC มีภารกิจหลักในการปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีของเหยื่อจากการสู้รบและสถานการณ์ความรุนแรงในสงคราม ในขณะที่ภารกิจหลักของสภากาชาดไทยจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
คุณนิตยา-สำหรับดิฉันคิดว่าได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานด้านปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บรวมถึงการเคลื่อนย้ายในสถานการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ได้รับทราบและเข้าใจการทำงานด้านมนุษยธรรม และหลักการกาชาดในบริบทที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
-สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดจากการอบรมครั้งนี้คืออะไร
คุณปิยฉัตร-การที่ผู้เข้าอบรมมาจากหลายภูมิภาคทำให้มีความเข้าใจมุมมองและความแตกต่างในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ในส่วนของตัวผู้เข้าอบรมเองก็ได้รับมิตรภาพรวมถึงเครือข่ายในการทำงานร่วมกันเพราะประเทศที่อยู่ใกล้เคียงสามารถแบ่งปันข้อมูลและขอความร่วมมือในการปฏิบัติงานจากเครือข่ายเหล่านี้ได้

การที่มีผู้เข้าร่วมการอบรมจากหลายประเทศทั่วโลกทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายงานด้านการปฐมพยาบาลที่เข้มแข็งในกลุ่มองค์กรกาชาด
อีกประเด็นคือการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมตระหนักถึงจุดมุ่งหมายในการทำงานที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยยึดหลักมนุษยธรรม เคารพต่อความเป็นมนุษย์ สนับสนุนและส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นมิตรและความร่วมมือรวมถึงการส่งเสริมสันติภาพระหว่างกัน
คุณนิตยา-การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก ICRC และสภากาชาดจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายในวงกว้าง ซึ่งในอนาคตหากสภากาชาดไทยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายดังกล่าวก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณ คุณนิตยา ร่มรื่น หัวหน้ากลุ่มงานอบรมปฐมพยาบาล ผู้ชำนาญการพิเศษ วิทยาจารย์ 7 และคุณปิยฉัตร เทพรัตน์ ผู้ชำนาญการพิเศษ วิทยาจารย์ 7 สังกัดศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย