การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมาก แต่โครงการฝึกอาชีพและฟื้นฟูสภาพจิตใจภายในเรือนจำ จะช่วยเตรียมผู้ต้องข้งให้พร้อมออกไปเผชิญกับโลกภายนอกหลังจากที่พวกเขาพ้นโทษและยังช่วยลดความตึงเครียดภายในเรือนจำได้อีกด้วย
การดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยของเรือนจำในประเทศกัมพูชาเป็นงานท้าทาย ซึ่งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือไอซีอาร์ซีได้ทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์ของกัมพูชาเพื่อหาทางแก้ไขอุปสรรคและข้อท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น
โครงการฝึกอาชีพและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ต้องขังเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือระหว่างการประชุมผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศกัมพูชาซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสองวันที่จังหวัดเกาะกง เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่กระจายไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ตามเรือนจำทั่วประเทศอย่างทั่วถึง
สำหรับเรือนจำจังหวัดเกาะกงของกัมพูชาก็เป็นอีกหนึ่งในเรือนจำที่เผชิญปัญหาหลายอย่าง เช่น การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ ความแออัดของห้องขัง ปัญหาไฟดับและน้ำไม่ไหล รวมถึงสถานที่ตั้งของเรือนจำก็อยู่ห่างไกลเกินไป แต่แม้ว่าทางเรือนจำจะประสบปัญหาดังกล่าวแต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามจัดกิจกรรมให้กับผู้ต้องขังทุกวัน
พลเอกจัน คิม เซ็ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ของกัมพูชากล่าวระหว่างการประชุมว่า “กิจกรรมการฝึกอาชีพและฟื้นฟูสภาพจิตใจสำหรับผู้ต้องขัง จะช่วยให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้งเมื่อพวกเขาพ้นโทษและยังทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ”
นายเปา ฮัม พัน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานด้านเรือนจำกล่าวว่า “ในกฎหมายของประเทศมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ต้องขังเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของเจ้าหน้าที่เรือนจำ”
การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการเรือนจำจากทั่วประเทศได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการหาแนวทางเพื่อดูแลผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยและความวิตกกังวลด้านมนุษยธรรมไปพร้อมๆกัน
“เราหวังว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำในกัมพูชาจะหาหนทางในการช่วยให้ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ เข้าถึงกิจกรรมและโครงการฟื้นฟูสภาพจิตใจได้มากขึ้น” นายสตีเฟน จอห์นสตัน ที่ปรึกษาด้านเรือนจำของไอซีอาร์ซีกล่าว “สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ และสังคมในภาพรวม แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องมีการจัดตั้งระบบความปลอดภัยให้กับผู้ต้องขังเสียก่อน”
ระบบนี้จะช่วยเจ้าหน้าที่เรือนจำในการระบุตัวตนของผู้ต้องขังว่าใครมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงมากน้อยต่างกันเพื่อจะได้เลือกส่งตัวไปยังแดนที่ถูกต้องและจัดกิจกรรมการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่เหมาะสมให้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้แน่ใจว่าผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและช่วยลดความตึงเครียดในเรือนจำได้อีกด้วย
ไอซีอาร์ซีได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศกัมพูชาและทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่ปี 2536 ไอซีอาร์ซีประเมินสภาพการณ์และหารือถึงข้อสังเกตุที่พบกับเจ้าหน้าที่เรือนจำโดยไม่เปิดเผย นอกจากนี้ทางหน่วยงานยังทำงานร่วมกับวิศวกรของกรมราชทัณฑ์ในการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานในเรือนจำและทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในการสนับสนุนงานด้านบริการสุขภาพอีกด้วย