คอนนิชิวะ พระตะบอง

บทความ / บล็อค

คอนนิชิวะ พระตะบอง

เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีความรู้เกี่ยวกับสันติภาพ กับระเบิด การศึกษา และเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โรงเรียนนานาชาติโยโกฮามาของญี่ปุ่นจึงได้จัดให้นักเรียนได้มีโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา 3 ประเทศ อันได้แก่ บรูไนดารุสซาลามเพื่อดูงานด้านสิ่งแวดล้อม เวียดนามเพื่อดูงานด้านเศรษฐกิจและกัมพูชาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของสันติภาพ  ตามโครงการ Super Global High School (SGH)** ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ต้องการเน้นให้การศึกษาของญี่ปุ่นมุ่งสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้นตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล

ผู้จัดการศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพพานักเรียนญีปุ่่นจากโรงเรียนนานาชาติโยโกฮามาเดินชมการทำงานของแผนกต่างๆภายในศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ

ผู้จัดการศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพพานักเรียนญีปุ่่นจากโรงเรียนนานาชาติโยโกฮามาเดินชมการทำงานของแผนกต่างๆภายในศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ/ICRC

ทั้งนี้ทางโรงเรียนได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มๆละ 12 คน และแต่ละกลุ่มจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเดินทางมาดูแลและให้คำแนะนำ สำหรับกลุ่มนักเรียนที่เดินทางมาประเทศกัมพูชานั้น ทางโรงเรียนต้องการให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาและสันติภาพ นอกจากนี้ยังต้องการให้เด็กๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานด้านมนุษยธรรมในกัมพูชาของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) สถานการณ์ด้านกับระเบิดและผู้พิการในประเทศกัมพูชาอีกด้วย

อาจารย์ซูซูกิ โยชิมิตสุ หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษากล่าวว่า “การทัศนศึกษาในครั้งนี้จะช่วยให้เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องราวของกับระเบิดและการทำงานของศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพในกัมพูชา ซึ่งเท่าที่ทราบมีอยู่สองแห่งคือที่จังหวัดพระตะบองและกัมปงสปือที่ไอซีอาร์ซีให้การสนับสนุน”

 

การดูงานที่ศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพที่จังหวัดพระตะบองในครั้งนี้ นักเรียนทั้งหมดได้มีโอกาสพบกับจัน เฮง ผู้จัดการของศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ ซึ่งเขาได้พานักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาเดินดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแผนกต่างๆที่ศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ รวมทั้งอธิบายขั้นตอนต่างๆตั้งแต่การสมัครเข้าเป็นผู้ป่วยกับทางศูนย์ฯ การพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวัดขนาดอุปกรณ์ การทำอุปกรณ์ด้วยวัสดุพิเศษที่เรียกว่า โพลีพร็อพไพลีน รวมทั้งการฝึกฝนการใช้อุปกรณ์เพื่อเตรียมกลับไปใช้ชีวิตใหม่ที่บ้าน

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพกำลังทำอุปกรณ์ออร์โธปีดิกส์ให้กับผู้ป่วยโดยใช้วัสดุที่เรียกว่า โพลีพร็อพลิลีนที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถใช้งานได้นานหลายปี

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพกำลังทำอุปกรณ์ออร์โธปีดิกส์ให้กับผู้ป่วยโดยใช้วัสดุที่เรียกว่า โพลีพร็อพไพลีนที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถใช้งานได้นานหลายปี/ICRC

ไรกุ ชิราอิวะ หนึ่งในนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติโยโกฮามาที่เข้าร่วมโครงการทัศนศึกษาที่ประเทศกัมพูชาบอกว่า เขามีความสนใจระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นพิเศษและเขาอยากเรียนรู้เรื่องสันติภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อมและกับระเบิด รวมถึงการทำงานของแผนกต่างๆในศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ การเดินทางมาทัศนศึกษาในครั้งนี้น่าสนใจเพราะเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้ทราบถึงปัญหาที่ประเทศกัมพูชากำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องกลายมาเป็นผู้พิการ

ชิราอิวะกล่าวว่า “ที่ศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพแห่งนี้ ผมได้เห็นขั้นตอนของการทำอุปกรณ์ออร์โธปีดิก ซึ่งผมไม่รู้มาก่อนเลยว่ามันจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเช่นนี้” ชิราอิวะหวังว่าในอนาคตเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะมีส่วนช่วยเหลือผู้พิการในสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หัวหน้าจัน เฮง กำลังอธิบายให้นักเรียนฟังถึงขั้นตอนการทำอุปกรณ์ออร์โธปีดิกส์สำหรับผู้ป่วย

จัน เฮง กำลังอธิบายให้นักเรียนฟังถึงขั้นตอนการทำอุปกรณ์ออร์โธปีดิกส์สำหรับผู้ป่วย

ทั้งนี้จัน เฮง กล่าวว่า ศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพที่จังหวัดพระตะบองนี้รองรับผู้ป่วยในพื้นที่ 5 จังหวัดทางภาคตะวันตกของกัมพูชาซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีการใช้กับระเบิดมากที่สุดในช่วงที่มีความขัดแย้งภายในประเทศ และปัจจุบันกับระเบิดบางส่วนยังคงตกค้างและฝังอยุ่ในดิน ทำให้ประชาชนที่ออกไปทำงานในป่าหรือเก็บของป่าได้รับผลกระทบจากกับระเบิดเหล่านี้ ซึ่งทางศูนย์ฯเมื่อรับผู้ป่วยเข้ามาในระบบแล้วก็จะจัดหาอุปกรณ์ออร์โธปีดิกส์ที่เหมาะสมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเมื่อปี 2558 มีผู้ป่วยกว่า 11,000 คน ที่สมัครขอรับอุปกรณ์

ชิเอริ ยามาชิตะ เป็นนักเรียนอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาทัศนศึกษาในครั้งนี้ เธอรู้สึกตกใจกับจำนวนผู้พิการที่เข้ามารับการรักษาที่ศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพแห่งนี้ แต่หลังจากได้รับฟังคำอธิบายจากผู้จัดการศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ ยามาชิตะก็รู้สึกสบายใจขึ้นและกล่าวว่า “ฉันรู้สึกตกใจที่เห็นผู้พิการจำนวนมากขนาดนี้ แต่ละคนก็มีความพิการที่แตกต่างกัน แต่พอฉันเห็นรอยยิ้มของพวกเขา ฉันก็รู้สึกว่าพวกเขาคงจะต้องมีความสุข ที่ได้รับอุปกรณ์ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง” ยามาชิตะบอกว่าเธอจะนำเรื่องราวที่เธอได้เห็นจากศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพแห่งนี้ไปเล่าให้เพื่อนๆฟังที่โรงเรียนหลังเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น

** โครงการ Super Global High School (SGH) เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้การศึกษาของประเทศญี่ปุ่นมุ่งสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น ตามแผนปฏิรูปทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยในระดับมัธยมศึกษาได้มีการผลักดันให้มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษรวมถึงวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นอกจากในระดับมัธยมศึกษาแล้วในระดับมหาวิทยาลัยก็มีการส่งเสริมให้มีอาจารย์จากต่างประเทศมาสอน มีการจัดทำหลักสูตรปริญญาร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและปรับหลักสูตรให้น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติด้วยเช่นกัน

 

 

 

แบ่งปันบทความนี้