การก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ พ.ศ. 2406

จุดเริ่มต้นของ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ (International Committee of the Red Cross – ICRC) คือการจัดประชุมร่วมกันของสมาชิกผู้ก่อตั้ง 5 คน หนึ่งในนั้นคืออังรี ดูนังต์ (Henry Dunant) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม ผู้ให้กำเนิดกาชาด และการประชุมนี้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2406 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย 1 ปีก่อนหน้านั้น อังรี ดูนังต์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ A Memory of Solferino ซึ่งไม่เพียงแต่จะบรรยายถึงความหายนะและทุพภิกขภัยการสู้รบในสมรภูมิโซลเฟริโนเท่านั้น หากแต่ยังได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงการรักษาพยาบาลทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสงครามด้วย

อังรี ดูนังต์ มีข้อเสนอสำคัญ 2 ประการคือ ในยามสงบให้ทุกประเทศจัดตั้งองค์กรของผู้มีจิตอาสาที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีเพื่อให้การช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บในภาวะสงคราม และให้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อเป็นหลักประกันการได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีมนุษยธรรมของผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยปลายปี พ.ศ. 2406 มี 16 ประเทศที่ได้กำหนดแผนการจัดตั้งองค์กรบรรเทาทุกข์แห่งชาติ และในปีต่อมาก็ได้มีการลงนามในอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) ฉบับแรก โดยสนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดให้กองทัพต้องดูแลรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นทหารของฝ่ายใดก็ตาม และได้เริ่มต้นใช้สัญลักษณ์อันเป็นสากลสำหรับหน่วยแพทย์ นั่นคือ เครื่องหมายกากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว (ซึ่งสลับสีกับธงชาติสวิตเซอร์แลนด์)

การใช้เครื่องหมายกาชาดในหน่วยการแพทย์

การใช้สัญลักษณ์เสี้ยวงวงเดือนแดงเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2419

ในระหว่างการทำสงครามกับรัสเซีย จักรวรรดิออตโตมานได้ประกาศว่า จะใช้สัญลักษณ์เสี้ยววงเดือนแดงเป็นเครื่องหมายประจำรถพยาบาลของพวกเขาและจะเคารพในสัญลักษณ์กาชาดที่คุ้มครองรถพยาบาลของฝ่ายศัตรูเช่นเดียวกัน จักรวรรดิออตโตมานให้เหตุผลว่าเครื่องหมายกาชาดก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อทหารที่เป็นชาวมุสลิม เบื้องต้นเครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดงได้รับการยอมรับจากภาคีสมาชิกอนุสัญญาเจนีวา ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะในภาวะสงครามเท่านั้น ก่อนจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2472

ภาพนายอังรี ดูนังต์ บิดากาชาด

อังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นคนแรกในปี พ.ศ.2444

ในปี พ.ศ. 2444 อังรี ดูนังต์ ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ร่วมรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากผลงานการอุทิศตนในการทำงานด้านมนุษยธรรม โดยหลังจากนั้น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ยังได้รับรางวัลโนเบลอีก 3 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2460 และปี พ.ศ. 2487 จากผลงานการปฏิบัติภารกิจทางมนุษยธรรมระหว่างสงครามโลก 2 ครั้ง และในปี พ.ศ. 2506 ในโอกาสครบรอบการก่อตั้งของกลุ่มองค์กรกาชาดสากลและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ

 

อนุสัญญาเจนีวาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2449

อนุสัญญาเจนีวาฉบับใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2449 ได้เพิ่มข้อกำหนดในการคุ้มครองและการรักษาพยาบาลทหารที่ปฏิบัติการรบในทะเล

เชลยสงคราม ภาพถ่ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามโลกครั้งที่ 1 ปีพ.ศ. 2457

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือICRC ได้แสดงศักยภาพของความเป็นองค์กรระหว่างประเทศอย่างแท้จริงและเต็มกำลัง ทั้งในด้านขนาดขององค์กรและขีดความสามารถการปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม โดยได้ปรับกระบวนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เนื่องจากระบบที่กำหนดไว้ยังไม่เคยทดสอบในภาคสนามขนาดใหญ่มาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาทางมนุษยธรรมรูปแบบใหม่ในสงครามที่ไม่เคยพบมาก่อนอีกต่างหาก

ภาพคณะประชุมก่อตั้งสันนิบาตกาชาด

การก่อตั้งสันนิบาตกาชาดปีพ.ศ. 2462

เฮนรี เดวิสัน ประธานคณะกรรมการกาชาดสงครามอเมริกัน (American Red Cross War Committee) ได้เสนอให้จัดตั้งสหพันธ์กาชาดขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้คนหลายล้านคนที่ประสบความทุกข์ยากจากความแห้งแล้งและโรคระบาดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยในปี พ.ศ. 2462 ผู้นำองค์กรกาชาดในอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามในหนังสือข้อตกลงจัดตั้ง สันนิบาตกาชาด (League of Red Cross Societies) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหพันธ์กาชาดสากลและเสี้ยววงเดือนแดง (International Federation of Red Cross and Red Crescent) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

อนุสัญญาเจนีวา เกี่ยวกับการดูแลนักโทษสงคราม

อนุสัญญาเจนีวาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปีพ.ศ. 2472 

อนุสัญญาเจนีวาฉบับใหม่ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2472 กำหนดกฎระเบียบในการคุ้มครองและรักษาพยาบาลเชลยสงคราม โดย ICRCได้ดำเนินการขยายขอบเขตการคุ้มครองของอนุสัญญาเจนีวาออกไปอีก เพื่อให้ครอบคลุมคุ้มครองพลเรือนในเขตพื้นที่ของปรปักษ์และในเขตพื้นที่ยึดครองของปรปักษ์ด้วย ซึ่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาฉบับหนึ่งได้รับการรับรองจากมติที่ประชุมกาชาดสากลในปี พ.ศ. 2477 แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมทางการทูตที่ถูกกำหนดจะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2483เพื่อประกาศใช้ร่างอนุสัญญาฉบับใหม่นี้ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพการปฏิบัติงานของกลุ่มองค์กรกาชาดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2482

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาและยุโรปที่เป็นกลางเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมในการสู้รบ และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีพื้นที่เป้าหมายของฝ่ายศัตรูเป็นบริเวณกว้างนับพันตารางกิโลเมตร และเป็นครั้งแรกที่จำนวนพลเรือนเหยื่อสงครามมีมากกว่าทหาร กองทัพนาซีของฮิตเลอร์ประกาศสงครามเชื้อชาติด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อกวาดล้างชาวยิว และชาวยิปซี พร้อมทั้งกำราบชนชาวสลาฟ ถึงแม้ในขณะนั้นมีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยสงครามแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงพลเรือนโดยทั่วไป ICRC จึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้เฉพาะกลุ่มแรกเท่านั้น ส่วนกลุ่มหลังช่วยได้เพียงเล็กน้อยหรือแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มพลเรือนที่ถูกคุมขังอยู่ในค่ายกักกัน ICRC ยอมรับในเวลาต่อมาว่า ไม่สามารถใช้อำนาจของตนเองเท่าทีมีอยู่เพื่อคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อการประหัตประหารของนาซีได้เพียงพอ

หลังสงครามสงบ มีการประชุมเพิ่มเติมและขยายการคุ้มครองของอนุสัญญาเจนีวา

การเพิ่มเติมและขยายการคุ้มครองของอนุสัญญาเจนีวาปี พ.ศ. 2492

ในปีพ.ศ. 2492 มีความก้าวหน้าครั้งสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมนุษยธรรม โดยอนุสัญญาเจนีวาที่มีอยู่เดิม 3 ฉบับ (คุ้มครองทหารทั้งบนบกและในทะเล และเชลยสงคราม) ได้รับการปรับปรุงและขยายขอบเขตการคุ้มครอง รวมทั้งประกาศใช้อนุสัญญาฉบับใหม่คุ้มครองพลเรือนในภาวะสงครามเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่ง

งานครบรอบ 100 ปี คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ

ครบรอบหนึ่งศตวรรษคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศปี พ.ศ. 2506

ในปี พ.ศ. 2506 ICRC (และกลุ่มองค์กรกาชาดสากลและเสี้ยววงเดือนแดง) เฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้ง และในโอกาสนี้ ICRC และสหพันธ์กาชาดสากลและเสี้ยววงเดือนแดง (สันนิบาตกาชาดในขณะนั้น) ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน

จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2518

จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2518

สำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2518 ในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือผู้อพยพจากการสู้รบในประเทศ โดยในปัจจุบันสำนักงานภูมิภาคนี้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยความรุนแรงอื่นๆในใน 4 ประเทศคือ ประเทศไทย กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม

การเพิ่มเติมระเบียบพิธีในอนุสัญญาเจนีวาฉบับปี พ.ศ. 2492 

ปี พ.ศ 2520 ได้มีการเพิ่มเติมระเบียบพิธีในอนุสัญญาเจนีวาฉบับปี พ.ศ. 2492 

ในปี พ.ศ. 2520 มีการเพิ่มระเบียบพิธี (Protocol) 2 ประการในอนุสัญญาเจนีวาฉบับปีพ.ศ. 2492เพื่อเป็นการขอบเขตของการให้ความคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อในภาวะสงครามอย่างมีนัยสำคัญ โดยระเบียบพิธีข้อที่ 1 คุ้มครองเหยื่อในระดับนานาชาติ ส่วนระเบียบพิธีข้อที่ 2 คุ้มครองเหยื่อในสถานการณ์ขัดแย้งที่ไม่ถือเป็นระดับนานาชาติ

ICRC ในสถานะสถานะผู้สังเกตการณ์ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติปี

สถานะผู้สังเกตการณ์ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติปี พ.ศ. 2533

ICRC ได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในปีพ.ศ. 2533 และทางสหพันธ์กาชาดสากลได้รับสถานะดังกล่าวในปีพ.ศ. 2537ซึ่งสถานะผู้สังเกตการณ์นี้ทำให้ ICRC และสหพันธ์กาชาดสากลสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นปัญหาด้านมนุษยธรรมได้อย่างเป็นทางการในนามของกลุ่มองค์กรกาชาดสากลและเสี้ยววงเดือนแดง

ระเบียบปฏิบัติใหม่ปี พ.ศ.2534 

ระเบียบปฏิบัติใหม่ปี พ.ศ.2534 

ที่ประชุมสภาผู้แทน (ซึ่ง ICRC สหพันธ์กาชาดสากลและเสี้ยววงเดือนแดง และสภากาชาดระดับประเทศ ต่างมีสิทธิออกเสียงเท่าเทียมกัน) ได้มีมติรับรองระเบียบปฏิบัติฉบับใหม่ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรม รวมทั้งหลักการและอุดมการณ์ของขบวนการ

การรณรงค์ห้ามการใช้กับระเบิดสังหารบุคคลปี พ.ศ. 2540 

การรณรงค์ห้ามการใช้กับระเบิดสังหารบุคคลปี พ.ศ. 2540 

การรณรงค์อย่างกว้างขวางทั่วโลกเพื่อให้ยกเลิกการใช้กับระเบิดสังหารบุคคล (anti-personnel mines) ในพ.ศ. 2540 ยังผลให้มีการประกาศใช้อนุสัญญาห้ามใช้กับระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine-Ban Convention) โดยกลุ่มองค์กรกาชาดสากลได้ดำเนินการเพื่อลดความสูญเสียอันเนื่องมาจากกับระเบิดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สัญลักษณ์ใหม่ คริสตัลแดง ปรากฏคู่กับเสี้ยววงเดือนแดงและกากบาทแดง

สัญลักษณ์ใหม่ปี พ.ศ.2549 

ในปีพ.ศ. 2549 ที่ประชุมมีมติแก้ไขระเบียบข้อบังคับของกลุ่มองค์กรกาชาดสากลให้ผนวกรวมสัญลักษณ์ตราคริสตัลแดง (Red Crystal) เข้าไว้ในกลุ่มองค์กรด้วย เพื่อคลี่คลายปัญหาที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดช่องทางให้องค์กรกาชาดระดับประเทศที่ไม่ประสงค์จะใช้สัญลักษณ์กาชาดหรือเสี้ยววงเดือนแดง สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกขบวนการได้โดยใช้ตราสัญลักษณ์เพชรแดง นอกจากนั้นระเบียบใหม่ยังได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์กาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงร่วมกันได้อีกด้วย