เคยสงสัยบ้างไหมว่า มันจะต้องใช้อะไรบ้างเพื่อที่จะทำงานในองค์กรเพื่อมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสามครั้งด้วยกัน และเป็นองค์กรที่ทำงานมาแล้วถึง 150 ปี พร้อม ๆ กับเหล่าเจ้าหน้าที่กว่า 93,000 คน ผู้อุทิศตัวในการให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาผู้คน ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในกว่า 90 ประเทศ
เราไปพาคุณไปค้นหาคำตอบจากประสบการณ์ในการทำงานของคุณเซดริก พิรัลล่า หัวหน้าสำนักงานย่อยไอซีอาร์ซีประจำเชียงใหม่ ที่เพิ่งจะเกษียณอายุไปเมื่อไม่นานมานี้
“ความมุ่งมั่นและภาระหน้าที่” คือคำนิยามของเซดริก พิรัลลา หัวหน้าสำนักงานย่อยไอซีอาร์ซีประจำเชียงใหม่ “ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณคิดว่าคุณสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้คนได้” นักมนุษยธรรมรุ่นเก๋าผู้มีอายุอานามครบ 58 ปีกล่าว “ไม่มีเรื่องสีผิว ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีศาสนา เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานให้ความช่วยเหลือของเรา ถ้าคุณถามผมว่า ชาวอัฟกัน ชาวโซมาเลีย ชาวสวิส หรือ ชาวฟิลิปปินส์ นั้นต่างกันอย่างไร ผมจะบอกให้ว่า ไม่มีอะไรต่างกันหรอก ทุก ๆ คนก็เป็นมนุษยเหมือนกัน มีความจำเป็นต่าง ๆ สำหรับตัวเองและครอบครัวเหมือน ๆ กัน และก็มีความฝันที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุข อยากจะเลี้ยงดูลูกหลานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเหมือน ๆ กันทั้งนั้น”
คุณเซดริก ถูกส่งไปทำงานในพื้นที่ที่มีการสู้รบรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง โดยในระหว่างสงครามอิรักในปี 2534 คุณเซดริกทำหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์เพียงแห่งเดียวที่มีอยู่ ซึ่งต้องรองรับผู้คนกว่า 3 แสนคนในเขตพื้นที่สุเลย์มานยา “ครับ มันค่อนข้างยาก แต่ผมก็มีทีมที่เก่งที่สุด และในท้ายที่สุดแล้ว เราได้ช่วยเหลือชีวิตผู้คน และสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้จริง ๆ และที่ว่ามานี่แหละคือสิ่งที่อธิบายงานของเรา”
บางทีมันก็มีช่วงเวลาแห่งความสุข และบางครั้งก็มีช่วงของความหวั่นวิตก คุณเซดริกกล่าว “ตอนที่ผมเป็นหัวหน้าสำนักงานย่อยอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ช่วงปี 2552 เกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามคนของเราถูกกลุ่มอาบู ซายาฟ ลักพาตัวไปนานถึงหกเดือน มันเป็นช่วงเวลาแห่งความวิตกกังวล กว่าที่เพื่อนร่วมงานของเราจะได้รับการปล่อยตัว เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเหตุการณฺ์ที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตการทำงานของผม ด้วยความที่เราไม่มีข้อมูลใดๆ ที่จะบอกเล่ากับบรรดาครอบครัวและคนที่รักของเพื่อนเราที่ถูกจับกุมตัวไป”
“งานนี้คือการช่วยเหลือดูแลผู้คน ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเนลสัน แมนเดลลาในช่วงต้นปี 2543 และ เขาก็บอกกับผมว่า ท่ามกลางสงครามและการหลั่งเลือด ท่ามกลางความเป็นศัตรูและความเจ็บปวด ความเกลียดชังและความขัดแย้ง กาชาดได้ถือธงแห่งศรัทธาที่มีต่อมนุษยธรรมซึ่งเรามีร่วมกัน ผมไม่เคยลืมคำพูดเหล่านั้นเลย ทุกวันนี้ผมก็ยังดำเนินชีวิตตามครรลองนั้น”
คุณเซดริกเพิ่งจะเกษียณอายุจากการเป็นหัวหน้าสำนักงานย่อยไอซีอาร์ซีประจำเชียงใหม่ ซึ่งระหว่างอยู่ในตำแหน่งนั้น เขาทำหน้าที่บริหารโครงการเพื่อผู้บาดเจ็บจากสงคราม เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้บาดเจ็บตามแนวชายแดนเมียนมาร์ คุณเซดริกยังให้การอบรมเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสำหรับกำลังพล ในกองทัพ และกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ นอกจากนี้ ทั้งตัวคุณเซดริกเองรวมทั้งทีมงานของเขาก็เตรียมพร้อมเสมอเพื่อที่จะช่วยเหลือเหยื่อและผู้เคราะห์ร้ายต่าง ๆ เช่น ในกรณีอุทกภัย เป็นต้น เมื่อคุณเซดริกได้พักจากงานให้คำปรึกษาต่อเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่เจนีวาและในภูมิภาคอื่น ๆ ในเรื่องการส่งเสริมหลักการมนุษยธรรมให้กับพลรบต่าง ๆ แล้วนั้น คุณเซดริกจึงได้มีโอกาสที่จะใช้เวลากับครอบครัว ซึ่งมีคุณชันทาล ภรรยา และลูกชายสองคนคือ ยิสโซ และ เจไน