การช่วยเหลือและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทความ / บล็อค

กว่าเก้าปีแล้วที่ความรุนแรงได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ผู้คนนับพันต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรง    ICRC ได้ยื่นมือเข้าช่วยฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเพื่อบรรเทาปัญหาจากสถานการณ์อันยากลำบากนี้

ฮารีนา เป็นคุณแม่ที่ยังสาวของสาวน้อยอายุสี่ขวบที่ชื่อว่า นูร์   นูร์นั้นมีอายุเพียงสองเดือนเมื่อตอนที่พ่อของเธอถูกส่งเข้าเรือนจำทำให้แม่ของเธอต้องกลายมาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว  “ฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ทั้งลูกก็ยังเล็ก ทั้งไม่มีเงิน และสามีของฉันก็ต้องติดคุก” ฮารีนากล่าวพร้อมทั้งพยายามกลั้นน้ำตาภายใต้ผ้าคลุมหน้าในขณะที่เธอนึกถึงชีวิตของเธอในช่วงนั้น “ฉันไม่เคยทำงานมาก่อนเลย”

หลาย ๆ ครอบครัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีเรื่องราวอันเศร้าโศกอันเนื่องมาจากผลกระทบจากความรุนแรง   ฟารีดาผู้เป็นหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ยังคงจำได้ถึงวันที่เธอเดินผ่านร้านน้ำชาแห่งหนึ่งในขณะที่ชายสี่คนเข้าประกบด้านข้างเธอก่อนที่จะเปิดฉากยิง  ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปโดยไม่ทันได้ตั้งตัว  “ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งระเบิด ผู้คนกรีดร้องและวิ่งหนี รวมทั้งแผลไฟไหม้อันรุนแรงบนแขนของฉัน”

การโจมตีครั้งนั้นได้คร่าชีวิตประชาชนสี่คน และอีกเก้าคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งฟารีดาก็เป็นหนึ่งในนั้น  บาดแผลของเธอนั้นไม่สามารถหายกลับมาได้เหมือนเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่า ฟารีดาไม่สามารถที่จะทำอาชีพทำขนมขายที่ตลาดได้อีก ทั้ง ๆที่นั่นเป็นรายได้แหล่งเดียวของครอบครัวเธอ

“มันน่าเศร้าที่ผู้หญิงและเด็กมักจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง” มาร์ค เคสเลอร์ หัวหน้าผู้กำกับดูแลกิจกรรมของ ICRC ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาตใต้กล่าว  “เราได้ช่วยเหลือผู้คนที่สูญเสียชีวิตความเป็นอยู่จากความรุนแรง ให้สามารถกลับมายืนหยัดด้วยตัวเองได้อีกครั้ง”

ยะลา-อดีตผู้ต้องขัง มาโรเซะ มาเคโร ได้รับอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือในโครงการเพาะเห็ด

ยะลา-อดีตผู้ต้องขัง มาโรเซะ มาเคโร ได้รับอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือในโครงการเพาะเห็ด

ฮารีนาและฟารีดานั้นต่างก็เป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการเสริมสร้างรายได้ซึ่งดำเนินงานโดย ICRC ในภูมิภาคชายแดนภาคใต้  “โครงการเหล่านี้เป็นการให้ความช่วยเหลือต่อครอบครัวที่ผู้หาเลี้ยงครอบครัวนั้นถูกจำคุก บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต อันเนื่องมาจากความรุนแรง” มาร์คอธิบาย “โครงการเหล่านี้ยังได้ช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังบางรายผู้มีความจำเป็นในการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่”  ทั้งนี้ เป้าหมายของโครงการคือการช่วยทำให้บรรดาครอบครัวที่ได้รับผมกระทบนั้นได้พัฒนาแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน โดยยึดบนพื้นฐานของความสนใจและภูมิหลังของผู้ได้รับประโยชน์

ปัตตานี-ดาโอ๊ะ มาเม๊าะห์ (เสื้อสีเหลือง) ใช้อุปกรณ์หาปลาซึ่งจัดหาโดย ICRC เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่หลัีงจากถูกคุมขัง

ปัตตานี-ดาโอ๊ะ มาเม๊าะห์ (เสื้อสีเหลือง) ใช้อุปกรณ์หาปลาซึ่งจัดหาโดย ICRC เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่หลัีงจากถูกคุมขัง

ICRC ได้ช่วยเหลือฟารีดาและสามีของเธอในการจัดทำสวนผลไม้  ในขณะเดียวกันฟารีดาก็ได้รับการฝึกฝนการเย็บผ้าและงานเย็บปักถักร้อยต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ฟารีดาก็ได้กลายมาเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้าแล้ว  ทั้งสองโครงการนั้นได้เติบโตและเบ่งบานด้วยความมุมานะและพรสวรรค์ของพวกเขา

ICRC มีโครงการในลักษณะนี้กว่า 65 โครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่นั้นดำเนินการโดยผู้หญิง   โดยโครงการเหล่านี้จะมีตั้งแต่ การฝึกฝนงานเย็บปักถักร้อย การทำขนม และงานด้านโยธา “จุดสำคัญคือการเสริมสร้างรากฐานการฟื้นฟู  การฝึกฝนทักษะ และในท้ายที่สุดคือการสร้างรายได้  ไม่ใช่เป็นเพียงการหยิบยื่นความช่วยเหลือเป็นครั้ง ๆ   และจากความมุ่งมั่นรับผิดชอบ และความขยันขันแข็งนี้เอง ที่ฮารีนาและฟารีดาได้พลิกฟื้นชีวิตของพวกเธอกลับมาอีกครั้ง” มาร์คกล่าว

ปัตตานี-ไซคีนา เช็คมะห์ (ขวา) และเพื่อนๆ ได้รับเครื่องทำโดนัทขนาดเล็กจาก ICRC

ปัตตานี-ไซคีนา เช็คมะห์ (ขวา) และเพื่อนๆ ได้รับเครื่องทำโดนัทขนาดเล็กจาก ICRC

ฮารีนานั้นภูมิใจกับสิ่งที่เธอเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ถึงแม้ว่าความทรงจำอันเจ็บปวดจะยังคงหลงเหลืออยู่ก็ตาม “ทุกวันนี้ ฉันไปเยี่ยมสามีของฉันในเรือนจำสัปดาห์ละครั้ง และฉันสามารถดูแลลูกสาวของฉันได้ด้วยตัวเอง ตอนนี้พวกเราสบายดีแล้ว” ฮารีนากล่าว

แบ่งปันบทความนี้