นครเจนีวา – คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) เรียกร้องให้ทั่วโลกช่วยกันสร้าง “เครื่องหมายกาชาดดิจิทัล” ไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานทางการแพทย์หรือสำนักงานกาชาดในประเทศ เพื่อให้ทหารและนักเจาะระบบ หรือ แฮกเกอร์ ทราบได้ทันทีว่าระบบและข้อมูลที่เข้าถึงนั้นได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในยามที่มีการขัดกันทางอาวุธ
ไอซีอาร์ซีเผยแพร่รายงานชิ้นล่าสุดเรื่อง “Digitalizing the Red Cross, Red Crescent, and Red Crystal emblems” ที่ศึกษาค้นคว้าร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เกี่ยวกับประโยชน์ของการมีเครื่องหมายกาชาดดิจิทัลในการคุ้มครองโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของหน่วยงานทางการแพทย์และสำนักงานกาชาด โดยจะทำให้ผู้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ทราบว่าสถานที่ใดได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แบบเดียวกับการทำเครื่องหมายกาชาดหรือเสี้ยววงเดือนแดงกำกับไว้บนดาดฟ้าของโรงพยาบาล และสรุปว่าการมีสิ่งบ่งชี้เพิ่มเติมอย่างเครื่องหมายกาชาดดิจิทัลนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์ความสับสนของ “ม่านหมอกแห่งสงครามดิจิทัล”
เครื่องหมายกาชาดนั้นใช้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการคุ้มครองเป็นเวลามานานกว่า 150 ปีแล้ว โดยใช้สื่อให้เข้าใจได้ทันทีว่า ในยามที่มีการสู้รบ บุคคลหรือสถานที่และวัตถุใดที่มีสัญลักษณ์กาชาดจะต้องได้รับความคุ้มครองจากอันตราย ซึ่งภาระผูกพันของคู่ภาคีในสงครามที่จะต้องเคารพและคุ้มครองบุคลากรด้านการแพทย์และมนุษยธรรมนี้ยังมีผลกับโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้ หลายประเทศมีการพัฒนาศักยภาพของกองทัพในด้านไซเบอร์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเท่ากับว่าจะมีการใช้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ในการสู้รบเพิ่มขึ้นตามมา การใช้เครื่องหมายกาชาดในโลกไซเบอร์จึงยิ่งมีความสำคัญต่อการคุ้มครองหน่วยงานทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ไอซีอาร์ซีในพื้นที่เสี่ยง
นาย โรเบิร์ต มาร์ดินี (Robert Mardini) ผู้อำนวยการทั่วไปของไอซีอาร์ซี กล่าวว่า “การปฎิบัติการไซเบอร์ในสถานการณ์ขัดกันทางอาวุธไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริงเลย ในสังคมปัจจุบันที่พัฒนาไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างไม่หยุดยั้ง ไอซีอาร์ซีซึ่งมีพันธกิจในการคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าปฏิบัติการไซเบอร์เหล่านี้มีอันตรายอย่างไรบ้าง และการใช้ ‘เครื่องหมายกาชาดดิจิทัล’ คือหนึ่งวิธีที่จะคุ้มครองสาธารณูปโภคพื้นฐานทางการแพทย์ที่จำเป็นรวมถึงไอซีอาร์ซีในโลกไซเบอร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
แต่การจะทำให้เครื่องหมายกาชาดดิจิทัลใช้ได้จริงนั้น ต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันของประเทศต่างๆในการใช้เครื่องหมายนี้ และต้องบรรจุไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ควบคู่กับการใช้เครื่องหมายกาชาดอีกสามประเภทที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (กากบาทแดง เสี้ยววงเดือนแดง และคริสตัลแดง) ไอซีอาร์ซีจึงได้ริเริ่มกระบวนการประสานงานให้ประเทศต่างๆ มีการพูดคุยเพื่อหาทางให้หน่วยงานทางการแพทย์และหน่วยงานด้านมนุษยธรรมที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การสู้รบ ได้รับการคุ้มครองทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์
ทั้งนี้ ในรายงานล่าสุดที่ไอซีอาร์ซีจัดทำร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรนั้น ได้นำเสนอการใช้เครื่องหมายกาชาดดิจิทัลในสามรูปแบบ คือ
- การใช้เครื่องหมายกำกับบนโดเมนเนม (DNS-based emblem) เป็นการติดเครื่องหมายพิเศษที่เชื่อมโยง “เครื่องหมายกาชาดดิจิทัล” เข้ากับโดเมนเนม (เช่น hospital.emblem) ซึ่งเป็นวิธีทำได้ไม่ยากและมองเห็นได้ด้วยตา
- การใช้เครื่องหมายบนไอพีแอดเดรส (IP-based emblem) เป็นการแทรกเครื่องหมายกาชาดที่เป็นชุดตัวเลขเฉพาะลงไปในไอพีแอดเดรส เพื่อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลและข้อความที่ส่งผ่านเครือข่ายได้รับการคุ้มครองจากการโจมตี
- การใช้ระบบยืนยันเครื่องหมายกาชาดดิจิทัล (Authenticated Digital Emblem – ADEM) เป็นการใช้ใบรับรองความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อบ่งชี้ว่าเครือข่ายดังกล่าวได้รับความคุ้มครอง ผ่านการยืนยันตัวตนโดยบุคคลจากหลายหน่วยงานและสื่อสารผ่านไอพีแอดเดรสที่แตกต่างกัน
ปัจจุบัน ไอซีอาร์ซีทำงานร่วมกับศูนย์เพื่อความไว้วางใจทางไซเบอร์ (Center for Cyber Trust) อันเป็นศูนย์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (ETH Zurich) กับมหาวิทยาลัยบอนน์ รวมถึงมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปคินส์ (John Hopkins University) และ มหาวิทยาลัย ITMO แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยระบุโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของสถานที่ต่างๆ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองบนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ ไอซีอาร์ซียังจับมือกับกาชาดออสเตรเลีย ในการรวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อาจนำมาใช้ รวมถึงความเสี่ยงและข้อดีที่จะเกิดขึ้น โดยทำงานร่วมกับบริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์ อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาล อดีตผู้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีจากแวดวงการแพทย์และงานมนุษยธรรม ผู้แทนหน่วยงานกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงในหลายประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญวิทยา ตลอดจนแฮกเกอร์ หมวกขาว (white-hat hacker) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ได้รับอนุญาตให้ละเมิดระบบอย่างถูกกฎหมายเพื่อหาจุดอ่อนและวางระบบป้องกันการโจมตีจากภายนอก