สุนทรพจน์โดย จิลส์ คาร์บอนนิเยร์ รองประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ในโอกาสการประชุมทบทวนอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 5 ณ จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567
ฯพณฯ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
ฯพณฯ ลี ทุช ประธานการประชุมทบทวนครั้งที่ 5
ท่านผู้มีเกียรติ สุภาพสตรี สุภาพบุรุษ และเพื่อนร่วมงานทั้งหลาย
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมทบทวนอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 5 ในนามของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ กัมพูชาถือเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งอยู่เบื้องหลังการบ่มเพาะความเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อให้โลกใบนี้ปราศจากทุ่นระเบิด และข้าพเจ้าขอกล่าวขอบคุณเจ้าบ้านที่เปิดประตูต้อนรับพวกเราในบรรยากาศซึ่งแวดล้อมไปด้วยมรดกโลกอันเป็นเอกลักษณ์ ณ เมืองเสียมราฐ
ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วยการเน้นย้ำถึงเหตุผลด้านมนุษยธรรม อันเป็นรากฐานของอนุสัญญานี้ เมื่อครั้งที่อนุสัญญาได้รับการรับรองในปี 2540 เหยื่อของทุ่นระเบิดส่วนใหญ่คือพลเรือน และบ่อยครั้งมักเป็นผู้พลัดถิ่นที่กำลังเดินทางกลับบ้าน พยายามสร้างชีวิตใหม่ หรือบรรดาเกษตรกรที่มุ่งทำมาหาเลี้ยงชีพบนผืนดินของตนเอง เหยื่อจำนวนมากเป็นเด็กที่ชีวิตอันเยาว์วัยต้องสิ้นสุดลงอย่างกะทันหัน หรือเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลหลังก้าวเท้าเหยียบลงบนทุ่นระเบิด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทางไปโรงเรียน หรือขณะกำลังเล่นสนุกอยู่นอกบ้าน
แม้ว่านับแต่นั้นเป็นต้นมา การห้ามทุ่นระเบิดจะคืบหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่เหตุการณ์เลวร้ายอันน่าสลดใจเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นกับพลเรือนจำนวนมาก ทำให้พวกเขาต้องแบกรับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส สิ่งนี้เองทำให้ภารกิจด้านมนุษยธรรมเพื่อยุติการใช้อาวุธที่ทำลายล้างโดยไม่เลือกเป้าหมายเช่นนี้ รวมถึงการช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด ล้วนแล้วแต่ยังคงเป็นภารกิจอันเร่งด่วนอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เพิ่งมีการรับรองอนุสัญญา
แต่ทว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เป้าหมายการกำจัดทุ่นระเบิดให้หมดไปจากโลกภายในปี 2568 นั้นคงไม่อาจบรรลุผลได้ทันเวลา การทำลายทุ่นระเบิดที่ทำได้อย่างเชื่องช้า และความล่าช้าที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านับเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดอนุสัญญา และข้อบกพร่องนานับประการในการช่วยเหลือเหยื่อจากทุ่นระเบิด ซึ่งยังไม่นับรวมอัตราการยอมรับอนุสัญญาในระดับสากลที่ช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ดี เรายังมีเหตุอันสมควรอีกมากมายให้ได้ภาคภูมิใจ กว่า 3 ใน 4 ของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ โดยนับตั้งแต่ปี 2540 บรรดารัฐภาคีต่างเดินหน้าทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมไว้รวมหลายล้านลูก และพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่ผ่านกระบวนการกวาดล้างทุ่นระเบิด จนสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัยในที่สุด
ความสำเร็จอันเป็นที่ประจักษ์เหล่านี้ ทำให้ข้าพเจ้ามีความหวังว่าเราจะสามารถหาหนทางแก้ไขปัญหาเรื้อรังและรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ร่วมกัน ซึ่งเราได้รับแรงผลักดันจากความสนใจต่อประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแบบแสวงเครื่อง[1] การเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้รอดชีวิตจากทุ่นระเบิด การให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากทุ่นระเบิด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และศักยภาพของเทคโนโลยีเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ฯพณฯ ท่าน สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทั้งหลาย
เราต้องหนักแน่นและเดินหน้าผลักดันการยอมรับอนุสัญญานี้ในระดับสากล รวมถึงการบังคับใช้ข้อกำหนดภายใต้อนุสัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องกล้าแสดงจุดยืนปกป้องบรรทัดฐานด้านมนุษยธรรมของอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย
นั่นหมายความว่า ประการแรก เราต้องคัดค้านการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ไม่ว่าโดยฝ่ายใด ในสถานที่ใด หรือด้วยสถานการณ์ใดก็ตาม เนื่องจากไม่มีข้ออ้างใดๆ จะเอื้อให้การใช้งาน หรือส่งมอบอาวุธที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อมนุษย์อย่างยาวนานโดยไม่เลือกหน้าเช่นนี้กลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้ ดังที่ชาวกัมพูชาตระหนักดียิ่งกว่าใคร
ประการที่สอง คือการทำงานอย่างไม่ลดละ เพื่อให้อนุสัญญาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ส่วนประการที่สาม ได้แก่ การจัดการกับข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดอนุสัญญาอย่างทันท่วงที ควบคู่ไปกับการป้องกันการละเมิดข้อกำหนดภายใต้อนุสัญญานี้
เราขอให้คำมั่นว่า ท่านทั้งหลายสามารถไว้วางใจคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ให้ทำหน้าที่เพื่อบรรลุเป้าหมายของอนุสัญญานี้ ผ่านการร่วมมือกับรัฐภาคีและพันธมิตรอื่นๆ ได้
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริงต่อรัฐบาลกัมพูชา และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ที่ตระหนักถึงบทบาทขององค์กรของข้าพเจ้า ในการพัฒนาและดำเนินการตามอนุสัญญานี้
รางวัลที่เราเพิ่งได้รับ เป็นประจักษ์พยานถึงการอุทิศตนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของฟันเฟืองทั้งหมดในกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าขอเชิดชูสภากาชาดกัมพูชาเป็นพิเศษ สำหรับความอุตสาหะบากบั่นอย่างยาวนาน ในการจัดการกับผลกระทบด้านมนุษยธรรมอันร้ายแรงที่เกิดจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และข้าพเจ้ายังยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่ามีสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงประจำประเทศอื่นๆ อีก 5 แห่งที่ได้เข้าร่วมมีบทบาทสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย
รางวัลนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้ ตราบเท่าที่เราร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานที่เหยื่อทุ่นระเบิดจะได้รับ
ฯพณฯ ท่าน สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ
ในอีก 5 ปีนับจากนี้ พวกเราขอเรียกร้องให้ท่านทั้งหลายตั้งเป้าหมายอย่างทะเยอทะยาน และลงมือสานต่อด้วยความรวดเร็ว เพื่อจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนต่างๆ ซึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้างโลกซึ่งปราศจากทุ่นระเบิดเกิดขึ้นจริงได้ในที่สุด
[1] ทุ่นระเบิดที่สร้างขึ้นและใช้งานในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากปฏิบัติการทางทหารแบบเดิมๆ
แปลและเรียบเรียงจาก ICRC urges states to uphold the prohibitions of the Anti-personnel Mine Ban Convention