เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี อนุสัญญาเจนีวา ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 1949 ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ​เรียกร้องให้ยกระดับความสำคัญของอนุสัญญาเจนีวาในทางการเมือง

“อนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศรวบรวมไว้ซึ่งหลักการสากลในการคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก กฎหมายเหล่านี้เป็นหัวใจของการป้องกันและคุ้มครองผลกระทบอันเลวร้ายของสงคราม เป็นหลักประกันว่าทุกคน แม้กระทั่งศัตรู ต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง” มีรยานา สปอลจาริก ประธานไอซีอาร์ซี กล่าว

อนุสัญญาเจนีวา อันเป็นสนธิสัญญารากฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ได้บรรลุผลสำเร็จหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองชีวิต การห้ามทรมานและความรุนแรงทางเพศ การกำหนดให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอย่างมีมนุษยธรรม และในประการสำคัญที่สุด อนุสัญญานี้สะท้อนฉันทามติของประชาคมโลกที่ว่าทุกสงครามย่อมมีกฎเกณฑ์และขอบเขต

อย่างไรก็ดี 75 ปี ภายหลังการรับรองอนุสัญญาเจนีวา กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกลับเผชิญข้อท้าทาย แม้กระทั่งถูกยกขึ้นอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง นี่เป็นเหตุผลที่ประชาคมโลกต้องทบทวนการทำตามสัตยาบันที่ได้ให้ไว้กับอนุสัญญานี้อันเป็นกรอบกฎเกณฑ์ของความคุ้มครองในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ กรอบที่มีไว้เพื่อปกป้องชีวิต มิใช่เพื่อส่งเสริมการฆ่าฟัน

ไอซีอาร์ซีเคยรายงานไว้เมื่อ ค.ศ. 1999 ว่ามีความขัดแย้งดำเนินอยู่ 20 กรณี แต่วันนี้ จำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 120 กรณีแล้ว ในการนี้ ประธานไอซีอาร์ซีจึงได้เสนอแนวทางสี่ประการในการลดผลกระทบทางมนุษยธรรม ดังนี้

  1. ภาคีคู่พิพาทในการขัดกันทางอาวุธต้องทบทวนการดำเนินการตามสัตยาบันที่ได้ให้ไว้ในอนุสัญญาเจนีวาอย่างเต็มที่ โดยการปฏิบัติตามตัวบทและเจตนารมณ์ของกฎหมาย
  2. ต้องมีการฟื้นฟูสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธให้เห็นเป็นรูปธรรม
  3. รัฐควรให้สัตยาบันและส่งเสริมสนธิสัญญาที่เป็นส่วนประกอบของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีสารเพิ่มเติมของอนุสัญญาเจนีวา
  4. รัฐต้องยืนยันว่าการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ปฏิบัติการทางไซเบอร์และสารสนเทศ จะเป็นไปตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และจัดให้มีการร่างข้อกำหนดที่จำกัดขอบเขตการใช้ระบบอาวุธอัตโนมัติ

วันนี้ ประชาคมโลกได้เป็นประจักษ์พยานในความทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธระหว่างอิสราเอลกับกาซ่าและระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเอธิโอเปียก็ได้คร่าชีวิตไปนับแสน การสู้รบในประเทศซูดานทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 8 ล้านคน ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง โคลอมเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมียนมา ซีเรีย และเยเมน ก็ล้วนสร้างความเสียหายให้แก่มนุษย์ไม่จบสิ้น

“ผู้สร้างสันติภาพ อีกทั้งเหล่าบุรุษและสตรีผู้พร้อมเปิดพื้นที่และริเริ่มการเจรจา หายไปไหน” ประธานไอซีอาร์ซีกล่าว “ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประชาคมโลกหันมาเริ่มการเจรจา การเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธนั้นช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดอุปสรรคบางประการที่ขัดขวางกระบวนการสร้างสันติภาพ”

ในพื้นที่สงครามทั่วโลกหลายแห่ง สถานะความคุ้มครองของโรงพยาบาลถูกละเมิด การเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมถูกขัดขวาง พลรบฝ่ายศัตรูและประชากรพลเรือนถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม รวมถึงบุคลากรของไอซีอาร์ซีและกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงถูกสังหาร

การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจทำให้สถานการณ์เหล่านี้เลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะหากการเรียนรู้ของอัลกอริทึมอยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์การกำหนดเป้าหมายโจมตีที่หละหลวม ความสูญเสียต่อพลเรือนจะเพิ่มมากขึ้น และหากปราศจากกฎหมายเฉพาะที่ใช้ควบคุมหรือกำหนดขอบเขต อาวุธอัตโนมัติอาจปฏิบัติการอย่างไร้ขีดจำกัดและทำให้การตัดสินใจที่กำหนดความเป็นหรือความตายอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยมนุษย์

ในช่วงเวลาอีก 75 ปีนับจากนี้ ประชาคมโลกต้องเคารพและปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวาอย่างแน่วแน่ การดำเนินไปในหนทางอื่นนอกจากนี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นการทรยศต่อสัตยาบันที่ได้ให้ไว้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1949

แปลและเรียบเรียงจาก Geneva Conventions 75th anniversary: Foundational treaties save lives and dignity, but massive humanitarian suffering shows the world must recommit