นครเจนีวา (ไอซีอาร์ซี) – ในช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกทวีความตึงเครียด และการขัดกันทางอาวุธเพิ่มจำนวนและระดับความรุนแรง รัฐต่าง ๆ ต้องเผชิญกับข้อกังวลด้านความมั่นคงอย่างใหญ่หลวง ส่งผลให้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) จึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า สนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอาจถูกมองเป็นเครื่องมือที่รัฐรับรองไว้ในยามสันติและมั่นคง แต่กลับมองข้ามไปเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามความมั่นคงที่รุนแรงหรือสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ลุกลาม ซึ่งมุมมองนี้ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง
แต่เราได้เห็นแนวโน้มของการใช้มุมมองเช่นนี้ จากกรณีที่รัฐสภาสาธารณรัฐลิทัวเนียลงคะแนนเสียงถอนตัวจากภาคีอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง ซึ่งได้สร้างบรรทัดฐานครั้งสำคัญ อันเป็นสิ่งที่น่ากังวลและส่งผลอันกว้างไกลไปกว่าตัวอนุสัญญาฉบับนี้เสียอีก
การรักษาและส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกรัฐ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงและการขัดกันทางอาวุธทั่วโลกจะแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ ก็ไม่มีรัฐใดถอนตัวจากสนธิสัญญาพหุภาคีทั้ง 5 ฉบับที่ห้ามการใช้อาวุธชนิดต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านมนุษยธรรม (อันได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวะ อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์)
ข้อบังคับของสนธิสัญญาเหล่านี้นำไปสู่การทำลายอาวุธเคมีหลายหมื่นตัน รวมถึงทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและระเบิดพวงจำนวนมหาศาล สนธิสัญญาเหล่านี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้สงครามแก๊สพิษเช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นซ้ำอีก ปกป้องพลเรือนกว่าแสนชีวิตจากอันตรายที่เกิดจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและระเบิดพวง อีกทั้งยังช่วยลดความทุกข์ทรมาน ปกป้องพลเรือน และบรรเทาผลกระทบร้ายแรงจากสงคราม สนธิสัญญาเหล่านี้ร่างขึ้นจากประสบการณ์ที่ขมขื่นและโหดร้ายของสงครามโลกทั้งสองครั้ง อันเป็นประสบการณ์ที่ประชาคมโลกล้วนไม่อยากประสบซ้ำอีก
มีรยานา สปอลจาริก เอกเกอร์ ประธานไอซีอาร์ซี กล่าวว่า “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่ได้สร้างขึ้นสำหรับช่วงเวลาสงบสุขที่ทุกวันเต็มไปด้วยความหวัง แต่สร้างขึ้นสำหรับวันเวลาอันมืดมนที่สุดของมนุษยชาติ เมื่อการขัดกันทางอาวุธปะทุขึ้นและชีวิตผู้คนตกอยู่ในอันตรายรุนแรง สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐต้องไม่มองข้ามสนธิสัญญาและอนุสัญญาต่าง ๆ เช่น อนุสัญญาเจนีวาที่มีอายุครบ 75 ปีในปีนี้ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางและบรรเทาความโหดร้ายของสงคราม”
ด้วยเหตุนี้ ไอซีอาร์ซีจึงขอเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ปฎิบัติดังต่อไปนี้
- ไม่ถอนตัวจากการเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่ว่าฉบับใด และระงับกระบวนการถอนตัวที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในทันที
- เน้นย้ำถึงคุณค่าและความสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อสาธารณชน และไม่ส่งเสริมการกระทำใด ๆ โดยรัฐที่อาจทำลายหรือบั่นทอนกฎหมายดังกล่าว
- สร้างความตระหนักให้สาธารณชนรับรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในบริบทการขัดกันทางอาวุธและเสริมสร้างความเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจบั่นทอนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
แปลและเรียบเรียงจาก In times of insecurity and conflict, states must work together to uphold and strengthen international humanitarian law