วันที่ 22 มีนาคม เป็นวันน้ำโลก (World Water Day) ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อทุกชีวิต นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ราว 3 สัปดาห์หากขาดอาหาร แต่สามารถมีลมหายใจได้เพียง 3 วัน หากปราศจากน้ำดื่ม อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ด้วยภาวะสงคราม ความขัดแย้ง ความไม่สงบต่างๆ การเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นเรื่องจำเป็นถึงชีวิตสำหรับหลายพื้นที่ในปัจจุบัน
ธันวิชช์ มหัทธนาสิงห์ วิศวกรของ ICRC ผู้ทำงานคลุกคลีอยู่กับประเด็นนี้มาร่วมสิบปี เล่าให้เราฟังว่าน้ำนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งและผู้คนต้องย้ายถิ่นฐาน นอกจาก ICRC จะเข้าไปช่วยเหลือผู้คนทางด้านอาหาร การรักษาพยาบาล ก็ยังต้องคำนึงถึงน้ำสะอาดเพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ป่วยเป็นโรคร้ายที่มากับน้ำหรือใช้น้ำเป็นพาหะ
“ICRC เรามีแผนกนี้โดยเฉพาะเรียกว่า WATHAB ย่อมาจาก Water and Habitat เป็นเหมือนทีมวิศวกรรมของ ICRC ที่เข้าไปประเมินปัญหาด้านสุขาภิบาลในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ยกตัวอย่างเช่นในค่ายผู้ลี้ภัย งานของเรามีตั้งแต่การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ หาสาเหตุและแนวทางแก้ไข เช่นดูว่าควรจะหาแหล่งน้ำจากไหนเพิ่มเติม น้ำมีคุณภาพตามที่ต้องการหรือไม่ จะปรับปรุงคุณภาพน้ำอย่างไร สามารถติดตั้งถังเก็บน้ำที่ไหน ทั้งนี้รวมถึงการจัดการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การจัดการขยะและห้องสุขา”
งานด้านน้ำและสุขาภิบาลของ ICRC มีจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปไกลตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน ในตอนนั้นมีผู้ลี้ภัยจำนวนหลายล้านข้ามชายแดนมาสู่ประเทศไทย เจ้าหน้าที่ ICRC แต่เดิมเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ แต่กลับพบว่าการรักษาโรคเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น หากไม่มีน้ำสะอาดและระบบสุขาภิบาลที่ดี เชื้อโรคก็จะสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหน่วยงานด้านน้ำและสุขาภิบาลจึงถูกริเริ่มขึ้นเพื่อตัดวงจรปัญหา ซึ่งแผนก WATHAB (Water and Habitat) นอกจากดูแลในเรื่องน้ำ (Water) ยังพ่วงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการอยู่อาศัย (Habitat) เข้าไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การซ่อมสร้างอาคารสถานที่หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ธันวิชช์เล่าให้เราฟังว่า งานในส่วนนี้ของ ICRC จำกัดเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความไม่สงบ นั่นทำให้กิจกรรมของเราแตกต่างจากความช่วยเหลือขององค์กรอื่น งานของแผนกสามารถแบ่งออกเป็นสองด้านหลักๆ คืองานในภาวะฉุกเฉิน (emergency) ยกตัวอย่างเช่น มีผู้คนข้ามแดนมาเป็นจำนวนมากทำให้เกิดความจำเป็นเร่งด่วน กับงานด้านการพัฒนา (development) เช่น เมื่อความขัดแย้งจบลงแล้ว แต่โรงผลิตน้ำประปาเกิดความเสียหาย เราจะเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสามารถกลับมาทำงานได้ “บางสถานการณ์อาจเป็นงานด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองงานพร้อมกัน งานของเราเป็นเหมือนการเข้าไปเติมช่องว่างที่ขาดหาย อะไรที่ไม่มีในภาวะฉุกเฉินเราเข้าไปสร้าง อะไรที่เสียหายเราเข้าไปปรับปรุงให้กลับมาใช้ได้ใหม่ รวมไปถึงการอบรมให้มีการบำรุงรักษาที่ดีเพื่อให้เกิดความยั่งยืน”
ธันวิชช์ยกตัวอย่างงานประเภทการพัฒนา เช่น การสนับสนุนเรือนจำในประเทศกัมพูชาเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง จัดอบรมบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงในเรือนจำ และพูดคุยผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อการจัดการที่ยั่งยืน หรือการทำห้องน้ำคนพิการในบ้านพักชั่วคราวแถบชายแดน “บางครั้งมีผู้ป่วยเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลและต้องมีการติดตามดูอาการ จึงอาศัยอยู่ในบ้านพักชั่วคราวขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งหลายครั้งไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับคนพิการ มีสภาพเป็นห้องน้ำแบบนั่งยองบ้าง ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็นบ้าง เราเข้าไปเติมช่องว่างตรงนี้เพื่อให้ระบบที่มีอยู่แล้วสามารถใช้งานตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย” นอกจากนี้ธันวิชช์ยังเล่าถึงโปรเจกต์ที่น่าสนใจ คือการทำเครื่องบริหารออกกำลังกายสำหรับผู้พิการ การบริหารร่างกายเป็นอีกหนึ่งความจำเป็นในกระบวนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “อุปกรณ์เหล่านี้ถ้าซื้อจะมีราคาสูงมาก เราเลยทำขึ้นมาเอง ตั้งใจทำให้เป็นแบบรื้อประกอบได้ เพื่อให้สามารถไปนำประกอบเองได้ใหม่โดยไม่ต้องพึ่งเราตลอดเวลา”
การเข้าถึงน้ำสะอาดหรือปัญหาการขาดแคลนน้ำดูจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนส่วนมากในเมือง หลายท่านอาจจินตนาการไม่ออกว่ายังมีชุมชนอีกมากในหลายประเทศ ที่ต้องพึ่งพาน้ำบาดาลและไม่มีห้องน้ำเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นในชุมชนหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่ทำให้ต้องย้ายออกไป เมื่อกลับมาพบว่าน้ำในบ่อบาดาลน่าจะปนเปื้อนทำให้เมื่อนำน้ำมาใช้ดื่มกินเกิดอาการปวดท้อง ทั้งชุมชนนี้มีบ้านเดียวที่มีห้องน้ำ ที่เหลือต้องเข้าไปขับถ่ายในป่าซึ่งเป็นพื้นที่สูง พอฝนตกนานเข้า น้ำจะพัดเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเข้ามาปนเปื้อนในบ่อน้ำบาดาล “วิธีแก้ปัญหาของเราคือการตัดต้นตอปัญหาด้วยการสร้างห้องน้ำเพื่อให้การขับถ่ายถูกสุขลักษณะ จากนั้นจึงปรับปรุงสภาพบ่อบาดาลให้ดีขึ้น ตอนแรกเราอยากเปลี่ยนปั๊มน้ำบาดาลให้เป็นระบบไฟฟ้า แต่เมื่อได้พูดคุยกับชุมชนพบว่ามีข้อจำกัดเรื่องค่าไฟ ดังนั้นเพื่อให้ยั่งยืนที่สุดจึงตัดสินใจหาปั๊มมือมาใช้ติดตั้ง แม้จะมีราคาสูงกว่าเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็ตอบโจทย์การใช้งานของคนในพื้นที่”
ความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันไม่อาจขาดไปได้ งานอีกส่วนของธันวิชช์จึงเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการติดตั้ง ประกอบ ซ่อมบำรุงให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ในหลายพื้นที่ หนึ่งในหัวข้อที่เราให้ความสนใจ คือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและยั่งยืนกว่าในระยะยาว
“ทุกที่ที่เราเข้าไปมักมีช่องว่างที่รอการเติมอยู่ หลายครั้งเราพบว่าพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดไม่ได้ไกลจากตัวเมืองเลย เพียงแต่เราไม่ได้นึกถึงเท่านั้น ทุกครั้งที่เรานำอะไรเข้าไปในพื้นที่ แม้มันจะไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม แต่กลับทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นมาก เพราะงานที่เราทำเป็นเรื่องพื้นฐาน คนจึงสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นแล้วรู้สึกชื่นใจ” ธันวิชช์กล่าวทิ้งท้าย สำหรับเขา การนำน้ำสะอาดและระบบสุขาภิบาลที่ดีไปสู่ผู้ที่ต้องการ คือคุณค่าที่ไม่อาจวัดออกมาด้วยตัวเลขหรือตัวเงิน เมื่อได้เห็นช่องว่างที่ขาดหายได้รับการเติมเต็ม ก็เหมือนจิ๊กซอว์แห่งความสุขของเขาได้ถูกประกอบสร้างขึ้นด้วย