‘กว่าหมื่นคน’ คือจำนวนเคสคร่าวๆ ของครอบครัวผู้สูญหายในประเทศศรีลังกาที่ยังคงรอคอยข่าวคราวจากบุคคลอันเป็นที่รัก แม้ความขัดแย้งภายในประเทศจะจบลงเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วก็ตาม
“บางบ้านผู้ชายออกไปร่วมรบและไม่ได้รับข่าวคราวอีกเลย มันเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทิ้งช่องว่างและสร้างผลกระทบให้คนที่อยู่ข้างหลังเป็นเวลาหลายสิบปี” บุณฑริก จำปาไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองของเราที่ได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์ตรงในงานสานสัมพันธ์ครอบครัวของประเทศศรีลังกากล่าว
“หากพี่ชายยังอยู่เขาคงจะอายุเท่านั้น หากสามียังอยู่บ้านเราคงจะเป็นแบบนี้” เป็นประโยคที่บุณฑริกได้ยินอยู่บ่อยครั้ง การสูญหายของผู้ชายที่เป็นความหวัง และเป็นช้างเท้าหน้า นำพาไปสู่ผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจ เพราะทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องลุกขึ้นสู้เพื่อหาทางรอดให้ตัวเองและครอบครัว “เราเคยเจอแต่ผู้หญิงที่สู้ ไม่เคยเจอคนที่ไม่สู้ หลายครั้งที่ลงพื้นที่แล้วเจอภรรยาหรือคุณแม่ของบุคคลสูญหายมีแรงใจลุกขึ้นทำงานหลายๆ อย่าง เพื่อช่วยพยุงความเป็นอยู่ของครอบครัว พวกเขาต้อนรับขับสู้เราดีมาก จนหลายครั้งเพื่อนร่วมงานต้องบอกว่าเห็นเขายิ้มแย้มแบบนี้แต่ละคนผ่านเรื่องร้ายๆ กันทั้งนั้น”
ในช่วงที่บุณฑริกลงพื้นที่ ประเทศศรีลังกากำลังเจอเข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2022 แม้แต่ถั่วเลนทิลสำหรับทำแกงดาลซึ่งเป็นอาหารทั่วไปก็ยังมีราคาสูงมาก บางบ้านสามารถทานอาหารได้เพียงวันละหนึ่งมื้อเท่านั้น น้ำมันสำหรับการเดินทางก็หายากทำให้การลงพื้นที่มีอยู่จำกัด อย่างไรก็ดี ในตอนที่เธอไปถึง เป็นช่วงที่พอจะมีน้ำมันเข้ามา งานหลักๆ ของเธอจึงเป็นการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยอัพเดทกับครอบครัวของผู้สูญหายว่าพวกเขายังอาศัยอยู่ที่เดิมหรือไม่ มีความต้องการที่จะตามหาสมาชิกในครอบครัวอยู่หรือเปล่า สำหรับบางท่านที่อายุมาก อาจเลือกให้สมาชิกคนอื่นในบ้านเข้ามาเป็นตัวแทนติดต่อกับ ICRC แทน
ระหว่างการลงพื้นที่ในประเทศศรีลังกา ที่ต้องขับรถเข้าไปในป่าเขาสองข้างทางเป็นต้นไม้ บางส่วนของเส้นทางเป็นพื้นดิน ไม่มีถนนตัดผ่าน
“อันที่จริงงานสานสัมพันธ์ครอบครัวถือเป็นงานที่เก่าแก่ที่สุดงานหนึ่งของ ICRC ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1870 ปัจจุบันก็เกิน 150 ปีมาแล้ว และการพาครอบครัวให้กลับมาพบกันแม้จะไม่สามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ แต่มีผลต่อชีวิตของผู้คนมหาศาล สามารถเปลี่ยนชีวิตของใครหลายๆ คน” บุณฑริกเล่าให้เราฟังเมื่อถูกถามถึงความสำคัญของการพาครอบครัวที่พลัดพรากให้กลับมาเจอกัน
ปัจจุบันศรีลังกาเป็นประเทศที่มีเคสผู้สูญหายมากถึงประมาณ 15,000 คน เฉพาะที่ลงทะเบียนไว้กับ ICRC ตัวเลขนี้มากที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับสองของโลก (เป็นรองแค่ประเทศไนจีเรียเท่านั้น) ผู้สูญหายส่วนมากพลัดพรากกันเพราะความขัดแย้ง ซึ่งแตกต่างจากเคสที่เธอเคยรับผิดชอบซึ่งส่วนมากจะเป็นกรณีพลัดพรากเพราะการอพยพย้ายถิ่นฐาน
“ถ้าให้เทียบกับเคสเราเคยรับผิดชอบมาก่อน จำนวนเคสห่างกันมากจากหลักร้อยของเราเป็นหลักหมื่นของเขา ความแตกต่างอีกอย่างคือระยะเวลา เพราะเคสส่วนมากในศรีลังกาเป็นกรณีที่พลัดพรากกันมานานร่วมสามสิบปี” ความคลุมเครือในงชะตากรรมของบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถจัดการกับความเศร้า เพราะต้องอยู่กับความแน่นอนที่ไม่มีคำตอบ บุณฑริกเล่าให้เราฟังว่า นอกจากการติดตามผู้สูญหาย ICRC ยังมีงานสำคัญอย่างโครงการช่วยเหลือทั้งทางด้านเงินทุนและจิตสังคม เพื่อให้ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบสามารถลุกขึ้นมาตั้งตัวได้
เพื่อนร่วมงานชาวศรีลังกาสัมภาษณ์อัพเดทข้อมูลกับครอบครัวของผู้สูญหาย หญิงชราในภาพยังคงรอคอยข่าวคราวของสมาชิกในครอบครัวแม้สูญหายไปนับสิบปี
“จะเรียกว่าเป็นเครื่อข่ายเพื่อนหญิงช่วยเพื่อนหญิงก็ได้ ในประเทศศรีลังกามีอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกสอนโดยเจ้าหน้าที่ของเราเข้าไปจัดกิจกรรมกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ชวนพวกเขามาพูดคุยกัน มีการเจอกันทุกหกเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนความทรงจำดีๆ ของผู้สูญหาย เราสังเกตว่าประเทศศรีลังกามีการใช้สัญลักษณ์เยอะมาก เช่นการทำอาหารจานโปรดของลูกชายเลี้ยงเพื่อนๆ ในกลุ่มเพื่อเป็นการบอกว่ายังระลึกถึงอยู่ หรือการระลึกถึงสามีผ่านพุ่มดอกกุหลาบที่ฝ่ายชายเคยปลูกไว้ สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นวิธีที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสื่อสารเรื่องราวระหว่างกัน”
สำหรับบุณฑริกการเป็นผู้หญิงที่ได้ลงพื้นที่จริงในประเทศศรีลังกา ดูจะเป็นความโชคดีที่หายาก เธอมองว่าความเป็นผู้หญิงนี้เองที่ทำให้เธอซึ่งเป็นคนไทย สามารถเข้าใจกลุ่มสตรีที่อยู่ตรงหน้า แม้จะมีกำแพงภาษาคอยขวางกั้น “เราอาจไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดที่คุณแม่ต้องแบกรับเมื่อลูกชายกลายเป็นบุคคลสูญหาย แต่แค่จินตนาการว่าตัวเองอยู่ในเรื่องราวของเขา ก็ชวนให้เรารู้สึกใจสลาย”
ทุกวันนี้มีผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทั้งในประเทศศรีลังกาและพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ข้อมูลสถิติจากองค์การสหประชาชาติชี้ว่า 1 ใน 5 ของผู้ลี้ภัยเพศหญิงเคยเจอกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ 60% ของคุณแม่ที่เสียชีวิตระหว่างคลอดบุตรจากเหตุที่สามารถป้องกันได้อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งหรือพื้นที่ภัยพิบัติ ในขณะที่ผู้หญิง 2.5 เท่าในพื้นที่ดังกล่าวต้องออกจากระบบการศึกษาเมื่อเทียบกับผู้หญิงในประเทศที่ไม่มีความขัดแย้ง นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าทุกวิกฤตนั้นย่อมกระทบต่อผู้หญิงดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่งานด้านมนุษยธรรมควรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้มุมมองของพวกเธอถูกนำไปพิจารณาในการช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างจริงจัง
“เรามองว่าความเป็นผู้หญิงไม่ใช่ข้อจำกัดแต่เป็นข้อได้เปรียบอีกอย่างที่ช่วยให้เสียงของผู้หญิงด้วยกันถูกสะท้อนในงานมนุษยธรรม” บุณฑริกกล่าวทิ้งท้าย
ไม่เพียงแค่ในแวดวงมนุษยธรรมเท่านั้น บุณฑริกยังมีความหวังว่าเสียงของสตรีจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในพื้นที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเวทีการเมืองหรือภาคธุรกิจ เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดของวันสตรีสากลซึ่งเป็นวันที่กำเนิดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความเสมอภาคของสตรี และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคม