สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่ามหาสงคราม (The Great War) กินเวลายาวนานถึง 4 ปี มีการระดมสรรพกำลังและยุทธวิธีมากมาย ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากสงครามครั้งนี้บรรลุผล ก็จะสามารถยุติสงครามทั้งหมด (The war to end all wars) สงครามโลกครั้งแรกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงระบบกฎหมาย ความเลวร้ายของสงครามทำให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีในการรบ รวมไปถึงการปฏิบัติต่อเชลยศึก และแม้สงครามโลกครั้งแรกจะไม่ใช่สงครามครั้งสุดท้าย แต่ภายใต้สนามเพลาะและความสูญเสียมากมาย มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะพัฒนากลไกในการอยู่ร่วมกัน อันจะกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบกฎหมายระหว่างประเทศ

ในปี 2022 ภาพยนตร์สงครามคลาสสิกอย่าง ‘All Quiet on the Western Front’ ได้ถูกหยิบมาดัดแปลงใหม่จนสามารถคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม โดยในเวอร์ชั่นนี้แม้จะมีการตีความใหม่อยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถคงแก่นแท้ของวรรณกรรมซึ่งถูกแต่งขึ้นโดย เอริช มาเรีย เรอมาร์ค (Erich Maria Remarque) ทหารเยอรมันที่เคยผ่านสมรภูมิรบในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งบรรยายถึงสงครามว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางมนุษยธรรม ต่างจากภาพจำของเด็กหนุ่มรุ่นนั้นที่มักมองว่าสงครามเป็นเรื่องของฮีโร่และความกล้าหาญ 

นอร์แมน แองเจลล์ (Norman Angell) นักเขียนชาวอังกฤษและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1933 เคยนิยามความหมายของสงครามว่า “สงครามคือการส่งคนที่ดีที่สุดของสังคมหนึ่งไปสังหารคนที่ดีที่สุดของอีกสังคมหนึ่ง หรือส่งคนที่ดีที่สุดของสังคมหนึ่งไปให้อีกฝ่ายสังหาร” ข้อเขียนของเขาในหนังสือ The Great Illusion (1909) ต้องการเตือนค่านิยมของสังคมยุคนั้นที่ยังเชื่อว่าสงครามจะนำมาซึ่งเกียรติและความมั่งคั่ง ทว่าในความเป็นจริงนั้น การชนะสงครามสร้างผลกระทบเชิงลึกต่อสังคม ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็น Total War หรือสงครามที่มีการระดมสรรพกำลังของทั้งชาติเพื่อความสำเร็จในการรบ ผ่านเสียงปืนกลในแนวหน้าตัดสลับกับเสียงจักรเย็บผ้าที่กำลังซ่อมเครื่องแบบทหารในแนวหลัง All Quiet on the Western Front ในเวอร์ชั่นปี 2022 คล้ายจะบอกว่าสงครามเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ได้จบแค่แนวรบบนพรมแดนเท่านั้น แต่มันกระทบไปถึงโครงสร้างสังคมภายใน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้นำเสนอแง่มุมน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดชาตินิยมที่ถูกปลูกฝังในจักรวรรดิเยอรมันมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน หากคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่จะต้องเสนอตัวเข้าร่วมสงคราม เด็กหนุ่มในเรื่องเชื่อว่าพวกเขากำลังสร้างประวัติศาสตร์และจะได้กลับบ้านในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าในฐานะวีรบุรุษ แต่กลับต้องประจักษ์แก่ความจริงว่าสงครามในแนวหน้าไม่ใช่สิ่งที่รัฐเคยปลูกฝังวาดภาพไว้ 

ในทางประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งแรกเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามสมัยใหม่ที่มีการใช้อาวุธหนักรบพุ่งกัน ไม่ใช่การตีกลองเคลื่อนทัพเหมือนในอดีต เทคโนโลยีที่ก้าวหน้านำพาสงครามให้เปลี่ยนโฉมหน้าไป เพราะอาวุธที่สามารถยิงระยะใกล้ทำให้ทหารแต่ละฝ่ายไม่เห็นการตายของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นการทำสงครามจึงมีความโหดร้าย และสร้างความเสียหายกว่าในยุคเก่าที่ใช้อาวุธแบบประชิดตัว แม้ว่า พอล ตัวเอกของเรื่อง จะเข้าร่วมสงครามมาเป็นเวลานาน แต่เขาก็เพิ่งสัมผัสการฆ่าคนจริงๆ เมื่อเขาจับมีดเข้าแทงทหารฝรั่งเศสและได้เห็นการตายของศัตรูแบบซึ่งๆ หน้า นั่นทำให้เราเห็นว่าการฆ่าคนตายไม่ใช่เรื่องปกติที่มนุษย์พึงกระทำ เพราะแทบไม่มีรัฐไหนที่อนุญาตให้การฆ่าคนในยามสันติเป็นเรื่องถูกกฎหมาย 

เราพบว่าพัฒนาการของอาวุธเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำสงครามมาจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การใช้ยานบินไร้คนขับหรือโดรน ดังนั้น แม้สงครามโลกครั้งแรกจะผ่านมาแล้วกว่า 100 ปี แต่ประเด็นด้านมนุษยธรรมในภาพยตร์เรื่องนี้ ก็ยังเป็นสิ่งร่วมสมัยตราบใดที่สงครามและความขัดแย้งยังไม่หมดไปจากโลก โดยหากจะกล่าวถึงประเด็นด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจว่า อนุสัญญาเจนีวาฉบับแรกซึ่งวางกรอบข้อตกลงเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสงคราม เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1864 มุ่งไปที่การให้ความดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการสู้รบ ดังนั้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีหน่วยแพทย์ทหารติดเครื่องหมายกากบาทแดงแม้จะไม่ใช่เจ้าหน้าที่กาชาด เนื่องจากอนุสัญญาเจนีวาระบุว่าเครื่องหมายกากบาทแดงสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครอง หมายถึงหน่วยแพทย์ทหารได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงในอนุสัญญาเจนีวาปี 1864 ตราบเท่าที่พวกเขาไม่หยิบอาวุธขึ้นมากระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายตรงข้าม 

อนุสัญญาเจนีวายังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการร่างผู้เสียชีวิต และความรับผิดชอบที่คู่สงครามมีต่อครอบครัวของทหาร โดยหากทหารเสียชีวิตในสงครามก็ต้องได้รับการฝังอย่างสมเกียรติและต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อแจ้งกับครอบครัวในแนวหลัง ดังที่เราเห็นการเก็บด็อกแท็ก (ป้ายประจำตัวของทหาร) เพื่อส่งกลับไปรายงานว่ามีทหารคนไหนที่เสียชีวิตไปแล้วบ้าง ในกรณีที่ถูกจับเป็นเชลย คู่กรณีก็มีหน้าที่ในการส่งข่าวไปยังอีกฝั่งเพื่อแจ้งต่อครอบครัวของทหารว่าพวกเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไร 

เห็นได้ว่าข้อกำหนดในอนุสัญญาเจนีวาที่จะพัฒนาต่อมาเป็นกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแม้จะมีผลบังคับใช้ในยามสงครามแต่ก็ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่ในยามสงบ จุดสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ข้อกฎหมายมีผลบังคับใช้กับคู่สงครามทุกฝั่งโดยไม่จำเป็นว่าใครจะเริ่มสงครามก่อน และหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายมีความชอบธรรมที่จะละเลยข้อปฏิบัติในอนุสัญญานั้น 

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มนุษยชาติสร้างขึ้นเพื่อจำกัดความโหดร้ายของสงคราม เช่นเดียวกับ สนธิสัญญาทั่วไปว่าด้วยการยกเลิกสงคราม (General Treaty for the Renunciation of War) ค.ศ.1928 ที่พยายามสร้างกฎกติกาใหม่ของการอยู่ร่วมกันโดยบอกว่า การทำสงครามเป็นสิ่งที่ผิด รัฐภาคีจะต้องร่วมประณามการทำสงคราม และตกลงที่จะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

แม้ว่าในปัจจุบันสงครามและความขัดแย้งยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่กฎหมาย ข้อตกลงระหว่างนานาชาติ รวมไปถึงวรรณกรรมและภาพยนตร์ที่ถูกผลิตขึ้นมา ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยนำพาให้มนุษยชาติร่วมกันกำหนดว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อตัดสินปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้อีกต่อไป  

การเสวนาส่องกฎหมายฉายหนัง: มองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผ่านภาพยนตร์ All Quiet on the Western Front สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่าน Facebook คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วีดีโอมีความยาว 1 ชั่วโมง 38 นาที 

________________________________

เมื่อวันพฤหัสที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) จัดงานสัมมนาวิชาการ “ส่องกฎหมาย ฉายหนัง: มองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผ่านภาพยนตร์ All Quiet on the Western Front” ภายใต้โครงการ “International Law and Films” ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ

โดยภายในงาน มีการฉายภาพยนตร์ก่อนการเสวนาทางวิชาการ ซึ่งการเสวนาได้รับเกียรติจาก คุณจิรัตต์ จิตต์วราวงษ์ ที่ปรึกษากฎหมายของไอซีอาร์ซี สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ, ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร โดยมี อ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ

โครงการ “International Law and Films” เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ ไอซีอาร์ซี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยในครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2019 ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “Eye in the Sky” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการใช้โดรนในปฏิบัติการทางการทหาร และได้เชิญนักการทูตปฏิบัติการจากกระทรวงการต่างประเทศมาร่วมให้ข้อคิดเห็น