“ผมได้ยินชื่อเมืองฮิโรชิมะเป็นครั้งแรกพร้อมๆ กับคำว่าระเบิดปรมาณู มีคนบอกว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นน่าจะมาถึงหนึ่งแสน ผู้เสียชีวิตถูกเผาทั้งเป็นโดยรังสีความร้อน” ด็อกเตอร์มารเซล จูโน ผู้แทนของ ICRC และคุณหมอชาวต่างชาติคนแรกที่เดินทางไปถึงฮิโรชิมะหลังการทิ้งระเบิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ได้บรรยายสิ่งที่พบเห็นในบันทึกของเขา “เวลา 12 นาฬิกา เราบินมาถึงฮิโรชิมะ เพื่อเห็นความเสียหายแบบที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน ใจกลางเมืองถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าสีขาว ไม่มีอะไรเหลือเลย” คุณหมอจูโนบันทึกผลกระทบที่น่ากลัวเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในฮิโรชิมะ

-คุณหมอ 270 จาก 300 ท่าน เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

-คุณพยาบาล 1,654 จาก 1,780 ท่าน เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

เขาจบบันทึกด้วยการกล่าวย้ำว่าระเบิดเช่นนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้อีกต่อไป

“มันควรถูกแบนเช่นเดียวกับการใช้แก๊ซพิษในสงครามโลกครั้งที่ 1”

ผลกระบทด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นหลังกจาใช้ระเบิดปรมาณู เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันโลกของเรากำลังเข้าใกล้จุดเสี่ยงที่ระเบิดนิวเคลียร์จะถูกหยิบมาใช้มากที่สุด ตั้งแต่การจบลงของสงครามเย็นเหมือนหลายสิบปีก่อน

ในโอกาสที่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 กำลังจะถูกจัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมะระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม ICRC และสภากาชาดญี่ปุ่นขอใช้โอกาสนี้เพื่อเรียกร้องให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไป เพราะไม่มีการเตรียมการด้านมนุษยธรรมใดจะสามารถรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอาวุธทำลายล้างซึ่งมีอานุภาพสูงกว่าระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมะและนางาซากิหลายเท่าตัว

“สิ่งที่เราไม่อาจเตรียมการรับมือ เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น”

หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูเคยกล่าวไว้เช่นนี้

วิธีเดียวที่จะรับประกันได้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะไม่ถูกนำมาใช้อีกคือการกำจัดอาวุธเหล่านี้ให้หมดไป ดังนั้นการห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทุกวันนี้มีรัฐจำนวนมากตระหนักถึงภัยคุกคามจากการมีอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์ 68 รัฐได้ตัดสินใจให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่อีก 27 รัฐลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้

กลุ่มองค์กรกาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศตระหนักว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในทางกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน อย่างไรก็ตาม ในแนวคิดทางกฎหมายในปัจจุบัน การขู่ว่าจะใช้หรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการรุกราน โดยทางหลักการแล้วมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นความผิดภายใต้กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ อย่างน้อยที่สุดก็ภายใต้เขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานความผิดของการรุกราน และเป็นการขัดกับหลักของสหประชาชาติในเรื่องการรักษาธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของประชาคมโลก

ICRC และสภากาชาดญี่ปุ่นจึงขอใช้โอกาสนี้เพื่อเรียกร้องใน 6 ประเด็น

  • ทุกรัฐจะต้องลงนามและให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์
  • ร่วมกันประณามการในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะโดยนัยหรือโดยชัดแจ้ง
  • หลีกเลี่ยงวาทกรรมที่เพิกเฉย หรือทำให้ผลกระทบทางมนุษยธรรมของอาวุธนิวเคลียร์ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย วาทกรรมเหล่านี้กำลังสนับสนุนให้การใช้อาวุธนิวเคีลยร์กลายเป็นเรื่องยอมรับได้
  • ดำเนินการทันทีและเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่บรรจุอาวุธนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในนโยบายทางทหารและความมั่นคง
  • ดำเนินการอย่างเต็มที่ตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม รวมถึงบรรลุการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
  • ใช้มาตรการที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้หรือทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ และกำจัดการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบ