นครเจนีวา – คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) คาดว่าความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในหลายประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ไม่ว่าจะในประเทศเยเมน โชมาเลีย อัฟกานิสถาน และสาธารณรัฐคองโก มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไปในปี 2566 และจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรจำนวนหลายล้านคนในประเทศเหล่านี้มากขึ้นไปอีก เพื่อรักษาชีวิตและยับยั้งไม่ให้ความเดือดร้อนลุมลาม

นางมีรยานา สปอลจาริก ประธานไอซีอาร์ซี กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธนั้นเกิดขึ้นทั่วโลกมากกว่า 100 แห่ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพลเรือนสืบเนื่องจากสถานการณ์เหล่านี้ ประกอบกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย อีกทั้งราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลทำให้ปี 2566 เป็นปีที่ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะมีอย่างมหาศาล และประชาคมโลกจะต้องไม่ทอดทิ้งความขัดแย้งใดเลยแม้แต่เหตุการณ์เดียว ไม่เช่นนั้นแล้ว วิกฤติจำนวนมากจะเลือนหายไปจากสายตาของผู้คนและความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิตมนุษย์จะเกิดขึ้น”

สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากรในพื้นที่ที่เผชิญกับการสู้รบและสถานการณ์รุนแรง ดังเช่นที่ข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตราคาอาหารหลักในช่วงปี 2565 ของไอซีอาร์ซีรายงานว่า ราคาอาหารหลักของประเทศเอธิโอเปียและเยเมนแพงขึ้นถึง 45% และประเทศมาลี อัฟกานิสถาน และโซมาเลีย แพงขึ้นมากกว่า 30%

ด้วยเหตุนี้ ไอซีอาร์ซีจึงต้องระดมทุนจำนวน 2,800 ล้านสวิสฟรังก์ เพื่อสนับสนุนการทำงานในปี 2566 โดยตัวอย่างของประเทศที่เผชิญกับวิกฤติหลากหลายด้านและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • โซมาเลีย ภัยแล้งและสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศทำให้เด็กเล็กจำนวนมากต้องอดอยาก โดยในปี 2565 มีเด็กเล็กที่ประสบภาวะขาดสารอาหารเข้ารับการดูแลที่ศูนย์โภชนาการของไอซีอาร์ซีประจำเมืองไบโดอา เพิ่มขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปี 2564 และจากข้อมูลของโรงพยาบาลที่ไอซีอาร์ซีให้การสนับสนุนพบว่าจำนวนอุบัติภัยหมู่ หรือ การบาดเจ็บจำนวนมากในคราวเดียว เพิ่มขึ้นถึง 30%
  • เอธิโอเปีย แม้ว่าสถานการณ์การสู้รบที่ภาคเหนือจะยุติลงแล้ว แต่ผลจากการสู้รบอันหนักหน่วงตลอดสองปีที่ผ่านมาทำให้ผลกระทบด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ยังมีความรุนแรง ทั้งนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ของไอซีอาร์ซีได้เริ่มนำความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ภูมิภาคทิเกรย์อีกครั้งทั้งทางบกและทางอากาศ พร้อมกับช่วยเหลือประชาชนในเมืองอัมฮาราและอาฟาร์ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย โดยไอซีอาร์ซีจะให้ความช่วยเหลือต่อไป รวมถึงเตรียมยกระดับความช่วยเหลือเพื่อยับยั้งความเดือดร้อนของประชากร หลังจากต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคเป็นเวลาหลายเดือน
  • สาธารณรัฐคองโก สถานการณ์การสู้รบในประเทศได้ยกระดับขึ้นและขยายไปยังรอบนอกของเมืองโกมา และทำให้ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทีมศัลยแพทย์ของไอซีอาร์ซีให้การรักษาผู้บาดเจ็บจากการสู้รบทั่วประเทศมากกว่า 1,100 ราย แต่ยังมีประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอีกจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาด้านสาธารณสุข เนื่องจากสถานพยาบาลหลายแห่งถูกปล้นสะดมและบุคลากรทางการแพทย์ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่เพื่อเอาชีวิตรอด
  • ภูมิภาคซาเฮล หลายประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้ต้องประสบกับภาวะทะเลทรายที่รุกคืบขยายขอบเขตกินพื้นที่ในประเทศมากขึ้น อีกทั้งภาวะสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนในประเทศมาลี ไนเจอร์ บูร์กินาฟาโซ และมอริเตเนีย ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานหลายล้านคน ทั้งนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคซาเฮลราว 80% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น การต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานจึงหมายถึงการสูญเสียที่ดินทำกินและปศุสัตว์ของตนไปด้วย
  • อัฟกานิสถาน สภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงตกต่ำลงเรื่อยๆ ในปี 2565 จำนวนเด็กที่ประสบภาวะทุพโภชนาการที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่ไอซีอาร์ซีสนับสนุนจำนวน 33 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 ถึง 90% โดยเพิ่มจำนวนจาก 33,000 ราย เป็น 63,000 ราย นอกจากนี้ จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มารับการรักษาโรคปอดที่โรงพยาบาลเด็กเมืองคาบูลที่ไอซีอาร์ซีสนับสนุนยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 55% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
  • เยเมน สถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศมีแนวโน้มจะยิ่งเลวร้ายลงกว่าในปี 2566 เนื่องจากความขัดแย้งยังคงยกระดับขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจยังคงตกต่ำ และปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ งบประมาณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จัดสรรมาช่วยเหลือประเทศเยเมนยังลดน้อยลง ทั้งที่จำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 70% ยังต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่
  • ซีเรีย สถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินมามากกว่า 11 ปี ได้ทำลายระบบน้ำประปาภายในประเทศเสียหาย จนทำให้ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคลดลงมากถึง 30-40% อีกทั้งยังส่งผลทำให้ผู้คนในประเทศต้องเผชิญกับโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีการทำลายระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในยามสู้รบ
  • เฮติ สถานการณ์การสู้รบที่ยืดเยื้อ อีกทั้งการก่อเหตุความไม่สงบ รวมถึงการระบาดของโรคอหิวาต์ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งได้สร้างความเดือดร้อน ทำให้ประชาชนชาวเฮติกว่า 3 ล้านคน จำต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากขึ้นกว่าเดิม ไอซีอาร์ซีจึงต้องเร่งหยุดยั้งการระบาดของโรคอหิวาต์ภายในประเทศและในสถานคุมขัง รวมถึงช่วยเหลือให้ประชากรในพื้นที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงสูงสุดเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
  • สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศยูเครนกับรัสเซีย ทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องประสบกับภัยสภาพอากาศฤดูหนาวเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งยังขาดแคลนระบบทำความร้อนและน้ำประปาเนื่องจากระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายแห่งถูกโจมตีเสียหาย โดยเด็กเล็ก คนชรา และคนพิการ เป็นกลุ่มผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบมากสุด และเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงระบบทำความร้อนและน้ำประปาแหล่งอื่นๆ ได้น้อยกว่าใครด้วย