จะเกิดอะไรขึ้นหากเครื่องจักรเป็นผู้พรากชีวิต? เมื่อกฎหมายมนุษยธรรมมีผลบังคับใช้ในมนุษย์ การพรากชีวิตโดยหุ่นยนต์ หรือ อากาศยานไร้คนขับ จัดว่าผิดกฎหมายมนุษยธรรมหรือไม่? หรือว่ากฎหมายของเราเก่าเกินไปสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันเสียแล้ว!?
ชุดคำถามและความสงสัย กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ได้รับการถกเถียงอย่างออกรสชาติ ในงานสัมมนาว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเหนือครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน 2019
งานในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และสถาบันการทูตเวียดนาม (DAV) เพื่อเจาะลึกรายละเอียดในแง่มุมต่างๆ ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และประเด็นแวดล้อมเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น การคุ้มครองบุคคลที่ปราศจากเสรีภาพ, พัฒนาการของเทคโนโลยีและอาวุธสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในสงครามยุคปัจจุบัน, ความรับผิดชอบทางอาญาของปัจเจกชน, ตลอดจนการเข้าถึงและการคุ้มครองการให้บริการทางการแพทย์, ปฏิบัติการความมั่นคงและความขัดแย้งทางทะเล โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วม 50 คน จาก 16 ประเทศ ร่วมแบ่งปันความคิดในเวทีสัมมนา
ความน่าสนใจของงานในครั้งนี้ คือประเด็นคำถามที่ถูกนำมาขยายความจากข้อบังคับทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น สนธิสัญญาห้ามใช้ระเบิดนิวเคลียร์ปี 2017 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสงสัยในการใช้อาวุธรบแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปฎิบัติการทางไซเบอร์ หรือการใช้อาวุธสังหารอัตโนติ
ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่ากฎหมายมนุษยธรรมควรครอบคลุมทุกมิติของการทำสงคราม แม้ประวัติศาสตร์จะพิสูจน์แล้วว่าการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้วนสร้างความท้าทายให้กฎหมายในทุกยุคสมัย แต่หน้าที่ที่สำคัญของคู่ขัดแย้ง คือการทำให้แน่ใจว่า หลักการมนุษยธรรมยังคงได้รับการเคารพและปฎิบัติแม้ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด
การสัมมนาทำหน้าที่เป็นเวทีกลางสำหรับแลกเปลี่ยนความคิด สร้างความเข้าใจ ตลอดจนพิจรณาแนวทางใหม่ในการลดผลกระทบจากสงคราม โดยอาศัยความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
พันตรีโจวัน ดี. คาปาทูโล ปา นายทหารช่วยประจำกระทรวงกลาโหม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มองว่าการสัมมนาเป็นโอกาสอันดีที่ได้แบ่งปันความรู้และแนวคิดกับภาคประชาสังคมในแต่ละประเทศ “วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้กฎหมาย คือการเข้าใจตัวอย่างและการนำไปใช้ เราอาจไม่รู้ว่ากฎหมายมนุษยธรรมสามารถนำมาประยุกต์และตีความได้ในหลายมุม เวทีนี้ถือเป็นการมองมุมกลับปรับมุมมอง ทำให้เราเข้าใจกฎหมายมนุษยธรรมในภาพจำที่ต่างจากเดิม”
นายจาง คุณ ผู้ช่วยวิจัยจากสถาบันการศึกษาสากลแห่งประเทศจีน กล่าวถึงความสำคัญของการสัมมนา ว่าสามารถมอบทางเลือกใหม่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง “ในขณะที่ประเทศจีนกำลังก้าวขึ้นมามีความสำคัญในเวทีโลก มันเป็นหน้าที่ของจีนอีกเช่นกัน ที่จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบต่อประเด็นระหว่างประเทศ”
การสัมมนาว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเหนือ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ การเลือกจัดงานสัมมนาครั้งล่าสุดที่ประเทศเวียดนาม ประเทศที่เคยบอบช้ำเพราะการละเมิดกฎแห่งสงครามครั้งใหญ่ในสงครามอินโดจีน เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรม บอกให้รู้ว่าแม้แต่สงคราม ก็ยังต้องมีขอบเขต