‘ไม่เคยรู้มาก่อนเลยครับ’

‘คิดว่ามันเกี่ยวกับการแพทย์ ใครก็ใช้ได้’

‘ทีแรกคิดว่าเป็นแค่เครื่องหมายพยาบาล และการรักษาพยาบาลเท่านั้น’

‘คิดว่าเป็นเครื่องหมายที่ได้รับการอนุญาตทางการแพทย์แล้ว’

น้องๆ จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ตอบขึ้นในทันที่เมื่อถูกถามถึงเครื่องหมายกาชาด ‘เพิ่งมารู้ตอนทำโครงการนี้นี่แหละครับ’ น้องๆ อธิบายเพิ่ม  กลุ่มเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่อยู่ตรงหน้า เดินทางมาไกลจากจังหวัดอุดธานี เพื่อนำเสนอผลงานในการแข่งขันรอบสุดท้าย  งานประกวดคลิปวีดีโอของกาชาดไทยในหัวข้อ ‘เครื่องหมายกาชาด สัญลักษณ์แห่งการคุ้มครอง สัญลักษณ์แห่งความหวัง’

‘คนส่วนใหญ่มักไม่รู้เรื่องการใช้เครื่องหมาย เราเลยอยากเผยแพร่เรื่องนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายและไปได้ไกลมากที่สุด’ น้องๆ เล่าถึงโจทย์ที่คิดไว้ ตอนตัดสินใจรวมทีมเพื่อส่งประกวด แม้เครื่องหมายกากบาทแดงบนพื้นขาว จะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่กล่องสบู่ เครื่องสำอาง ไปจนถึงรถพยาบาลหรือสถานที่ประกอบการทางการแพทย์ แต่น้อยคนจะรู้ว่าการใช้งานจริงของเครื่องหมายกาชาด มีเรื่องราวและความหมายมากมายกว่าที่เห็น คือเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อการคุ้มครองในยามสงคราม บอกให้ทุกฝ่ายห้ามโจมตีใครหรืออะไรที่ติดเครื่องหมายนี้ หรือในยามสงบ เครื่องหมายกาชาดถูกสงวนไว้เพื่อบ่งชี้อาคาร สถานที่ สิ่งของ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรกาชาดเท่านั้น

‘ข้อดีของงานนี้คือมันเป็นเรื่องใกล้ตัว ใครๆ ก็รู้จักเครื่องหมายกาชาด เราแค่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าวัตถุประสงค์ของเราคืออะไร ข้อความไหนที่ต้องการนำเสนอ แล้วเราจะทำยังไงให้คนติดตามงานของเรา ทำออกมาให้ไม่น่าเบื่อ’ ตัวแทนจากโรงเรียนอุดรธานีเล่า ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาสามารถคว้าชัยในการประกวดแบบเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

‘เป็นครั้งแรกที่เรารวมกลุ่มกันทำงานแนวนี้ ความยากที่สุดคือการเอาความวิชาการมาผสมลงในหนัง ให้ได้ชิ้นงานที่เล่าเรื่องสนุกในเวลาจำกัด แต่เนื้อหาต้องแน่นเข้าใจง่ายและไม่ผิดเลย’

ความยากในการเล่าข้อมูลให้สนุก เป็นจุดเดียวกับที่ณัฐธัญ กรุงศรี ตัวแทนจาก Takonefilm Production ผู้ชนะเลิศรางวัลประเภทประชาชนทั่วไปมองเป็นความท้าทาย‘จริงๆ แล้วการทำหนังมีวิธีเล่าของมัน ต้องเล่าประเด็นให้คม พอเรามาเจอข้อมูลเยอะเราก็เจอความท้าทายว่าจะหยิบมาเล่าอย่างไรให้คนดูเข้าใจคล้อยตามไปกับหนัง’

ความยากนี้ถูกแทนที่ด้วยไอเดียแปลกใหม่ ณัฐธัญหยิบเนื้อหาที่ดูวิชาการมาเล่าผ่านการทำ Facebook Live เจ้าตัวอธิบายความคิดนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่ามาจากกระแสโซเชียลที่เป็นเหมือนดาบสองคม ‘เราเล่นโซเชี่ยลทุกวันแล้วเห็นเยอะมาก การรับบริจาคเพื่อช่วยน้องคนนั้น ลุงคนนี้ ไม่รู้ว่าบริจาคไปแล้วเงินไปถึงจริงหรือเปล่า อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการไลฟ์สด ไม่รู้ว่ามีสาระหรือไม่มี เท็จหรือจริงก็ไม่รู้ แต่มีคนดูอยู่ตลอด เราลองเอากระแสตรงนี้มาปะติดปะต่อ แล้วลองดูว่าจะทำออกมาให้เป็นหนังได้อย่างไร’

‘มันน่าสนใจตรงที่เราเห็นเครื่องหมายกาชาดจนชินตา แต่ไม่รู้มาก่อนว่ามีความหมายอะไร อันที่จริงเวลาทำหนัง เรามักเริ่มจากประเด็นที่เราไม่รู้นี่แหละ แต่เราสนใจจะรู้ แล้วก็เรียนรู้ไปพร้อมกับมัน’ ณัฐธัญกล่าวถึงพลังที่ได้จากการทำหนัง

ทุกวันนี้แม้จะมีสื่อประชาสัมพันธ์มากมาย แต่การใช้เครื่องหมายกาชาดแบบผิดๆ ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป คลิปวีดีโอใหม่ของสองผู้ชนะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่กล่าวย้ำให้สังคมรู้ ว่าเครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องทำความเข้าใจ และการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ความเสียหายได้ในวงกว้าง

ติดตามงานของสองทีมผู้ชนะได้ที่ Facebook สภากาชาดไทย (The Thai Red Cross Society เร็วๆ นี้)

Special Thanks to:

ทีมโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล  อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

นายคณิศร ตั้งศิริ

นายจิรวัฒน์ มหาโยธี

นายฌานปกรฌ์ เฉียบแหลม

นายจตุพร กุลาดี

นายอติศักดิ์ ปาณิกิจ

ทีม Takonefilm Production

นายณัฐธัญ กรุงศรี