ประชาชนในรัฐคะฉิ่นประเทศเมียนมา มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปี 2011 เมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 6,800 คน ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย ตัวเลขนี้ยังไม่นับไปถึงประชากรอีกราว 100,000 ที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นมาแล้วหลายปีก่อนหน้า สถาณการณ์ในเดือนล่าสุด(เมษายน) ผู้คนมากมายต้องเดินเท้าจากพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อมายังสถานที่ตั้งค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นในโบสถ์นอกเมือง Myit Kyi Na
ทีมงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ใน Myit Kyi Na กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยในทุกทางที่เป็นไปได้เพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของพวกเขาตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะไม่ถูกละเลย
‘ผมหลบหนีมากลางดึกพร้อมสมาชิกในครอบครัว พวกเราต้องเดินเท้าหลายชั่วโมง ก่อนจะมาถึงพื้นที่ที่รถประจำทางวิ่งผ่าน ผมไม่รู้เลยว่าจะต้องอยู่ที่นี่ไปอีกนานแค่ไหน’ Sharaw Naw Aung ชายชราอายุ 77 ปี เล่าให้เราฟัง ก่อนหน้านี้เขาและลูกๆ อีก 4 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างจากตัวค่ายไปราว 100 กิโลเมตร นอกจากครอบครัวของ Sharaw Naw Aung ยังมีชาวบ้านอีกกว่า 200 ครัวเรือน ที่หลบหนีมาจากพื้นที่เดียวกัน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน หลายครอบครัวต้องเดินทางผ่านป่าลึกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตี
‘พวกเราอาศัยอาหารที่พอจะหาได้ระหว่างทางมาประทังความหิว’ Khun Nue กล่าว เขาและลูกชายวัย 10 ขวบ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นเวลาร่วม 3 คืน จนเดินทางมาถึงค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นในท้ายที่สุด
ประชากรส่วนใหญ่ในค่าย (ราว 1,050 คน) มาจากหมู่บ้าน Kum Tsai Taw Yang พวกเขาต้องเดินเท้าทั้งวันทั้งคืน ข้ามแม่น้ำอีกสาย กว่าจะได้มาถึงค่าย การเดินทางที่ยากลำบากทำให้บางครอบครัวต้องพลัดพราก ทีมงานของ ICRC ได้เข้าให้การช่วยเหลือเพื่อติดตามหาบุคคลสูญหายในพื้นที่
‘ฉันแทบเป็นลมเมื่อได้ยินข่าวว่าหมู่บ้านของเรากำลังอยู่ท่ามกลางการโจมตี’ Htu Sam Da Rai กล่าว เธอและลูกๆ ทั้ง 3 เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยที่หลบหนีออกจากหมู่บ้าน Kum Tsai Taw Yang มาเมื่อปลายเดือนเมษายน
ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีมาถึงค่ายได้อย่างปลอดภัย ในระหว่างนี้ มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากกับระเบิดเกิดขึ้นตลอดเวลา คาดว่าในขณะนี้ ยังมีชาวคะฉิ่นอีกหลายครอบครัวที่กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางและอาจหลงทางในป่าหรือถูกจับระหว่างการหลบหนี
‘สามีของฉันป่วยหนักมาก ตอนนี้เขาติดอยู่ที่ท่าเรือมาสองวันแล้ว ’ U Di Lu Bu ภรรยาและแม่ของลูกๆ ทั้ง 4 บอกกับ ICRC ระหว่างพักหลบภัยอยู่ในโบสถ์ Tang Hpre ที่เราให้ความช่วยเหลือ
เมื่อจำนวนผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ปัญหาความแออัด กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราให้ความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดสรรที่พักให้เพียงพอกับความต้องการของคนจำนวนมาก
‘พวกเราหลายคนต้องเบียดกันอยู่ในโบสถ์’ Daw Lu Bu อีกหนึ่งผู้พลัดถิ่นเล่าให้เราฟัง เธอกับลูกๆ และหลานชายทำได้แค่แทรกอยู่ในพื้นที่จำกัด เฉพาะในโบสถ์ the St Paul Church ก็มีผู้คนอาศัยอยู่เกือบ 400 คน
‘ฉันภาวนาให้สันติภาพกลับมาอีกครั้ง เพราะฉันเข้าใจว่าการต้องจากบ้านไปมันแย่แค่ไหน’ Ywe Nwe เด็กสาวในวัยเพียง 15 กล่าว เธอต้องขาดเรียนเป็นเวลานานเพราะการสู้รบที่ไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด ตอนนี้ เธอเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยที่อาศัยอยู่กับญาติระหว่างการอพยพรอบที่สอง
การโจมตีที่เกิดอย่างไม่คาดคิด ทำให้ครอบครัวจำนวนมาก ไม่สามารถหยิบฉวยของมีค่า หรือมีเวลาตระเตรียมเสบียงสำหรับการเดินทางไกล Roi Aung คุณแม่ยังสาว กำลังกังวลถึงความปลอดภัยของลูกน้อยวัย 9 เดือน ‘นี่เป็นครั้งแรกที่เราต้องหลบหนี เราเดินมาไกลมาก ฉันแบกลูกชายไว้ข้างหลัง รู้สึกถึงน้ำหนักและความรับผิดชอบ แต่ฉันจะทำอย่างไรได้ เราไม่มีอะไรติดกายนอกจากชีวิตของฉันและลูก’
ตอนนี้สถานการณ์ในคะฉิ่นยังเข้าขั้นน่าเป็นห่วง เพื่อเตรียมรองรับผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ ICRC กำลังพยายามมองหาและตระเตรียมความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อพวกเขามาถึง ความช่วยเหลือเหล่านี้จะสามารถบรรเทาความทุกข์ของผู้ที่ต้องจากบ้านมาได้บ้างไม่มากก็น้อย