วันฟ้าใสกลางเดือนกันยายน
เช้าวันเสาร์ที่ 17 กันยายนเป็นวันที่ทีมงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือ ICRC ได้นัดพบกับโหงว เชร็บ หนึ่งในสมาชิกทีมบาสเก็ตบอลคนพิการหญิงของกัมพูชาและเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟเคลื่อนที่ยี่ห้ออูเอดะ ทีมงานได้แจ้งให้โหงว เชร็บและครอบครัวทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะมีการถ่ายทำคลิปวีดีโอเรื่องราวของเธอเพื่อนำไปเผยแพร่ในบูธของ ICRC ที่งาน Global Festa ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2559
ICRC เคยนำเสนอเรื่องราวของโหงว เชร็บไปเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เธอเข้าร่วมโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนหรือ Micro Economic Initiative ของ ICRC ได้ประมาณ 5 เดือน ดังนั้นการเดินทางไปถ่ายทำเรื่องราวของเธอและครอบครัวในครั้งนี้จึงเหมือนกับการติดตามดูว่าเพื่อนคนนี้ของเรามีชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ทีมงานนัดพบกับโหงว เชร็บ ที่สนามฝึกซ้อมบาสเก็ตบอลซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพในจังหวัดพระตะบอง ที่นั่นนอกจากโหงว เชร็บแล้วทีมงานยังได้พบกับน้องๆสมาชิกทีมบาสเก็ตบอลคนอื่นๆ ซึ่งทุกคนดูตื่นเต้นที่ได้พบกันอีกครั้ง การฝึกซ้อมเริ่มต้นขึ้น เสียงลูกบาสเก็ตบอลกระทบแป้นและเสียงของหัวหน้าทีมดังสลับไปกับเสียงดีใจเวลาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้ ราว 11 โมงเช้าการฝึกซ้อมก็ยุติลง ทีมงานนัดแนะกับโหงว เชร็บและสรุปรายละเอียดการถ่ายทำให้เธอทราบ
กาแฟเปลี่ยนชีวิต
โหงว เชร็บ เล่าให้ทีมงานฟังว่าตอนนี้ฐานะของเธอและครอบครัวดีขึ้นกว่าเดิมมาก รถขายกาแฟเคลื่อนที่ที่ได้มาจากโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนของ ICRC ทำให้เธอมีรายรับเฉลี่ยตกเดือนละ 17,500 บาท จากเดิมครอบครัวของเธอมีรายได้เพียงเดือนละ 1,400 บาทเท่านั้น เงินจำนวนนี้เธอนำมาซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายค่าเทอมลูก และค่าใช้จ่ายภายในบ้าน
โหงว เชร็บเล่าว่า ทุกวันเธอจะตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อเตรียมต้มกาแฟสำหรับขาย ขณะที่สามีจะออกไปซื้อน้ำแข็งและช่วยจัดรถ หลังจากนั้นเธอจะปลุกลูกสาวให้อาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปโรงเรียน โดยสามีจะเป็นคนพาลูกไปส่งและกลับมารับเธอเพื่อออกไปขายกาแฟประมาณหกโมงครึ่ง เธอเล่าว่า ตอนแรกๆเธอรู้สึกอายที่จะไปขายกาแฟและคิดว่าคนคงจะไม่ซื้อเพราะเธอพิการ แต่กลับกลายเป็นว่าทุกคนชมว่ากาแฟของเธอมีรสชาติดี ตั้งแต่นั้นมาเธอก็พูดคุยกับลูกค้ามากขึ้นและมีลูกค้าประจำจำนวนมาก
รูว์ เทวี่ หนึ่งในลูกค้าประจำเล่าให้ทีมงานฟังว่า “โหงว เชร็บ เล่าให้ฉันฟังเรื่องความพิการและบอกว่า ICRC ให้การสนับสนุนทุนในการซื้อแฟรนไชส์ของรถขายกาแฟยี่ห้ออูเอดะ ฉันอยากสนับสนุนก็เลยซื้อกาแฟเป็นประจำ”
อูเอดะ กาแฟจากแดนอาทิตย์อุทัย
อูเอตะ เทรุฮิโกะ เจ้าของบริษัทอูเอดะ ในกัมพูชาเล่าว่า บริษัทตั้งชื่อตามหัวหน้าคือ คุณอูเอดะซึ่งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เขาเข้ามาทำธุรกิจที่นี่ก็เพราะหัวหน้าสนใจธุรกิจกาแฟ อูเอตะมีร้านกาแฟตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ทุกวันจะมีลูกค้าเข้ามาดื่มกาแฟจำนวนมาก เขาเล่าต่อว่าที่ได้มารู้จักโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนก็เพราะได้พบกับไดซากุ โอกะ ผู้แทนของ ICRC ที่รับผิดชอบโครงการนี้ ตอนแรกเขารู้สึกแปลกใจที่ทาง ICRC ติดต่อเข้ามาแต่หลังจากที่ฟังการบรรยายสรุปจากไดซากุ เขาจึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมงานกัน
อูเอตะเล่าว่า บริษัทได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมให้โหงว เชร็บ ที่จังหวัดพระตะบองนานหนึ่งสัปดาห์ ทุกคนมองว่าเธอมีศักยภาพที่จะทำงานนี้ได้เพราะเป็นคนเรียนรู้ไว มีความร่าเริงแจ่มใส อูเอตะบอกว่า ตอนแรกเขารู้สึกวิตกเพราะไม่แน่ใจว่ากาแฟจะเป็นที่รู้จักในจังหวัดพระตะบองหรือไม่แต่ปรากฏว่าชาวกัมพูชารู้จักกาแฟยี่ห้อนี้อยู่แล้วและตอนที่โหงว เชร็บ เริ่มขายกาแฟก็ทำยอดได้ดีทำให้เขาคลายความกังวลลง เขาบอกว่า สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกดีกับโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนก็เพราะมันช่วยให้ผู้พิการมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาจึงยินยอมให้ ICRC รับผิดชอบค่าแฟรนไชส์ให้กับโหงว เชร็บ
ก้าวต่อไปของโหงว เชร็บ
โหงว เชร็บ บอกกับทีมงานหลังการถ่ายทำสิ้นสุดลงว่า ธุรกิจเล็กๆของเธอกำลังไปได้ดี เธอตั้งเป้าไว้ว่าในอนาคตเธออยากจะมีร้านอาหารเล็กๆเป็นของตัวเอง ส่วนรถกาแฟก็จะเก็บไว้ส่งกาแฟให้ลูกค้า เธอบอกว่าจากความสำเร็จของรถกาแฟเคลื่อนที่ทำให้ตอนนี้มีรถกาแฟยี่ห้ออูเอดะคันที่สองออกแล่นไปตามท้องถนนในจังหวัดพระตะบองแล้ว ซึ่งเจ้าของก็เป็นผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนกับ ICRC ด้วยเช่นกัน “ฉันจะไม่มีวันทิ้งกีฬาบาสเก็ตบอลและธุรกิจขายกาแฟ สองอย่างนี้คือชีวิตของฉัน ฉันจะทำมันให้ดีที่สุดและจะไม่มีวันล้มเลิกความตั้งใจอย่างแน่นอน” โหงว เชร็บบอกกับทีมงาน
โครงการเศรษฐกิจครัวเรือน
โครงการเศรษฐกิจครัวเรือนหรือ Micro Economic Initiative (MEI) เป็นโครงการสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับผู้พิการเพื่อการลงทุนในธุรกิจครัวเรือนขนาดเล็ก โดยมีเงื่อนไขว่าผู้พิการนั้นจะต้องเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพของ ICRC ที่จังหวัดพระตะบอง มีฐานะค่อนข้างยากจนและต้องมีความเข้าใจเรื่องธุรกิจอยู่บ้าง วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้พิการที่ส่วนใหญ่มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคมสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากนัก
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ICRC ได้เริ่มต้นโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนโดยเป็นการทำงานร่วมกับนักกีฬาจากทีมบาสเก็ตบอลหญิงคนพิการ ซึ่งแบ่งออกเป็น รถกาแฟเคลื่อนที่ เย็บผ้า เลี้ยงเป็ดไก่ ฟาร์มเห็ด ร้านชำ และฟาร์มเลี้ยงปลา ซึ่งแต่ละโครงการประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ICRC จึงได้ขยายโครงการและคุณสมบัติของผู้รับทุนในปี 2559 โดยเปิดให้ผู้พิการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกทีมบาส เก็ตบอลเข้าร่วมโครงการได้ ทำให้ในปีนี้มีโครงการหลากหลายขึ้น เช่น การทำแป้งปอเปี๊ยะ การเลี้ยงนกกระทา รถขายน้ำอ้อย ซ่อมจักรยานยนต์ และซ่อมโทรทัศน์ รวมทั้งสิ้นจนถึงปัจจุบันมีผู้รับทุนจากโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนของ ICRC ไปแล้ว 18 ราย
เยี่ยมชมแกลอรี่ภาพของโครงการเศรษฐกิจครัวเรือน หรือ MEI ได้ที่นี่
YOU CAN WATCH THE VIDEO WITH ORIGINAL SOUND AND ENGLISH SUBTITLE, CLICK HERE