ผู้หญิงแถวหน้าของไอซีอาร์ซี

ในการทำงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี ผู้หญิงมักจะมีบทบาทอยู่ในแถวหน้าเสมอโดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ภาคสนามเป็นผู้หญิง ในวันสตรีสากลนี้ เราจะบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงสามคนที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อสิ่งที่พวกเธอเชื่อมั่น

มารี-แคลร์ เฟก้าลี

เจ้าหน้าที่ทำงานด้านมนุษยธรรมชาวบราซิล

ฉันเห็นทุกอย่างมาหมดแล้ว

ตั้งแต่การเริ่มต้นทำงานในอิรักเป็นประเทศแรกจนถึงปัจจุบันที่ฉันมาทำงานในประเทศอินโดนีเซีย ฉันคิดว่าช่วงเวลาที่ฉันประทับใจมากที่สุดก็คือการทำงานในประเทศเยเมน

ตอนนั้นมีการโจมตีทางอากาศซึ่งกินเวลานานหลายเดือน คุณไม่มีวันรู้เลยว่าเมื่อไหร่ที่ระเบิดจะตกลงมาใส่ คุณไม่รู้เลยว่าผู้คนที่นั่นจะเอาตัวรอดเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร ลืมเรื่องของตัวเองไปได้เลย ทั้งอาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค และ หมอเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก ทุกอย่างขาดแคลนไปหมด

ฉันจำได้ว่าวันที่เครื่องบินขนส่งอุปกรณ์การแพทย์เดินทางมาถึง ผู้คนที่นั่นต่างเฝ้ารอคอย พวกเขาต้องการอุปกรณ์เหล่านั้นมาก มันเป็นหนึ่งในวันที่ฉันมีความสุขมากที่สุดในชีวิต มากยิ่งกว่าวันที่ฉันแต่งงานเสียอีก

ทาทิอาน่า ฟอเรซ

เจ้าหน้าที่ทำงานด้านมนุษยธรรมชาวโคลัมเบีย

ฉันได้เป็นประจักษ์พยานตอนที่คน 114 คน ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

คนกลุ่มนี้ถูกกลุ่มติดอาวุธจับตัวไป พวกเขาขาดอิสรภาพ หน้าที่ของฉันก็คือการดูแลให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะเดินทางได้ สิ่งแรกที่ฉันทำก็คือ กุมมือของพวกเขาไว้แล้วพูดว่า “เราอยู่ที่นี่เพื่อพวกคุณนะ”

ฉันทำบันทึกจำนวนคนที่กลุ่มติดอาวุธปล่อยตัวออกมาและได้รับการรักษาจากฉันหายไป ถึงตอนนี้อาจจะจำนวนหลายร้อยคนแล้วก็เป็นได้

ฉันยังคงจำครั้งแรกที่ฉันรู้สึกตื่นตระหนกระหว่างการทำงานได้

มันเกิดขึ้นในราวปลายทศวรรษ 1990 ตอนนั้นฉันทำงานอยู่ในพื้นที่ๆได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางอาวุธอย่างหนัก ผู้คนได้รับบาดเจ็บและฉันรู้สึกตกใจเพราะว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะรักษาใครสักคนในสถานที่ๆไม่รู้ว่า มันคือที่ไหน ตอนนั้นประสบการณ์ของฉันยังน้อยมากและฉันก็ยังเด็กอยุ่มาก อายุแค่ 24 เท่านั้น

ตอนที่ฉันเห็นผู้คนเหล่านั้นได้รับการปล่อยตัว ความหวาดกลัวของฉันก็มลายหายไป ฉันไม่มีวันลืมคำพูดของชายคนหนึ่งที่บอกกับฉันว่า “ผมรู้สึกว่ารอยยิ้มของคุณช่วยเยียวยาผมได้”

ทุกวันนี้ฉันยังคงร้องไห้เวลาที่ฉันลงพื้นที่เพื่อไปรักษาผู้คนที่ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระจากการถูกจับตัวไป หากวันหนึ่งฉันไม่มีน้ำตาสักหยดระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ฉันจะลาออกจากงานนี้อย่างแน่นอน

กราเซียล่า1

กราเซียล่า เลเต

เจ้าหน้าที่ทำงานด้านมนุษยธรรมชาวบราซิล

ฉันมักจะสงสัยว่าผู้คนที่เราออกไปทำงานด้วยข้างนอกนั่นให้ความเคารพในตัวฉันแค่ไหน

มีคนถามคำถามนั้นกับฉันหลายต่อหลายครั้ง ความจริงก็คือ เมื่อคิดย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีของการทำงานภาคสนาม ทุกครั้งฉันจะได้รับการเคารพและใส่ใจ เหตุผลง่ายๆก็เพราะว่า ฉันเป็นผู้หญิง และ ฉันก็มักจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับการเคารพเช่นนั้นทุกครั้ง

จะว่าไปแล้วมันก็มีหลายเหตุการณ์ที่ผู้คนรอบข้างที่ทำงานด้วยกันอาจจะหวังให้ฉันเป็นผู้ชายแต่ฉันก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าการเป็นผู้หญิงส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการทำงานให้ลุล่วง

จริงๆแล้วการทำงานเป็นผู้หญิงแถวหน้าเป็นสิ่งที่ดี ฉันได้เดินทางไปในสถานที่หลายๆแห่งที่เพื่อนร่วมงานผู้ชายไม่สามารถไปได้ ฉันใช้เวลากับผู้หญิงในบ้านของพวกเธอ พูดคุยกันเรื่องสุขอนามัย และ การดูแลสุขภาพ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ฉันคิดว่าผู้หญิงได้รับการยอมรับค่อนข้างมากและเห็นได้ชัดว่ามากขึ้นๆ ผู้หญิงเป็นบุคคลที่มีค่าอย่างยิ่งสำหรับงานด้านมนุษยธรรม และ ฉันก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น