คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศพยายามตามหาผู้สูญหาย 23,000 ชีวิต ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม บางรายอาจถูกจับกุม ถูกสังหาร หรือขาดการติดต่อกับครอบครัวเพราะหลบหนีจากความขัดแย้ง ความเจ็บปวดจากการพลัดพราก ยิ่งเพิ่มเติมความทุกข์ให้กับครอบครัวของผู้สูญหายที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันยากลำบาก หลังการขัดกันทางอาวุธยกระดับขึ้นเมื่อสองปีก่อน ความต้องการด้านมนุษยธรรมมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น นั่นรวมไปถึงผู้คนหลายล้านที่ต้องพลัดถิ่น ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ
“การไม่ทราบชะตากรรมของบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องสาหัสมาก นี่คือความจริงอันน่าสลดใจของหลายหมื่นครอบครัวที่ต้องอยู่กับความเจ็บปวดเรื่อยมา ครอบครัวมีสิทธิ์รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับญาติของตน และหากเป็นไปได้ พวกเขาจะต้องสามารถแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกันได้” ซาน วูจาซานิน หัวหน้าสำนักงานกลางเพื่อสืบหาญาติ (Central Tracing Agency Bureau) ของไอซีอาร์ซีกล่าว หน่วยงานนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อทำหน้าที่สืบหาผู้สูญหายจากการขัดกันทางอาวุธระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา ไอซีอาร์ซีและกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศซึ่งปฎิบัติหน้าที่อยู่ในยูเครน รัสเซีย และพื้นที่อื่นๆ สามารถช่วยให้ 8,000 ครอบครัวได้รับข่าวสารจากญาติที่สูญหาย ในเวลาสองปีที่ผ่านมา ICRC ได้รับข้อความจากครอบครัวที่ต้องการติดตามหาญาติถึง 115,000 ครั้ง ทั้งจากทางช่องทางออนไลน์ ทางสายโทรศัพท์ และการเยี่ยมครอบครัวต่างๆ จากทั้งสองประเทศ ปัจจุบันยังมีอีกหลายครอบครัวที่รอคอยข่าวคราวจากบุคคลอันเป็นที่รัก
เสียงจากครอบครัวของผู้สูญหาย:
- “หากคุณพบสามีของฉัน โปรดบอกเขาว่าลูกของเราคลอดแล้วเมื่อวานนี้ พวกเราสบายดีและยังรอเขาอยู่เสมอ”
- “ฉันดีใจมากที่ทราบว่าลูกชายยังมีชีวิตอยู่ ฉันไม่ได้ยินข่าวจากเขามาเกือบสองเดือน เป็นสองเดือนที่เหมือนตายทั้งเป็น”
- “ฉันไม่มีน้ำตาเหลืออีกแล้ว มีแต่ความเจ็บปวด หัวใจแตกเป็นเสี่ยงๆ”
สำนักงานกลางเพื่อสืบหาญาติที่ปฎิบัติงานอยู่ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 ตามข้อกำหนดในอนุสัญญาเจนีวาที่ระบุว่า ทั้งสองประเทศจะต้องจัดตั้งสำนักงานข้อมูลแห่งชาติ (National Information Bureaus) เพื่อเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองของทั้งสองฝั่ง ยกตัวอย่างเช่น เชลยศึก หรือพลเรือนที่ถูกกักขัง หน่วยงานที่ว่านี้ทำงานร่วมกันกับสำนักงานกลางเพื่อสืบหาญาติของไอซีอาร์ซีที่ยึดหลักความเป็นกลาง และแม้ว่าผู้สูญหายจะเสียชีวิตไปแล้ว ทุกฝ่ายก็มีหน้าที่ที่จะต้องกู้คืน ระบุตัวตน และส่งคืนร่างผู้เสียชีวิตให้กับครอบครัว
ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ครอบครัวมีสิทธิ์ที่จะทราบชะตากรรมและแห่งหนของบุคคลอันเป็นที่รัก คู่ขัดแย้งยังมีหน้าที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ครอบครัวพลัดพรากจากกัน และช่วยให้ญาติได้ทราบข่าวคราวของกันและกัน สำหรับบุคคลที่ถูกจับกุมคุมขัง พวกเขาต้องได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ Russia-Ukraine international armed conflict: 23,000 people reported missing