เนื่องในวาระครบรอบอนุสัญญาเจนีวา บรรดาผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านมนุษยธรรมและผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายได้ใช้โอกาสนี้สะท้อนบทเรียนที่ได้รับจากสนธิสัญญาทั้งสี่ฉบับที่ได้รับการให้สัตยาบันอย่างเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับตลอดระยะเวลาเจ็ดทศวรรษแห่งสงคราม บทความนี้ต่อยอดมาจากการศึกษาด้านอภิปรัชญา (metaphysical) ของ Helen Durham เกี่ยวกับข้อท้าทายทั้งในอดีตและปัจจุบันที่กฎหมายมนุษยธรรมกำลังเผชิญอยู่ บทความนี้จึงได้ทำการสำรวจและแสดงเหตุผลหักล้างข้อกล่าวอ้างที่มักจะถูกนำมาใช้อยู่เสมอ

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นนักวิชาการและมีส่วนผลักดันกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเปิดเผย ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นปัญหาของวาทกรรมที่ใช้กล่าวถึงอนุสัญญาเจนีวา เนื้อความสำคัญของวาทกรรมดังกล่าวคือ “ข้าพเจ้าเห็นแต่ความรุนแรงและความวุ่นวายเกิดขึ้นบนโลก การเผยแพร่บทกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีอยู่ก็จริง แต่บทบัญญัติดังกล่าวถูกยกร่างขึ้นในยุคสมัยที่โฉมหน้าของสงครามนั้นแตกต่างออกไป แล้วทหารที่สู้รบในแนวรบจะเข้าใจกฎหมายสงครามหรือไม่ ทั้งนี้มิต้องกล่าวถึงการปฏิบัติตามกฎหมายเช่นว่า”

ข้าพเจ้าจะไม่ยอมคล้อยตามข้อกังขานี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ไม่ได้มีเฉพาะการกระทำอันโหดร้ายทารุณในเขตที่เกิดความขัดแย้ง ดังที่รายงานบนหน้าหนังสือพิมพ์  เพื่อค้นหาความจริงข้าพเจ้าจึงนำข้อกล่าวอ้างสามประการมาตรวจสอบด้วยพยานหลักฐานที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross and Red Crescent: ICRC) ได้รวบรวมไว้

“กฎหมายมนุษยธรรมได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและทันต่อยุคสมัยยิ่งกว่าเดิม”

ความจริง

อนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพียงไม่กี่ฉบับที่ได้รับการให้สัตยาบันหรือให้ภาคยานุวัติอย่างเป็นสากล อีกทั้งบรรดารัฐต่างก็เป็นภาคีของสนธิสัญญากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่งว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ และพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สองว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ

นอกจากนี้หลักการและกฎเกณฑ์พื้นฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังปรากฏในรูปแบบกฎหมายจารีตประเพณีในฐานะที่เป็น “หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงแนวปฏิบัติโดยทั่วไปอันได้รับการยอมรับว่ามีสถานะเป็นกฎหมาย” และที่สำคัญภายใต้กฎหมายจารีตประเพณี พันธกรณีหลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผูกพันทุกฝ่ายในความขัดแย้ง ไม่ว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะมีลักษณะระหว่างประเทศหรือไม่ ข้อสรุปดังกล่าวเป็นผลการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีเมื่อปี ค.ศ. 2005 โดยทำการศึกษาแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเชิงลึกประกอบกับทรรศนะทางกฎหมาย แล้วยังมีการนำข้อมูลแนวปฏิบัติที่ใช้ในการศึกษาดังกล่าวมาปรับปรุงให้ทันสมัยโดยสามารถเข้าถึงได้ในฐานข้อมูลกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC

อันที่จริงแล้ว พบว่าน้อยครั้งที่จะมีการตั้งข้อสงสัยกับหลักกฎหมายและกฎเกณฑ์หลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่จะมีการตั้งข้อสงสัยกับการปรับใช้หรือการตีความเสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น ไม่มีข้อพิพาทโดยตรงเกี่ยวกับหลักข้อห้ามการโจมตีพลเรือน แต่กลับมีคำถามที่เกิดขึ้นในประเด็นต่าง ๆ ว่าใครคือบุคคลที่มีสถานะเป็นพลเรือน การที่พลเรือนที่ตกเป็นเป้าหมายในบางสถานการณ์ต้องสูญเสียความคุ้มครองจากการโจมตีนั้นเป็นเพราะพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ หรือการสูญเสียความคุ้มครองนั้นเป็นเพราะการกระทำที่ขัดต่อเป้าหมายทางทหารและสอดคล้องกับข้อกำหนดทั้งหลายของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

นอกจากกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน พวกเราสามารถกล่าวเช่นนี้ได้อย่างมั่นใจเพราะว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อคิดเห็นรายข้อของอนุสัญญาของ ICRC ซึ่งตีพิมพ์เมื่อทศวรรษ ค.ศ. 1950 โดยมี Jean Pictet เป็นบรรณาธิการ  ข้อคิดเห็นฉบับปรับปรุงของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่งและฉบับที่สองได้ถูกตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2016 และค.ศ. 2017 ตามลำดับ โดยใช้ข้อมูลแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับใช้และการตีความอนุสัญญาเจนีวาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา ข้อคิดเห็นฉบับหน้าเป็นข้อคิดเห็นฉบับใหม่ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สามซึ่งกำลังจะได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2020

ข้อคิดเห็นฉบับใหม่ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สามมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบทบัญญัติในอนุสัญญาที่กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการขัดกันทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ (non-international armed conflicts) แม้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นเพียงข้อกำหนดหนึ่ง แต่ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็น “อนุสัญญาฉบับจิ๋วภายในอนุสัญญาเจนีวา” จากข้อคิดเห็นเดิมที่มีความยาว 25 หน้า ข้อคิดเห็นฉบับใหม่ได้ผนวกเอาแนวปฏิบัติ แนวคำพิพากษา และหลักกฎหมายจนกินเนื้อที่กว่า 200 หน้า ข้อคิดเห็นฉบับล่าสุดได้พูดถึงประเด็นใหม่ ๆ ซึ่งข้อคิดเห็นฉบับดั้งเดิมไม่ได้กล่าวถึง อย่างเช่นประเด็นการขัดกันทางอาวุธในลักษณะข้ามดินแดน (cross-border armed conflicts) หรือลักษณะที่พ้นออกมานอกเขตดินแดน (spill-over armed conflicts) การกำหนดความหมายของกรอบแนวคิดขั้นพื้นฐานอย่างเช่นการประติบัติอย่างมีมนุษยธรรม และการห้ามการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายทารุณ ตลอดจนกล่าวถึงประเด็นความรุนแรงทางเพศอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับการพูดถึงในข้อคิดเห็นฉบับเดิม

“กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธ”

ความจริง

แม้ว่าการศึกษาโดยอาศัยพยานหลักฐานจะยากต่อการทำความเข้าใจและพิสูจน์ข้อเท็จจริง การใช้พยานหลักฐานนั้นมีที่มาจากการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ดำเนินไปพร้อมกับการบรรเทาความทุกข์ทรมานของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น การศึกษาของ ICRC เกี่ยวกับการพลัดถิ่นในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ พบว่าการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการพลัดถิ่นที่ต้นเหตุ และยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านมนุษยธรรมตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการพลัดถิ่นขึ้นในคราวแรก

การศึกษาถึงบทบาทของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในการบรรเทาผลพวงของสงครามนั้นเริ่มมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงการ IHL Impact จึงเกิดขึ้นเพื่อการดังกล่าว โดยเป็นชุดงานวิจัยที่ริเริ่มและดำเนินการโดย ICRC โครงการดังกล่าวมุ่งสร้างบรรยากาศการเคารพกฎหมายมนุษยธรรม ด้วยการให้เหตุผลในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของประชาชนในยามสงครามได้อย่างไร การจัดเก็บพยานหลักฐานเพื่อแสดงถึงผลกระทบของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ เช่น ความปลอดภัยของมนุษย์ การพัฒนา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ชุดงานวิจัยถัดไปในโครงการเดียวกันนั้นเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ บุคคลที่หายสาบสูญ และการปรองดอง ชุดงานวิจัยนี้มุ่งเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเคารพบทบัญญัติกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่สูญหายระหว่างหรือภายหลังความรุนแรง และพิจารณาว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องบุคคลที่สูญหายจะกระทบต่อการปรองดองและการอยู่รวมกันหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ซับซ้อนดังนั้นเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดจึงต้องอาศัยกรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ชัดเจนและน่าปฏิบัติตาม พวกเราต้องเพิ่มความพยายามในการสร้างความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว

“ไม่มีใครเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและเกิดการละเมิดกฎหมายตลอดเวลา”

ความเท็จ

แม้จะดูเหมือนว่ามีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง และกลุ่มสตรี เด็ก และบุรุษต้องเผชิญกับความจริงที่โหดร้ายในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธทั่วโลก การด่วนสรุปโดยอนุมานจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่าไม่มีใครเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (จึงทำให้กฎหมายนั้นไร้ความหมาย) นั้นไม่ถูกต้องและอันตราย

การเชื่อตามข้อกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องนี้จะนำไปสู่การลดทอนคุณค่าของการที่ปัจเจกตัดสินใจเลือกกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังกรณีตัวอย่าง: ในประเทศซูดานใต้ กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งกำหนดห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เมื่อกลุ่มดังกล่าวได้กลายเป็นพรรครัฐบาลก็ได้ดำเนินบทบาทอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้ประเทศสืบสิทธิและหน้าที่ภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) คณะผู้แทนสหภาพแอฟริกา (African Union Mission) ในประเทศโซมาเลียได้พัฒนานโยบายใหม่สำหรับการยิงเล็งจำลอง (indirect fire) ที่กำหนดให้ต้องใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้าทั้งปวงที่สามารถกระทำได้ระหว่างการโจมตี และจำกัดการใช้อาวุธบางประเภทในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัย นโยบายดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพลเรือนขณะปฏิบัติการ

กรณีตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นเพียงสองตัวอย่างจากตัวอย่างทั้งหมดที่ ICRC ทำการบันทึกรวบรวมในโครงการ IHL in Action โครงการนี้ทำการรวบรวมกรณีตัวอย่างของการเคารพกฎหมายในสถานการณ์จริง มีการดำเนินการโดยประมวลข้อมูลที่เข้าถึงได้จากสาธารณะ โดยความร่วมมือระหว่าง ICRC กับนักวิชาการจำนวนสี่คน โครงการดังกล่าวต้องการบรรลุเป้าหมายในการแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนนับพันที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสงคราม

ในสุนทรพจน์ที่ให้ไว้เมื่อต้นปี Peter Maurer ประธาน ICRC กล่าวนี้ว่า “พวกเราเห็นผลของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในทุก ๆ วัน: เมื่อบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บได้รับอนุญาตให้ผ่านจุดตรวจตรา เมื่อเด็กที่อยู่ในแนวรบได้รับอาหารและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอื่น ๆ เมื่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องกักนั้นดีขึ้น หรือเมื่อพวกเขาสามารถติดต่อครอบครัว” แม้เวลาจะผ่านไปกว่าเจ็ดสิบปี อนุสัญญาเจนีวายังเป็นสายชีวิตให้กับคนอีกหลายคน หาใช่เป็นเพียงแค่ตำนานในอดีต

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Two truths and a lie: seventy years of the Geneva Conventions. 

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย