คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้ศึกษาความสอดคล้องเชื่อมโยงกันของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ที่มีร่วมกับศาสนาต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยมุ่งหมายสำคัญของการศึกษาคือเพื่อเรียนรู้และกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยอภิปรายระหว่างกันเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ศาสนาอิสลามนั้นเป็นศาสนาหนึ่งที่มีชุดกฎหมายมนุษยธรรมเป็นของตัวเองและนำชุดกฎหมายนี้มาใช้ในการบรรเทาความทุกข์ทรมานในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ

ในการบรรยายอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลักสูตร “ความขัดแย้ง ความรุนแรง และงานด้านมนุษยธรรม” ซึ่ง สถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้นร่วมกับ ICRC และมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.) ดร. ซีอาเลาะห์ ราห์มานี ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและนิติศาสตร์อิสลามระดับภูมิภาคของ ICRC ได้นำเสนอเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมอิสลามให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมได้รับฟัง

ในการนำเสนอครั้งนี้ ดร. ราห์มานี ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงคำภาษาอาหรับคำว่า “สิยาร์” ว่าเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายอิสลามที่มีขอบเขตครอบคลุมกว้างกว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ พร้อมกับกล่าวอธิบายถึงคำว่า “ญิฮาด” ซึ่งเป็นคำที่คนเข้าใจและตีความหมายผิดเพี้ยนค่อนข้างมาก รวมถึงได้อธิบายเกี่ยวกับต้นกำเนิดของกฎหมายมนุษยธรรมอิสลามว่ามาจากคัมภีร์กุรอานและซุนนะห์ โดยมีสนธิสัญญาอิสลามเป็นรากฐานเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ดร. ราห์มานี ยังได้บรรยายถึงกฎเกณฑ์พื้นฐานของกฎหมายอิสลามในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ และปิดท้ายการนำเสนอด้วยการบรรยายเกี่ยวกับหลักการทั่วไปของนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นหลักการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีที่มีการนำกฎเกณฑ์ของกฎหมายอิสลามมาใช้ในสถานการณ์การสู้รบ