8:15 นาฬิกาที่ถูกหยุดไว้ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945

8 โมงเช้ากับอีก 15 นาที คือเวลาที่ฮิโรชิมะ ถูกถล่มราบเป็นหน้ากลองด้วยอานุภาพจากระเบิดปรมาณูชนิดยูเรเนียม ระเบิดถูกหย่อนจากน่านฟ้าโดย ‘บี-ซัง’ หรือ ‘มิสเตอร์บี’ ชื่อที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียกเครื่องบิน บี-29 อย่างทั้งเกรงใจ ทั้งไม่ชอบใจ แต่ก็คุ้นเคย

ใครจะรู้ว่า การมาถึงของบี-ซังในครั้งนั้นต่างออกไป เพราะทันทีที่ระเบิดถูกปล่อยลงมา ฮิโรชิมะก็ไม่เหมือนเดิมอีก

เช้าวันที่ 7 สิงหาคม 1945 วิทยุของญี่ปุ่นออกประกาศครั้งแรกอย่างรวบรัด “ฮิโรชิมะเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีด้วยเครื่องบินบี-29 จำนวนหลายลำ เชื่อว่ามีการนำระเบิดชนิดใหม่มาใช้แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร” ในขณะที่คลื่นวิทยุฝั่งอเมริกากล่าวถึงระเบิดชนิดใหม่ว่า “ปรมาณู” มีพลังระเบิดมากกว่าแกรนด์ดัสแลมของอังกฤษ (ซึ่งเป็นระเบิดที่มีอานุภาพทำลายล้างมากที่สุดในขณะนั้น) ถึงสองพันเท่า

76 ปีผ่านไป ผลกระทบของระเบิดยังคงเป็นที่พูดถึงและความกลัวต่อหายนะที่อาจเกิดขึ้นก็ยังได้รับการบอกต่อ ทุกวันนี้โลกยังมีระเบิดนิวเคลียร์หลายพันลูกพร้อมที่จะถูกยิงออกไปในทันที พลังของหัวรบอาวุธเหล่านี้รุนแรงกว่าอาวุธที่ถูกทิ้งถล่มเมืองนางาซากิและฮิโรชิมะเป็นสิบ ๆ เท่า

อาวุธนิวเคลียร์ผิดกฎหมายหรือไม่? สนธิสัญญาห้ามระเบิดนิวเคลียร์สามารถบังคับใช้ได้จริงหรือ? เป็นความจริงแค่ไหนกับคำกล่าวที่ว่า ‘หากไม่มีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว สงครามโลกครั้งใหม่จะปะทุกได้ง่ายขึ้น’? ตอบทุกข้อข้องใจแบบอ่านครั้งเดียวเข้าใจตลอดไป

สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์คืออะไร

สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกเกี่ยวกับการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยการห้ามพัฒนา ทดลอง ผลิต จัดเก็บในคลัง ติดตั้ง ถ่ายโอน ใช้ หรือขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงสนับสนุนหรือส่งเสริมกิจกรรมใด ๆ ข้างต้น ซึ่งสนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีรัฐภาคียื่นสัตยาบันสารครบ 50 ประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2019 ฮอนดูรัส ได้ตัดสินใจยื่นสัตยาบันเป็นประเทศที่ 50 ทำให้สนธิสัญญาเริ่มมีการนับถอยหลังเพื่อบังคับใช้ภายใน 90 วัน โดยเริ่มบังคับใช้จริงในวันที่ 22 มกราคม 2021

ประเทศใดบ้างร่วมสัตยาบันแบนอาวุธนิวเคลียร์

ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันในสนธิสัญญาดังกล่าวจำนวน 59 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา, ออสเตรีย, บังกลาเทศ, เบลีซ, เบนิน, โบลิเวีย, บอตสวานา, กัมพูชา, ชิลี, โคโมรอส, หมู่เกาะคุ๊ก, คอสตาริกา, คิวบา, โดมินิกัน, เอกวาดอร์, เอลซัลวาดอร์, ฟิจิ, แกมเบีย, กินี-บิสเซา, กายอานา, นครรัฐวาติกัน, ฮอนดูรัส, ไอร์แลนด์, จาไมกา, คาซัคสถาน, คิริบาตี, ลาว, เลโซโท, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, มอลตา, เม็กซิโก, มองโกเลีย, นามิเบีย, นาอูรู, นิวซีแลนด์, นิการากัว, ไนจีเรีย, นีอูเอ, ปาเลา, ปาเลสไตน์, ปานามา, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปินส์, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเซีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, ซามัว, ซานมารีโน, เซเชลส์, แอฟริกาใต้, ไทย, ตรินิแดดและโตเบโก, ตูวาลู, อุรุกวัย, วานูอาตู, เวเนซุเอลา, เวียดนาม

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์โดยได้ลงนามในวันแรกร่วมกับนครรัฐวาติกันและกายอานาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2017

แม้ในปัจจุบัน จำนวนรัฐที่ให้สัตยาบัน (หมายถึงให้การยืนยันว่าประสงค์จะให้สนธิสัญญานั้นมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในประเทศ) จะมีเพียง 59 ประเทศ แต่ยังมีอีก 27 ประเทศ ที่ลงนามในสนธิสัญญาฯ ซึ่งแม้ว่าข้อกำหนดของสนธิสัญญาจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสนธิสัญญานี้ ได้รับผลตอบรับที่ดี และคาดว่าจะมีภาคีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ในจำนวนประเทศเหล่านี้ ไม่มีประเทศไหนที่ถือครองนิวเคลียร์ แล้วสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะมีประโยชน์อะไร ถ้ารัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่ร่วมให้สัตยาบัน?

แม้ว่าในบรรดารัฐที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะไม่มีประเทศใดเลยที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง ถึงอย่างนั้นผลที่ตามมาของสนธิสัญญาฯ ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าคาดหวัง สนธิสัญญาห้ามระเบิดนิวเคลียร์สร้างบรรทัดฐานร่วมกันว่า การใช้อาวุธที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ ดังนั้น มันจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อกดดันให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองเริ่มหันมามองถึงความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยอาจเริ่มลดหรือกำจัดอาวุธต่อไปในอนาคต<

สนธิสัญญาดังกล่าวยังมีส่วนช่วยสนับสนุนสนธิสัญญาตัวก่อนหน้า คือ สนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ Nuclear Non-Proliferation Treaty (NPT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญสามอย่าง คือ การไม่ส่งต่อความรู้เรื่องนิวเคลียร์ให้รัฐอื่น การสนับสนุนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง และการสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ สนธิสัญญาที่ว่านี้มีรัฐผู้ลงนามมากถึง 189 ประเทศ

ความพยายามที่จะส่งเสริมให้ทุกชาติหันมาปลดอาวุธนิวเคลียร์อาจไม่สามารถเห็นผลได้ในวันนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสนธิสัญญาที่ว่าไม่มีความสำคัญ คาซัคสถานประเทศที่เคยมีอาวุธนิวเคลียร์มาก่อนแต่ก็ได้ปลดอาวุธตัวเองมาแล้วตั้งแต่ปี 1995 และยังเข้ามาเป็นภาคีสัตยาบันอนุสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เป็นชาติที่ 26 ในขณะที่อิหร่านซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคยมีข้อพิพาทพัวพันเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ก็ลงมติเห็นชอบสนธิสัญญาตัวนี้ในที่ประชุมของสหประชาชาติซึ่งเคยจัดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อปี 2017

อาจกล่าวได้ว่า สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เป็นก้าวเล็ก ๆ ในความพยายามที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติในรุ่นต่อไปที่จะได้ใช้ชีวิตในโลกที่ไร้ซึ่งภัยจากอาวุธนิวเคลียร์

หลังสนธิสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ การใช้ระเบิดนิวเคลียร์ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ จะเกิดอะไรหากรัฐยืนยันจะใช้ระเบิดนิวเคลียร์?

ในปี 1996 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้ให้ความเห็นในเรื่องความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ไว้ว่า การใช้หรือขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อการรุกรานเป็นการขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรับใช้ในการขัดกันทางอาวุธ และหลักการของกฎหมายมนุษยธรรม แต่หากการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นการตอบโต้ซึ่งไปตามหลักการกฎหมายมนุษยธรรมและไม่ขัดกับข้อผูกมัดทางสนธิสัญญาระหว่างประเทศของรัฐนั้น ก็อาจไม่ถือว่าขัดกับหลักกฎหมาย<

น่าสนใจว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี 1996 กล่าวถึงประเด็นความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องตัวเองหรือเพื่อความอยู่รอดของชาติว่า “ไม่สามารถชี้ชัดได้ถึงความชอบธรรมหรือความผิด”

อย่างไรก็ตาม ในแนวคิดทางกฎหมายในปัจจุบัน การขู่ว่าจะใช้หรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการรุกราน โดยทางหลักการแล้วมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นความผิดภายใต้กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ อย่างน้อยที่สุดก็ภายใต้เขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานความผิดของการรุกราน และเป็นการขัดกับหลักของสหประชาชาติในเรื่องการรักษาธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของประชาคมโลก

เป็นที่ถกเถียงกันว่า แนวคิดของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี 1996 อาจไม่สะท้อนแนวคิดต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและความตื่นตัวจากหลายภาคส่วนมีการยอมรับถึงผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น กระทั่งมีการยอมรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons (TPNW) ในปี 2020 (แม้จะมีหลายรัฐที่ไม่ยอมรับสนธิสัญญานี้ก็ตาม

สำหรับประเทศที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญานี้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย การพัฒนา ทดลอง ผลิต จัดเก็บในคลัง ติดตั้ง ถ่ายโอน ใช้ หรือขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายทันทีตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2021 เป็นต้นไป

สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ จะมีผลให้ชาติต่าง ๆ ต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่

สำหรับชาติที่ให้สัตยาบัน เมื่อสนธิสัญญาถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทุกประเทศจะต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือมีข้อผูกมัดที่ต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ตามกรอบเวลาที่กำหนด

ในระยะแรก ประเทศที่เข้าร่วมสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะมีเวลา 30 วันเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการว่า พวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่ ถ้ามี ประเทศเหล่านี้จะต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ตาม “ข้อผูกมัดตามกฎหมายภายในนระยะเวลาที่กำหนด” พวกเขาจะต้องยกเลิกโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคีลยร์และดำเนินวิธีการเหล่านี้อย่างโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ โดยไม่หวนกลับมาได้อีก

ถ้าไม่มีนิวเคลียร์แล้วจะป้องกันตัวเองอย่างไร สมมุติปลดอาวุธหมดแล้ว เกิดมีชาติไหนแอบซุ่มนิวเคลียร์ไว้แล้วโจมตีขึ้นมาจะทำอย่างไรกัน?

วัตถุประสงค์หลักของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons – TPNW) คือการห้ามรัฐใช้ มีไว้ในครอบครอง ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในระยะเวลาและกระบวนการที่กำหนดและตรวจสอบได้เพื่อไม่ให้สามารถผลิตหรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้อีก

โดยกระบวนการปลดอาวุธดังกล่าว อาจรวมไปถึงการให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้สังเกตการณ์จากหลาย ๆ รัฐหรือจากองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเช่น สหประชาชาติ และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) เข้าตรวจสอบคลังแสงหรือสถานที่ผลิตอาวุธหรือเสริมสมรรถนะยูเรเนียม และร่วมปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยการรื้อถอน/ทำลายเครื่องมือหรือคลังแสง ซึ่งหลักปฏิบัติเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับหลักปฎิบัติภายใต้สนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการห้ามการทดลองและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าหากทุกรัฐยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามหลักที่กำหนดดังกล่าว มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีการเก็บซ่อนอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ในการแอบโจมตี

นอกจากนี้ หากมีการกระทำเช่นว่าจริง รัฐที่กระทำการนั้นจะเป็นผู้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเนื่องจากเป็นการกระทำต้องห้ามภายใต้สนธิสัญญาและหลักการของกฏบัตรสหประชาชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดการประณามจากประชาคมโลก จนอาจมีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตหรือการค้า หรืออาจจะเกิดการตอบโต้ทางทหาร และมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าจะต้องมีการตอบโต้จากสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงรัฐและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ

การป้องกันตนเองของรัฐ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์เสมอไป ทั้งนี้ รัฐจะต้องคำนึงเสมอถึงผลกระทบจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทั้งในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (การเมือง, เศรษฐกิจ, การทูต ฯลฯ) และในทางมนุษยธรรมภายใต้กฎหมาย เพราะอาวุธนิวเคลียร์เป็นอาวุธที่ไม่แยกแยะระหว่างพลรบและพลเรือน และสร้างความทรมานอย่างไม่จำเป็น อีกทั้ง การสู้รบในปัจจุบัน เน้นที่ความรวดเร็ว ความแม่นยำและสร้างผลกระทบข้างเคียงต่อพลเรือนให้น้อยที่สุด การสู้รบหรือป้องกันตนเองของรัฐในปัจจุบันจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด

ถ้าประเทศใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพลและมีอาวุธนิวเคลียร์ไม่รวมมือ จะมีประโยชน์อะไร?

ถึงแม้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะยังไม่ยอมรับในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาในวันนี้ แต่กระแสสังคมและความเปลี่ยนแปลงของโลกก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การรองรับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเองก็เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามมาด้วยการรับรองสิทธิของพลเรือน สิทธิทางการเมืองและสิทธิทางวัฒนธรรม การป้องกันการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนาน สีผิวและการเมือง การห้ามการเลือกกระทำบนพื้นฐานทางเพศ การปลดอาณานิคม และการยอมรับในอธิปไตยของรัฐว่ามีความเท่าเทียมและกติกาและกฏหมายที่เป็นสากล ซึ่งเหล่านี้เองก็เคยถูกมองว่าเกิดฝัน หากเราย้อนกลับไปพูดถึงกันเมื่อ 100 ปีก่อน

โดยปกติแล้ว ความสัมพันธ์ในทางระหว่างประเทศในปัจจุบัน เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องพึงพาอาศัยกัน แรงกดดันจากภาคพลเรือนส่งพลต่อนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ การสร้างแรงกดดันนี้เป็นการโน้มน้าวให้ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมทราบถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากแนวคิดในการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์มีแพร่หลายและมากพอ ก็มีความเป็นไปได้ที่สักวันหนึ่ง ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะพร้อมใจยินดีปลดอาวุธนิวเคลียร์ เพราะเชือว่าเป็นอาวุธที่ไม่ทันสมัยและไม่คุ้มค่า (ทั้งในการผลิต เก็บรักษา ใช้และในเชิงผลกระทบที่จะตามมา) และหันไปใช้แนวทางอื่นในการยุติความขัดแย้ง

ไม่มีนิวเคลียร์แล้วจะยิ่งทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ง่ายขึ้นหรือเปล่า? ต่างคนต่างไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ขู่กันแล้ว

ถึงแม้ว่าจะยังมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดบริบทของการทำลายล้างร่วมกัน (Mutually Assured Destruction – MAD) จากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือสงครามที่อาจจะมีการใช้นิวเคลียร์ แต่ความเป็นไปได้ดังกล่าวนั้น น้อยถึงน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันส่งผลให้รัฐต่าง ๆ ต้องพึงพาอาศัยกัน การเกิดสงครามที่ลักษณะระหว่างประเทศ (International Armed Conflict – IAC) มีแนวโน้มลดลง แต่มีลักษณะเป็นการปะทะ การขัดกันทางอาวุธทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ (Non-International Armed Conflict – NIAC) เกิดเพิ่มขึ้นแทน อย่างไรก็ดีมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการขัดกันทางอาวุธในระดับนี้

นอกจากนี้แล้ว การขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในยุคสมัยนี้ คงจะไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการประณามและมาตรการตอบโต้อื่น และถ้าหากรัฐที่ว่าเป็นภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการผิดสนธิสัญญานี้ด้วย การเผชิญหน้าระหว่างรัฐในปัจจุบัน มักจะถูกยุติโดยมาตรการทางการทูต (กฏหมายและการเมือง) หรือทางการค้า (การขึ้นภาษีอากร การงดนำเข้า/ส่งออก)

ถึงจะไม่มีนิวเคลียร์แต่ก็ยังมี อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี และกองทัพอยู่ดี

อาวุธเคมีถูกห้ามใช้เช่นกัน โดยมีระบุไว้ใน อนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention – CWC) ส่วนอาวุธชีวภาพก็ถูกห้ามใช้ โดยมีระบุไว้ใน อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention – BWC)

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามการใช้อาวุธอื่น ๆ อีกหลายประเภท เช่น ระเบิดลูกปราย (Cluster Munitions – Convention on Cluster Munitions – CCM) กับระเบิดต่อต้านบุคคล (Anti-Personnel Mines – Anti-Personnel Mine Ban Convention) และอาวุธทั่วไปบางประเภท (Conventional Weapons – Convention on Certain Conventional Weapons – CCW) เช่น อาวุธเชื้อเพลิง (Incendiary Weapons – CCW Protocol III) และอาวุธแสงเลเซอร์ที่ทำให้ตาบอด (Blinding Laser Weapons – CCW Protocol IV)

การสู้รบในปัจจุบัน เน้นที่ความรวดเร็ว ความแม่นยำและมุ่งสร้างความเสียหายต่อวัตถุทางทหาร โดยในขณะเดียวกันพยายามสร้างผลกระทบข้างเคียงต่อพลเรือนและความเสียหาย บาดเจ็บ ทรมาน หรือเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด

ทำไมไม่ออกกฎ ห้ามผลิตนิวเคลียร์และบังคับให้ทุกประเทศทำลายไปเลย?

การห้ามรัฐผลิตและใช้อาวุธนิวเคลียร์ และการเรียกร้องให้ทำลายอาวุธนิวเคลียร์คือวัตถุประสงค์หลักของสนธิสัญญานี้ แต่ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐต่าง ๆ มีสิทธิและอธิปไตยเท่าเทียมกัน ในทางทฤษฎีแล้วรัฐหนึ่งไม่สามารถบังคับให้รัฐกระทำการหรือไม่กระทำการใด ๆ ได้ การออกมาตรการบังคับให้รัฐกระทำการนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกฏหมายและข้อผูกมัดทางสนธิสัญญาระบุไว้ และเมื่อรัฐนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ รัฐนั้นก็ไม่มีพันธะที่ต้องผูกพันตามสนธิสัญญานั้น

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องเคารพอธิปไตยของรัฐอื่น ๆ และปฏิบัติตามหลักปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นไปตามพันธะกรณีที่ตนมีภายใต้กฎหมายและสนธิสัญญาที่รัฐนั้นเป็นภาคี เช่น รัฐ A เป็นสมาชิกสหประชาชาติและภาคีสนธิสัญญาเจนีวา แต่ไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ดังนี้ ถึงแม้รัฐ A จะไม่ได้มีพันธะในการปลด/ห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญา แต่รัฐ A ก็ต้องคำนึงถึงพันธะที่เกิดจากการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (การธำรงและรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ) และผลกระทบของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในบริบทของสนธิสัญญาเจนีวา (หลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เช่น การโจมตีต้องแยกแยะระหว่างพลรบและพลเรือน หลักความได้สัดส่วน หลักความระมัดระวังและการป้องกันไม่ก่อให้เกิดความทรมานที่ไม่จำเป็น

อันที่จริงสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มีจุดมุ่งหมายในการปลดนิวเคลียร์ทั้งโลก แต่ด้วยหลักการทางการทูต กฎหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้การบังคับใช้นั้น เป็นไปตามเจตจำนงค์ของรัฐ จึงไม่สามารถบังคับรัฐโดยตรงได้ แต่สามารถส่งเสริมและโน้มน้าวในทางอ้อมได้ เช่น การเผยแพร่ข้อมูล การสร้างความตระหนัก และการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐปรับแนวคิดเกี่ยวกับการใช้และมีไว้ครอบครองซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ จนในที่สุด ซักวันหนึ่งในอนาคต รัฐทุกรัฐอาจจะมีความเห็นพ้องต้องกันในการร่วมมือเพื่อปลดและทำลายอาวุธนิวเคลียร์อย่างสันติ

กลับกันถ้า ทุกประเทศมีนิวเคลียร์เหมือนกันจะดีมั้ย ไม่ต้องมีใครกลัวใคร

ยิ่งมีหลายรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์มากเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก็ย่อมสูงขึ้น เมื่อคู่อริต่างเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการใช้ยิ่งสูงขึ้นเมื่อการเผชิญหน้ายิ่งยึดเยื้อออกไป และเมื่อมีการใช้แล้ว ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแน่นอนถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เช่น สารกัมมันตภาพรังสีที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ พื้นดิน และแหล่งน้ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ของรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่ผลกระทบเหล่านี้สามารถแพร่กระจายข้ามน่านฟ้า น่านน้ำ พรมแดน ซึ่งยิ่งสร้างความตึงเครียดในการเผชิญหน้ามากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการปะทะด้วยอาวุธนิวเคลียร์ที่มากขึ้น จนไม่สามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ จนขยายเป็นวงกว้างและเกิดความเสียในหลายภูมิภาคทั่วโลก (ถ้าไม่ทั่วโลกไปแล้ว)

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา เช่น การอพยพพลเรือน/การลี้ภัย การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ สภาพอากาศ หรือแม้กระทั่งการปลูกพืชหรือทำปศุสัตว์เพื่อหาอาหารหรือน้ำสะอาดประทังชีวิต ซึ่งหากมีสงครามนิวเคลียร์จริง กิจกรรมเหล่านี้จะไม่สามารถทำได้เลย ดังนั้น หากทุกรัฐมีและยินดีพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ และได้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น มีความเป็นไปได้สูงว่าการต่อสู้ดังกล่าวอาจเป็นจุดจบของมนุษยชาติ

หากคุณสงสัยเกี่ยวกับความคุ้มครองอื่นๆ ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อ่านบทความเพิ่มเติม กฎหมายสงครามทำงานอย่างไร รวมทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ